Chonburi Sponsored

สิบล้อขนอ้อย บรรทุกสูงเกินพิกัด-เกี่ยวสายไฟ ทำเสาไฟล้มระเนระนาด 11 ต้น

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

ชลบุรี เกิดอุบัติเหตุรถสิบล้อขนอ้อย บรรทุกสูงเกินพิกัดเกี่ยวสายไฟฟ้าแรงสูง ทำเอาเสาไฟล้มระเนระนาด 11 ต้น ตำรวจ สภ.เกาะจันทร์ เตรียมเชิญคนขับไปสอบสวนอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะมีทรัพย์สินทางราชการเสียหาย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ร.ต.อ.ธนัช ผาสุขยืด รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งว่ามีเหตุรถบรรทุก 10 ล้อบรรทุกอ้อยเกี่ยวสายไฟ ทำให้เสาไฟฟ้าล้มหลายต้นช่วงบริเวณโค้งเกาะกลาง ถนนสายบ้านสามแยกเกาะจันทร์ ตำบลท่าบุญมี อำเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี หลังรับแจ้งจึงรุดเข้าตรวจสอบพร้อมกับกู้ภัยสว่างเหตุบ้านทุ่งเหียง

เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ พบรถบรรทุก 10 ล้อ ยี่ห้อมิตซูบิชิ สีขาว หมายเลขทะเบียน 82-1288 ชลบุรี บริเวณกระบะบรรทุกมีอ้อยเต็มคันรถ จอดอยู่ทางขึ้นจากไร่อ้อย และบริเวณข้างถนนพบเสาไฟฟ้าล้มขวางถนน จำนวน 6 ต้น เสาไฟโซลาร์เซลล์ จำนวน 5 ต้น รวม 11 ต้น ล้มขวางถนน 1 เลน มูลค่าความเสียหายหลายแสนบาท หลังเข้าตรวจสอบจึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าให้รีบมาตัดไฟ เกรงว่าจะเกิดอันตรายได้

สอบถาม นายนวล บังกระชาติ อายุ 59 ปี คนขับรถบรรทุก 10 ล้อ ที่บรรทุกอ้อยคันที่เกิดเหตุ เล่าว่า ตนเองได้มาขนอ้อย และกำลังจะนำอ้อยไปส่งที่โรงน้ำตาลหนองบัว อำเภอพนัสนิคม ระหว่างขับขึ้นจากไร่อ้อยไปบนถนน ตนก็ขับขึ้นไปจนกระทั่งเห็นเสาไฟล้มลงมาแบบระเนระนาด จึงรีบเบรกแต่ไม่ทัน ซึ่งที่แรกตนคิดว่าจะพ้น เพราะมีไม้ไผ่ค้ำสายไฟไว้แล้ว ปกติตนก็ขับผ่านเป็นประจำ มีครั้งนี้ไม่ผ่าน ถึงได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนสาเหตุที่ทำให้เสาฟ้าล้มนั้น ตนคิดว่าส่วนหนึ่งก็อาจจะบรรทุกอ้อยมากและสูงเกินไป ระหว่างขึ้นเนินเพื่อจะขึ้นไปบนถนน เลยทำให้อ้อยไปเกี่ยวกับสายไฟจนล้มเป็นโดมิโน รวม 11 ต้น โชคดีที่ระหว่างนั้นไม่มีรถสัญจรไปมา จึงไม่ได้เกิดอุบัติเหตุหรือมีผู้ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

ส่วนทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้เก็บภาพในที่เกิดเหตุไว้เป็นหลักฐาน และจะได้เชิญคนขับรถบรรทุกอ้อยและผู้ที่เห็นเหตุการณ์ไปสอบสวนอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะมีทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย โดยจะได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ไฟฟ้ามาซ่อมแซมพร้อมติดตั้งเสาไฟและสายไฟเป็นการด่วน ส่วนเรื่องค่าเสียหายทางไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาคอำเภอพนัสนิคม จะเป็นผู้ประเมินมูลค่าและตกลงค่าเสียหายดังกล่าวต่อไป

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม