Chonburi Sponsored

ถอดบทเรียน เต่าทะเลตาย 11 ตัว พบทุกตัวมีขยะในทางเดินอาหาร

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

กรมทะเลชายฝั่ง ถอดบทเรียนจาก “ลูกเต่าทะเล” 11 ตัว ติดแพขยะขนาดใหญ่ กว่า 700 เมตร ถูกซัดขึ้นมาบนชายหาดบ้านอำเภอ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี นำไปรักษาแต่ก็ไม่รอด ทีมสัตวแพทย์ชันสูตร พบ ทุกตัวมีขยะอยู่ในทางเดินอาหาร

วันนี้ (15 ม.ค.2566) จากเหตุการณ์พบลูกเต่าทะเลติดแพขยะขนาดใหญ่ กว่า 700 เมตร ถูกซัดขึ้นมาบนชายหาดบ้านอำเภอ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้นำลูกเต่า 11 ตัว ไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก จ.ระยอง สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ลูกเต่ามีอายุไม่ถึง 1 เดือน มีอาการอ่อนแรง ส่วนใหญ่ซึม ไม่ยอมกินอาหาร จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หลังจากสัตวแพทย์ของ ทช. พยายามดูแลรักษา ประคับประคองอาการมาได้ 1 เดือน ลูกเต่าเริ่มทยอยตาย จนเข้าสู่เดือนที่ 3 ลูกเต่าตัวสุดท้ายได้ตายลง

หลังจากการชันสูตรของทีมสัตวแพทย์ของ ทช. พบว่าลูกเต่า ทุกตัวมีขยะอยู่ในทางเดินอาหาร แม้จะได้รับการรักษาก็ยังไม่สามารถขับถ่ายขยะจำนวนมากออกมาได้ ทำให้ทางเดินอาหารอุดตันไปด้วยขยะ และลูกเต่าไม่สามารถกินอาหารได้ ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและตายในที่สุด

แม้ว่าขยะที่อุดตันในลำไส้ลูกเต่า จะเป็นเพียงขยะชิ้นเล็ก ๆ สำหรับมนุษย์ แต่ก็ทำให้สัตว์ทะเลตัวเล็ก ๆ เหล่านั้น เจ็บปวดและทรมาน จนถึงแก่ความตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเต่าทะเล ที่มีอัตราการรอดน้อยมากอยู่แล้ว ภัยคุกคามจากขยะทะเลยิ่งซ้ำเติมให้เต่าทะเลมีโอกาสสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

เช่นกรณีที่พบลูกเต่าทะเลติดมากับแพขยะ และพัดเข้าสู่ชายหาดจอมเทียน คาดว่าลูกเต่าชุดดังกล่าวถูกพัดพามาจากแหล่งวางไข่ บริเวณชายหาดของเกาะคราม หรือเกาะล้าน จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการรายงานเต่าทะเลขึ้นวางไข่เป็นประจำ

ทั้งนี้ เป็นพฤติกรรมของลูกเต่าทะเล ที่เมื่อฟักออกจากไข่แล้ว การดำรงชีวิตในทะเลช่วงแรกของชีวิตจะลอยตามกระแสน้ำและไม่สามารถดำน้ำได้จึงต้องหลบซ่อนตามสิ่งที่ลอยบนผิวน้ำทะเล จนลูกเต่าลอยไปติดกับแพขยะดังกล่าว ที่มีขยะส่วนใหญ่เป็นขยะจากเศษวัชพืช ขยะพลาสติก และขยะประเภทเศษอวนเครื่องมือทำการประมงที่ลอยมาตามลมมรสุมที่พัดเข้าชายฝั่งตามฤดูกาล โดยแพขยะดังกล่าวมีน้ำหนักมากถึง 3,000 กิโลกรัม

จากการพูดคุยกับสัตวแพทย์ ประจำศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ขยะพลาสติกเป็นภัยกับเต่าทะเลตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อเต่าทะเลโตขึ้นต้องแหวกว่ายผ่านแพขยะพลาสติกระหว่างทางที่มันอพยพไปหากินแหล่งอื่น และสิ่งที่น่าตกใจ คือ เต่าทะเลอาจกินขยะพลาสติกเหล่านั้นเข้าไป เพราะมันเข้าใจผิดคิดว่าขยะที่ล่องลอยอยู่ในทะเลเป็นอาหารของมัน

นอกจากขยะพลาสติกจะมีผลกระทบต่อสัตว์ทะเลแล้ว มนุษย์ก็อาจได้รับผลกระทบจากพลาสติกเช่นกันในรูปแบบของ “ไมโครพลาสติก” หรือพลาสติกที่เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ที่ทำมาจากพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน พลาสติกเหล่านี้เมื่อโดนน้ำ โดนแดด โดนฝน และอยู่ในธรรมชาติเป็นเวลานาน จะสามารถแตกตัวเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ได้

ทั้งนี้ เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะหยุดไม่ให้ขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล หรือหยุดสร้างไมโครพลาสติกได้ เริ่มได้ง่ายที่สุดคือลดการสร้างขยะพลาสติก เพราะอย่างนี้ สัตว์ทะเลยังคงเป็นเหยื่อของความสะเพร่าของมนุษย์อยู่เสมอ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้ได้

นั่นคือหยุดความสะเพร่าของตัวเราเอง หันมาใส่ใจในสิ่งแวดล้อม รวมถึงปลูกจิตสำนึกสร้างการรับรู้และเข้าใจในสังคม เพื่อสัตว์ทะเลของเราจะยังคงอยู่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขยะทะเลที่กำลังวิกฤตอยู่ในขณะนี้ สามารถบรรเทาลงได้ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพียงแค่ช่วยกันลดการสร้างขยะ แยกขยะเพื่อให้เกิดการรีไซเคิล หรือใช้ซ้ำให้มากที่สุด และช่วยกันเก็บขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมทางทะเล ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้