Chonburi Sponsored

พระราชทานเพลิงศพ “หมอแชมป์” แม่สุดเศร้ากอดธงชาติคลุมศพลูกไว้แน่น – ข่าวสด

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

พระราชทานเพลิงศพ “หมอแชมป์” อย่างสมเกียรติ ท่ามกลางความอาลัยของครอบครัว และ ผู้เข้าร่วมงานล้นวัด แม่สุดเศร้ากอดธงชาติคลุมศพลูกแน่น

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 4 ม.ค.2566 ที่วัดศรีวโนภาสสถิตย์พร ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง พล.ร.ท.สุทิน หลายเจริญ ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เป็นประธาน พิธีพระราชทานเพลิงศพ พ.จ.อ.คุณากร จริยศ หรือ หมอแชมป์ กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งสละชีวิตนำเสื้อชูชีพไปช่วยเพื่อนทหาร หลังเรืออับปางกลางทะเล

โดยมี ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รอง ผวจ.ระยอง นายทหารชั้นผู้ใหญ่จากกองทัพเรือ พร้อม หน่วยงูดิน อันเป็นสมญานามและสัญลักษณ์ของ หน่วยพยาบาลทหารเรือชาย ซึ่งเป็นต้นสังกัดของหมอแชมป์ ข้าราชการทหารเรือหน่วยต่างๆ กำนันผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และประชาชน เข้าร่วมพิธีกว่า 2 พัน

โดยต่างส่งกำลังใจให้ น.ต.อาวุธ จริยศ อายุ 71 ปี และ นางเอื้อมพร จริยศ อายุ 69 ปี บิดาและมารดา ของ หมอแชมป์ ซึ่งกองทัพเรือ จัดทหารกองเกียรติยศอย่างสมเกียรติ อ่านคำสดุดี ต่อความเสียสละของ หมอแชมป์ ที่ยอมสละแม้ชีวิต เพื่อช่วยเหลือเพื่อนทหาร นับเป็นความกล้าหาญที่ยากจะหาใดเทียบเทียม การกระทำดังกล่าว จะเป็นเกียรติประวัติของกองทัพเรือที่จะจารึกไปอีกนานแสนนาน

จากนั้นพล.ร.ท.สุทิน มอบธงไตรรงค์ เพื่อเกียรติสูงสุดเเก่ครอบครัว พร้อมมอบเงินช่วยเหลือจากกองทัพเรือ ก่อนเริ่มพิธีพระราชทานเพลิงศพ ซึ่งมารดาหมอแชมป์ นั่งกอดธงชาติที่คลุมศพลูกชายไว้แน่น

พร้อมกล่าวด้วยน้ำตาคลอเบ้า ว่า ภูมิใจลูกชายมาก กับความเสียสละ แต่ก็ทำใจไม่ได้ ยังคงคิดถึงหมอแชมป์ ที่ต้องจากพ่อแม่ไปก่อนวัยอันควร อยากบอกลูกว่า ไปอยู่ในภพภูมิที่ดี ไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ อีกไม่นานเราก็คงได้เจอกัน

ส่วนพล.ร.ท.สุทิน ระบุ เสียใจที่กองทัพเรือต้องสูญเสียบุคลากรอันทรงคุณค่าไป แต่ก็รู้สึกภูมิใจต่อความเสียสละของ หมอแชมป์ นับเป็นเกียรติประวัติของกองทัพเรือ ส่วนความช่วยเหลือ กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน เพื่อช่วยเหลือตามเกณฑ์ที่กำหนด

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้