Chonburi Sponsored

เสร็จแล้ว! ขยาย 4 เลน ทล.3246 สาย “พนัสนิคม-เกาะโพธิ์” ขนส่งเชื่อมอีอีซีสะดวก

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored


กรมทางหลวงขยาย 4 เลน “ทล.3246” สาย อ.พนัสนิคม-บ.เกาะโพธิ์ จ.ชลบุรี กว่า 12 กม.เสร็จแล้ว สนับสนุนการขนส่ง เชื่อมพื้นที่อีอีซี และรองรับการจราจรเพิ่ม

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักก่อสร้างทางที่ 2 กรมทางหลวง ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 3246 สาย อ.พนัสนิคม-บ.เกาะโพธิ์ จ.ชลบุรี ระยะทาง 12.13 กิโลเมตร งบประมาณ 565,720,000 บาท แล้วเสร็จ เพิ่มประสิทธิภาพขนส่งและพัฒนาโครงข่ายทางหลวงให้มีความเชื่อมโยงและสามารถรองรับการจราจรที่มีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)


สำหรับทางหลวงหมายเลข 3246 สาย อ.พนัสนิคม-บ.เกาะโพธิ์ เดิมเป็นทาง 2 ช่องจราจร ระหว่าง กม.0+000 – 12+135 ระยะทางยาวประมาณ 12.13 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่มีความสำคัญที่เชื่อมไปสู่ อ.พนัสนิคม เมืองที่มีค่าดัชนีความน่าอยู่สูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย เช่น หอพนัสบดี ศูนย์จักสานที่ใหญ่ที่สุดในโลก, ตลาดน้ำสามวัง, อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร เป็นต้น


การก่อสร้างขยายเส้นทางดังกล่าวเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร ผิวจราจรแบบคอนกรีต เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต กว้างช่องจราจรละ 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้าง 2.5 เมตร มีเกาะกลางแบบยก กว้าง 3 เมตร ในช่วงชุมชนจะมีการก่อสร้างทางเท้าในบริเวณสองข้างทาง มีการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างตลอดเส้นทาง รวมถึงปรับปรุงทางแยก กม.2+000 (แยกโรงน้ำแข็ง) และแยก กม.4+300 (แยกวัดโป่งปากดง) โดยเป็นทางแยกแบบมีสัญญาณไฟจราจรทั้ง 2 แห่ง

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการจราจรและขนส่ง ตลอดจนเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง เพื่อให้การเดินทางบนทางหลวงเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วและมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น เป็นการยกระดับการให้บริการของทางหลวง

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม