วันที่ 13 ม.ค.66 เวลา 14.00 น.พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.สส.สตม. ตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติ ที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุกับคนไทยหรือชาวต่างชาติ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด
สืบเนื่องจากกรณีกองการต่างประเทศได้รับการประสานงานจากกงสุลฝ่ายตำรวจ สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ขอให้ผลักดันผู้ต้องหาตามหมายจับสาธารณรัฐเกาหลี และเป็นบุคคลที่ต้องการตัวของทางการสาธารณรัฐเกาหลีตามประกาศตำรวจสากลสีแดง (INTERPOL Red Notice) จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. MR.KIM หรือ นาย คิม อายุ 54 ปี 2. MR.YANG หรือ นาย หยาง อายุ 60 ปี 3. MR.YE JUN หรือ นาย เย จุน อายุ 51 ปี ซึ่งได้ร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะหลอกลงทุน และปั่นหุ้น ต่อมาเมื่อประชาชนมาลงทุนแล้ว จึงได้ยักยอกเงินที่ได้หลบหนีมายังประเทศไทย มีผู้เสียหายหลายราย มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 6 หมื่นล้านวอน หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท
เกิดเหตุเมื่อประมาณต้นเดือน ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่ บก.สส.สตม. ได้จับกุม MR.YE JUN หรือ นาย เย จุน อายุ 51 ปี ในข้อหา “เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด (overstay) ” หนึ่งในสมาชิกแก๊ง นำตัวส่ง พนักงานสอบสวน สภ.บางละมุง จว.ชลบุรี โดยคดียังอยู่ในชั้นศาล ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 66 เวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่ บก.สส.สตม. จับกุม 1. MR.KIM หรือ นาย คิม อายุ 54 ปี 2. MR.YANG หรือ นาย หยาง อายุ 60 ปี นำตัวส่ง พนักงานสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดี ในข้อหา “เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด (overstay) ”
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้ร่วมกันสืบสวนติดตาม นาย คิม อายุ 54 ปี และ นาย หยาง อายุ 60 ปี ซึ่งเป็น 2 ผู้ต้องหา ที่ยังติดตามจับกุมไม่ได้ โดยได้ทำการตรวจสอบข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สตม. พบว่า นาย คิม เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 65 ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราประเภท ผผ.90 และสิ้นสุดการอนุญาตวันที่ 22 ต.ค. 65 และ นาย หยาง เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 65 ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราประเภท ผผ.90 และสิ้นสุดการอนุญาตวันที่ 31 ต.ค. 65 ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้สืบทราบว่า นาย คิม และ นายหยาง ได้หลบหนีไปอยู่ด้วยกันที่ คอนโดหรูย่านสุขุมวิท จึงได้ไปตรวจสอบพบว่าทั้ง 2 คน ได้ย้ายที่พักหลบหนีหลังจากที่ นาย เย จุน หนึ่งในสมาชิกถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้สืบสวนติดตามจนกระทั่ง ได้พบบุคคลสัญชาติเกาหลีตำหนิรูปพรรณคล้าย นาย คิม และ นายหยาง ที่บริเวณสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งย่านจังหวัดปทุมธานี จึงแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอทำการตรวจสอบหนังสือเดินทางพบว่า ไม่ปรากฎข้อมูลการขออยู่ต่อ จึงได้เชิญตัวเพื่อตรวจสอบข้อมูลในเทคโนโลยีสารสนเทศ ตม. ผลการตรวจสอบไม่พบข้อมูลการขออยู่ต่อ จึงแจ้งข้อหาและจับกุมดำเนินคดีดังกล่าว
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า กลุ่มผู้ต้องหามีพฤติการณ์เป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ประเทศเกาหลีใต้ มีการเข้าซื้อบริษัทใหญ่และเป็นเจ้าของถึง 5 บริษัท มีการเปิดขายหุ้นบริษัท สร้างความน่าเชื่อถือ นำเสนอข้อมูลบริษัทและผลประกอบการเท็จ เป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อ เข้ามาลงทุน อันเป็นลักษณะการปั่นหุ้น จากนั้นจึงได้หลบมาหนีมายังประเทศไทย
เมื่อเวลา 14.50 น. วันที่ 13 ม.ค.66 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.สส.สตม. กล่าวถึงกรณีนายแดริล ยัง( Mr.Daryl Cai Yonghui ) ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหาร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งเป็นผู้ต้องหารายสำคัญของดีเอสไอ ในคดีแชร์ Forex-3D ว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า วานนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีหนังสือด่วนที่สุด มาถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้ดำเนินการลงหมายจับของนายแดริล ยัง( Mr.Daryl Cai Yonghui ) เข้าระบบของทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
ซึ่งขณะนี้มีการลงในระบบของทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากพบว่ามีการเดินทางออกนอกประเทศก็จะดำเนินการจับกุม และจะส่งให้กับทางดีเอสไอซึ่งเป็นต้นทางของหมายจับ อย่างไรก็ตามทางพล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. เน้นย้ำแนวทางการติดตามจับกุมผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่มีหมายจับติดตัว ซึ่งในกรณีนี้หากพบก็จะจับกุมได้ทันที
.