ศูนย์ข่าวศรีราชา – ชาวบ้านโวยผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ไม่ทำตามรายงาน EHIA ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทะเล ด้านผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบังไม่นิ่งนอนใจเร่งติดตามการดำเนินงาน พร้อมไล่บี้ผู้รับเหมาเร่งรัดแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้ชุมชน
วันที่ (12 ม.ค.) นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานคณะกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 เป็นประการประชุมติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการถมทะเล การขุดลอกและทิ้งตะกอนดินในการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานราชการในพื้นที่ ภาคประชาชน กลุ่มประมง นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า สำนักงานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี(ทสจ) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ) ผู้จัดการโครงการกลุ่มที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้างส่วนที่1 บริษัทผู้ตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมระหว่างการก่อสร้าง ณ ห้องแตรทอง1 ศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ได้มีการพูดคุยถึงปัญหาในหลายประเด็น
หลัก ๆ คือปัญหาผลกระทบ เนื่องจากที่ผ่านมาทางคณะอนุกรรมการฯได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านโดยโครงการ เนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างได้ทำการถมทรายและหินลงในทะเลในพื้นที่ติดกับชายทะเล โดยยังไม่มีการสร้างคันล้อมพื้นที่ E0 ก่อน ซึ่งในรายงาน EHIA ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่าด้วยได้กำหนดให้ ”พื้นที่ถมทะเลบริเวณท่าเรือ E0,F1,F2 และพื้นที่ที่พัฒนาในอนาคตต้องดำเนินการถมทะเลในพื้นที่ปิดล้อมแล้วเท่านั้น “ ซึ่งผู้รับเหมายังทำคันล้อมด้วยหินไม่ครบ แต่ได้มีการถมทรายจากการขุดลอกลงไปจำนวนมาก
ทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งได้มีการสอบถามความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมเจ้าท่า ทสจ.ชลบุรี สผ.และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชน ทุกฝ่ายเห็นว่า ผู้ก่อสร้างทำผิดเงื่อนไขในรายงาน EHIA และหากจะขอเปลี่ยนแปลงมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว นอกจากที่กำหนดไว้ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากกรมเจ้าท่า และ สผ.ก่อน ไม่ใช่ดำเนินการไปแล้วมาขออนุญาตทีหลัง จึงมีมติ “ให้หยุดการถมทะเลในพื้นที่ E0 ก่อนจนกว่าจะได้รับอนุญาตการขอเปลี่ยนแปลงมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงาน EHIA จากกรมเจ้าท่าหรือ จาก สผ.ก่อน
สำหรับการตรวจวัดปริมาณตะกอนแขวนลอยบริเวณบ่อตกตะกอนชั่วคราว เนื่องจากมีการนำดินตะกอนที่สะสมไว้มาทิ้งในบ่อตกตะกอนในทะเลชั่วคราวซึ่งข้อกำหนดในรายงานEHIAจะต้องทำคันล้อมรอบบ่อตกตะกอนในทะเลชั่วคราวก่อน แต่ผู้ก่อสร้างอ้างว่าจะทำให้งานล่าช้าจึงขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าขอนำตะกอนมาทิ้งโดยติดม่านกันตะกอน 2 ชั้น ล้อมรอบ และจะเริ่มก่อสร้างคันล้อมด้วยหินไปด้วย ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าโดยมีเงื่อนไขต้องทำการตรวจวัดปริมาณสารแขวนลอยอย่างน้อย 2 จุดโดยรอบม่านกันตะกอนทก ๆ 4 ชั่วโมง หากมีค่าเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดคือ 89 มก.ต่อลิตร จะต้องหยุดทิ้งตะกอนทันที ที่ผ่านมาผู้ก่อสร้างทำการตรวจวัดเองมาโดยตลอดและไม่เคยมีค่าเกินค่าที่กำหนดเลย แต่มีกลุ่มประมงแจ้งว่ามีปัญหาสารแขวนลอยทำให้น้ำขุ่น มาตลอด
นอกจากนี้ตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องให้คนกลางหรือ Third party ที่มีห้องทดลองที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการเท่านั้น มาทำการตรวจวัดและวิเคราะห์ คณะกรรมการได้แจ้งเรื่องนี้ให้ดำเนินการมามากกว่า 2 เดือนแล้ว แต่ผู้ก่อสร้างก็เพิกเฉย ดังนั้นคณะกรรมการฯจึงมีมติ “ให้หยุดการดำเนินการทิ้งตะกอนในบ่อตกตะกอนชั่วคราวในทะเลไว้ก่อน จนกว่าจะจัดให้มีคนกลางหรือThird partyที่มีห้องทดลองขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานราชการมาทำการตรวจวัดตามมาตรการดังกล่าว”
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯจะแจ้งผลการประชุมไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อขอให้ระงับการถมทะเลตรงพื้นที่ติดชายฝั่งหรือ E0และระงับการทิ้งตะกอนในบ่อตกตะกอนในทะเลชั่วคราวจนกว่าจะได้ดำเนินการให้ถูกกฎ หมายต่อไป ส่วนการก่อสร้างอื่นๆสามารถดำเนินการได้ตามปกติ
ด้านนายวีรชาติ พุทธรักษา ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการ ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ตนเอง ในฐานะตัวแทนท่าเรือแหลมฉบัง สำหรับกรณีดังกล่าวหลังจากที่ได้ฟังการชี้แจงของฝ่ายต่างๆ ว่าผู้รับเหมาไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการของสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เพราะท่าเรือแหลมฉบังอยู่ร่วมกับชุมชน ดังนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ไปกว่าการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือระยะที่ 3 ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องเดินไปด้วยกันให้ได้
ขณะนี้ทางบริษัทฯยังไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมในบางประเด็น ซึ่งชุมชนและชาวบ้านต่างก็มีความกังวลใจ ดังนั้นทางท่าเรือแหลมฉบัง ได้เร่งรัดให้ทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้ จะต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลโดยเร็วที่สุด เพื่อคลายความกังวลให้กับชุมชนและชาวบ้าน อีกทั้งเพื่อให้ใหโครงการก้อสร่งล่าช้าไปกว่ากำหนดซึ่งจะส่งผลเสียตามมาอีกมากมายในแง่ของการพัฒนาประเทศ ซึ่งทางท่าเรือฯไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้กำชับให้ทางผู้ก่อสร้างดำเนินการตาม รายงาน EHIA อย่างเคร่งครัด ซึ่งท่าเรือแหลมฉบัง ก็หวังให้โครงการดำเนินการก่อสร้างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้อง
ด้าน ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคตะวันออก กล่าวถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ว่าโครางการดังกล่าว โดยภาคประชาชน ภาครัฐโดยกรมเจ้าท่า และบริษัทที่ปรึกษา ได้ร่วมกันทำรายการผลกระทบ EHIA. ร่วมกัน และจบกระบวนการอย่างชัดเจนเป็นที่เรียบร้อย แต่เมื่อถึงในช่วงการก่อสร้างนั้น มีความล่าช้า โดยมีหลายส่วนที่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและบริษัทที่ปรึกษาที่ดูแลโครงการ มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในมาตรการหลายส่วน โดยเฉพาะกรมเจ้าท่าได้รับทราบในการเปลี่ยนแปลงและได้อนุญาต พร้อมแจ้งข้อมูลให้ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทางท่าเรือแหลมฉบังได้รับหนังสือตอบกลับจากกรมเจ้าท่าเป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน และอย่างไรก็ตามทาง สผ.จะต้องไปติดตามเรื่องและแจ้งให้กับภาคประชาชนได้รับทราบ
สำหรับการดำเนินการในขณะนี้ เริ่มมีปัญหาและผลกระทบ โดยกรมเจ้าท่ามีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ความขุ่นของน้ำนอกจากนั้น พื้นที่บริเวณ E0 โดยจะต้องทำเขื่อนคันล้อมให้เสร็จสมบูรณ์เสียก่อน ก่อนจะนำเลนมาทิ้ง ซึ่งไม่มีการดำเนินการ ที่สำคัญไม่แจ้งให้ สผ.ทราบ ทั้ง ๆ ที่ สผ.เป็นผู้ดูแลมาตรการดังกล่าว โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในรายงาน EHIA .หรือที่กรมเจ้าท่าและคณะกรรมการที่มีภาคประชาชนอยู่ด้วย เพื่อร่วมกันวางแนวทางที่ชัดเจน ดังนั้นจึงเป็นปัญหาสำคัญในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว
“โครงการดังกล่าวจะต้องเร่งดำเนินการ แต่ไม่ทำตามาตรการที่วางไว้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โครงการจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับบริษัทฯ และไม่เกี่ยวกับภาคประชาชน แต่หากเร่งรัดเกินไป ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่”
ดร.สมนึก กล่าวอีกว่า ทางบริษัทฯ ไม่มีการเรียนรู้จากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส1 และเฟส 2 ซึ่งมีปัญหาอะไรบ้าง และมาตรการต่าง ๆที่วางไว้มีการปฏิบัติตามมาตรการนั้นหรือไม่ หากขณะนี้ไม่ได้ดำเนินการให้ตรงตามาตรการก็ไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ตรงหรือถูกต้อง ปัจจุบัน ปัญหา ต่าง ๆ เริ่มบานปลาย ตนขอให้โครงการดังกล่าว หยุดไปก่อน เพื่อให้ข้อตกลงหรือแนวทางต่างๆที่วางไว้แก้ไขให้ถูกต้องเพราะไม่เช่นนั้น คณะกรรมการฯ หรือนักวิชาการ ที่มีความรู้ความสามารถจะเป็นหนังหน้าไฟ รองรับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งๆที่มันไม่ถูกต้อง