Chonburi Sponsored

เซฟไว้เลย แนะเส้นทางเลี่ยงรถติด จากกรุงเทพฯ ไปภาคเหนือ-อีสาน-ตะวันออก-ใต้

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

กรมทางหลวง แนะนำทางเลี่ยง จากกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาคต่างๆ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง พร้อมรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”

วันที่ 29 ธ.ค.65 ในช่วงส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ จะเดินทางกลับภูมิลำเนา นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2565-2 มกราคม 2566 เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางและหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาล กรมทางหลวงได้แนะนำเส้นทางเลือกบนทางหลวงสายหลักและสายรอง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี ดังนี้

เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯไปรังสิต (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)-จ.พระนครศรีอยุธยา-จ.อ่างทอง-จ.สิงห์บุรี (ทางหลวงหมายเลข 32 ถนนสายเอเชีย)-อ.มโนรมย์ (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครสวรรค์

เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯไป จ.นนทบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี)-จ.สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340 สุพรรณบุรี-ชัยนาท)-จ.ชัยนาท (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน) จากนั้นมุ่งหน้า สู่จังหวัดนครสวรรค์

เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯไป รังสิต-อ.วังน้อย-จ.สระบุรี-จ.ลพบุรี (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)-อ.ตากฟ้า (ทางหลวงหมายเลข 11) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลก

เส้นทางที่ 4 จากกรุงเทพฯไปรังสิต-ต่างระดับคลองหลวง (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)-เชียงรากน้อย (ทางหลวงหมายเลข 3214)-ทางหลวงหมายเลข 347-ทางหลวงหมายเลข32 จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่ภาคเหนือ

เส้นทางที่ 5 จากกรุงเทพฯไปวงแหวนตะวันออก (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9)-ต่างระดับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.)-อ.วังน้อย (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)-ถนนโรจนะ (ทางหลวงหมายเลข 309) จากนั้นมุ่งหน้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 จากนั้นมุ่งหน้าเข้าสู่ภาคเหนือ

กรุงเทพฯ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯไป จ.สระบุรี (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)-ต.ม่วงค่อม จ.ลพบุรี (ทางหลวงหมายเลข 21)-ต.ห้วยบง (ทางหลวงหมายเลข 2256)-อ.ด่านขุนทด (ทางหลวงหมายเลข 2148)-ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา

เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯไป อ.วังน้อย (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)-จ.สระบุรี-อ.ปากช่อง-อ.สีคิ้ว (ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา

เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯไป จ.นครนายก (ทางหลวงหมายเลข 305)-อ.บ้านนา (ทางหลวงหมายเลข 3051)-อ.แก่งคอย (ทางหลวงหมายเลข 3222)-อ.ปากช่อง (ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา หรือ จากอ.บ้านนาไร่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 33-อ.กบินทร์บุรี มุ่งหน้าสู่ อ.อรัญประเทศ

เส้นทางที่ 4 จากกรุงเทพฯไป จ.ฉะเชิงเทรา (ทางหลวงหมายเลข 314 หรือ ทางหลวงหมายเลข 304)-อ.พนมสารคาม-อ.กบินทร์บุรี-อ.วังน้ำเขียว-อ.ปักธงชัย (ทางหลวงหมายเลข 304) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา

เส้นทางที่ 5 จากกรุงเทพฯไป อ.วังน้อย (ทางหลวงหมายเลข 1 ถนนพหลโยธิน)-จ.สระบุรี-อ.ปากช่อง-อ.สีคิ้ว (ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ)-ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 (ทางเบี่ยงที่ กม.65+900) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครราชสีมา

กรุงเทพฯ-ภาคตะวันออก

เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯไป จ.ชลบุรี (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สาย กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด)

เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯไป อ.บางปะกง (ทางหลวงหมายเลข 34 ถนนเทพรัตน) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดชลบุรี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท

เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯไป อ.พนัสนิคม-จ.ชลบุรี (ทางหลวงหมายเลข 304)

เส้นทางที่ 4 จากกรุงเทพฯไปทางหลวงหมายเลข 34 ถนนเทพรัตน-ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี)จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดชลบุรี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 3 ถนนสุขุมวิท

กรุงเทพฯ-ภาคใต้

เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพฯไป จ.สมุทรสาคร-จ.สมุทรสงคราม (ทางหลวงหมายเลข 35 ถนนพระราม 2)-แยกวังมะนาว-จ.เพชรบุรี (ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เส้นทางที่ 2 จากกรุงเทพฯไป อ.สามพราน-อ.นครชัยศรี-จ.นครปฐม-จ.ราชบุรี-แยกวังมะนาว-จ.เพชรบุรี (ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เส้นทางที่ 3 จากกรุงเทพฯไป ถนนบรมราชชนนี (ทางหลวงหมายเลข 338 ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี)-อ.นครชัยศรี-จ.นครปฐม-จ.ราชบุรี-แยกวังมะนาว-จ.เพชรบุรี (ทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม) จากนั้นมุ่งหน้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ กรมทางหลวงขอความร่วมมือผู้ใช้ทางขับไม่ดื่มดื่มไม่ขับ วิถีชีวิตใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมหรือแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายระหว่างเดินทาง สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง) สายด่วนมอเตอร์เวย์ 1586 กด 7 และตำรวจทางหลวง 1193.

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม