ปิดฉากไปอย่างสวยงามและได้ผู้ชนะเรียบร้อยแล้วสำหรับ การแข่งขัน IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3 การแข่งขันอันท้าทายเพื่อแสดงถึงทักษะด้าน IoT ของเด็กไทย โดยงานนี้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าจัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันพบกับโจทย์จริงจากโรงงาน กระตุ้นให้ผู้เข้าแข่งขันต้องงัดเอาองค์ความรู้แบบ Outcome-Based Learning และทักษะที่ผ่านการอบรมมาใช้แก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจว่า “ทำได้ ทำเป็น”ก่อนเข้าสู่การทำงานจริงในสถานประกอบการ โดยการแข่งขันนี้ นำร่องในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การปรับหลักสูตรเพื่อทำการสอนในวิทยาลัยต้นแบบอาชีวศึกษาในอนาคต
โดยการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 จัดขึ้นด้วยความร่วมมือกันของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค สวทช. ระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม 2565 โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายของผู้แข่งขันและรายละเอียดการจัดงานไว้ชัดเจน
ในช่วงการจัดงานทั้ง 3 วัน รวมระยะเวลา 36 ชั่วโมง จะมีการแข่งขันเพื่อพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา ตามโครงการ การพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้น โดยมีไฮไลต์สำคัญ คือ ในปีนี้จะมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมาออกบูธ เพื่อรับนักศึกษาเข้าฝึกงานไม่ต่ำกว่า 15 บริษัท
รับรู้เหตุผลสำคัญของการจัดการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3 ที่มีมากกว่าแค่การหาผู้ชนะ
ในวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดพิธีเปิดการแข่งขัน มีผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนมากล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาภาคการศึกษาและการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะในด้าน IoT และดิจิทัล ในพื้นที่ EEC หนึ่งในนั้น คือ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ที่มาปูพื้นความเข้าใจในหัวข้อ “การสนับสนุนนโยบายการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ EEC”
“ในปีนี้ทาง EEC HDC ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนความก้าวหน้าในด้าน IoT และ Data Analytics ซึ่งก็จะทำการขับเคลื่อนต่อไป เพราะทักษะและเทคโนโลยีในด้านนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและการขับเคลื่อนประเทศไทยและภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้าสู่ยุค Industry 4.0”
“ที่ผ่านมาเรามีแนวคิดร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า อยากให้ทาง NECTEC จับคู่กับทางฝั่งอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าในทักษะด้าน IoT และ Data Analytics ทั้งให้กับครูและนักศึกษา และตลอดเวลาที่ทำงานด้านการศึกษาและพัฒนาบุคลากรในพื้นที่อีอีซี เราเห็นได้ชัดว่าอาชีวศึกษาในพื้นที่อีอีซีมีความก้าวหน้าอย่างมาก”

“อย่างล่าสุดเราได้มีการประกาศผลรางวัล EEC HDC Award ที่มอบให้กับผู้ที่สร้างคุณูปการให้การพัฒนาการศึกษาและการผลิตบุคลากรในพื้นที่อีอีซีจากทั้งหมด 8 รางวัล เรามีบุคลากรจากภาคอาชีวศึกษา 2 ท่าน และองค์กร เป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาอีกหนึ่งแห่ง ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ นี่จึงเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าภาคอาชีวศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาคการศึกษาและการผลิตบุคลากรตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่อีอีซีได้จริง”
“นอกจากนั้น เรายังมีแนวคิดว่าจะต้องทำการส่งเสริมและสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรและองค์กรอาชีวศึกษาในพื้นที่ต้นแบบให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป และเรามองว่า ถ้าดูในเรื่องของนวัตกรรม Smart farm ที่คิดค้นโดยคนไทย อย่างล่าสุดมีการทำฟาร์มปลูกมะเขือเทศ โดยใช้ระบบ IoT ซึ่งเรามองว่า ในกรณีนี้ควรได้รับการต่อยอด ด้วยความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยการเกษตร รวมถึงสามารถเชื่อมความเชี่ยวมือระหว่าง NECTEC ได้ด้วย”
“และในส่วนของศูนย์ Bio Technology หรือ เทคโนโลยีในเรื่องของ Smart farm ตรงนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะเติมเต็มการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านนี้ในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ทาง EEC HDC ได้จัดตั้งศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้และเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านต่างๆ เพื่อทำภารกิจทั้งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและบุคลากร จำนวน 10 ศูนย์”
“และในตอนนี้ก็กำลังปรับโครงสร้าง อย่าง ศูนย์ระบบราง ก็มีการปรับโครงสร้างศูนย์เพื่อให้สถาบันราง ประทรวงคมนาคมเป็นผู้มาดำเนินการ โดยทำงานเชื่อมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี”
“จากการปรึกษาหารือกับทาง NESTEC เราได้ขอให้ทาง NECTEC ไปจับมือกับทางอาชีวศึกษา เพื่อการทำงานร่วมกันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดผลการพัฒนาบุคลากรในด้านเทคโนโลยีร่วมกัน โดยเฉพาะ EECi ที่ก่อตั้งขึ้น และอยู่ในความดูแลของ NECTEC ก็จะเป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีหลากหลายด้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งในวันนี้ก็เห็นความก้าวหน้าในการเปิดศูนย์เชี่ยวชาญด้านยานยนต์สมัยใหม่ และมีโครงการการเปิด Silicon Techpark ที่บ้านฉาง จังหวัดระยองด้วย”
“ดังที่ได้เกริ่นไว้ว่าท่ามกลางการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามา เราจะทิ้งในด้านการพัฒนาบุคลากร พัฒนาในภาคการศึกษาไม่ได้เลย และการจัดการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 GEN R ที่ทาง NECTEC จัดขึ้นนี้ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการพัฒนาทักษะ สร้างศักยภาพให้กับเยาวชนไทยในด้าน IoT และ Data Analytics ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“โดยในปีหน้า ทาง EEC HDC ได้ปรึกษาหารือ กับทาง NECTEC ไว้ว่า จะเชิญทางธนาคารออมสิน และกระทรวงคมนาคม เพราะโครงสร้างการพัฒนาด้านการผลิตและบริการ จำเป็นต้องมีการผูกโยงเข้ากับเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เราต้องขยายการแข่งขันนี้ไม่ได้ให้อยู่แต่ในเฉพาะพื้นที่อีอีซีเท่านั้น แต่ต้องสร้างให้เกิดการกระจายความสำเร็จในการจัดงานนี้ให้ทั่วประเทศ โดยมีการจัดงานในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสร้างความเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาบุคลากรของไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

ด้าน ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ EECi กล่าวเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ด้วยว่า
“การจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้แก่บุคลากรด้านอาชีวศึกษา การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจ 4 ด้านของ สวทช. โดย สวทช. และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวิสัยทัศน์และกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
“ดังนั้น สวทช. โดยการสนับสนุนจาก สกพอ. และในฐานะผู้รับผิดชอบในการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi จึงได้เข้ามาดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่อง”
“โดยมุ่งเน้นทั้งในด้านการเตรียมบุคลากรขั้นพื้นฐานให้ที่มีความสนใจในการเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัยและนักเทคโนโลยีในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนา EECi ให้เป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ”
ความท้าทายที่ผู้แข่งขัน IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3 ต้องก้าวผ่านตลอด 36 ชั่วโมง
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ได้กล่าวถึงการแข่งขันในปีนี้ ที่มีความเข้มข้นไม่แพ้ปีที่ผ่านมา รวมถึงไฮไลต์แปลกใหม่สุดท้าทายที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเจอในการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 ในปีนี้
“การแข่งขันในครั้งนี้เป็นการแข่งขันเสมือนทำงานจริงอยู่หน้างาน โดยโจทย์ปีนี้เรามุ่งเน้นให้ผู้เข้าแข่งขันทุกท่านได้ผ่านการอบรม IoT ขั้นสูงและการประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ มาแข่งขันเพื่อตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EEC”
“ไม่ว่าจะเป็น Maintenance, Process Line Monitoring, Quality Control, ERP ด้วย API ที่เรากำหนดและทักษะของ การเป็น Developer เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อ ระหว่าง OT (Operational technology) และ IT (Information technology) ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นของการพัฒนาเป็น factory 4.0”

ดังนั้นนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในครั้งนี้ ทางโครงการฯ ได้คัดเลือกแล้วว่ามีทักษะความสามารถตามเจตจำนงค์ของโครงการ การแข่งขัน IoT Hackathon ถือเป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อม ฝึกฝนการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาครั้งสุดท้ายก่อนเข้าฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมต่อไป”
“ในปีนี้โครงการฯยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรอีก 2 ฝ่ายคือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาในเขต EEC 16 แห่ง และ บริษัทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ ได้ช่วยกันพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ที่จะนำไปบูรณาการเข้ากับวิชาต่างๆ ในวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อให้สามารถสร้างกำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง”
“ที่ผ่านมาทางโครงการฯได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566”
“โดยในปีสุดท้าย (ปี 66) ปีนี้ ทางโครงการฯ ได้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ที่มีความเหมาะสมกับการพัฒนาเด็กอาชีวะศึกษาเข้าไปทำงานกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในปีนี้มีนักศึกษาที่ผ่านการอบรมพื้นฐาน เข้ารวม 245 คน ผ่านการคัดเลือกให้อบรม IIoT ขั้นสูง 69 คน คัดเลือกรอบสุดท้ายเพื่อเข้าร่วมแข่งขัน และให้สถานประกอบการมาคัดเลือก 48 คน”
“เป็นที่น่ายินดีว่าผลการตอบรับจากการดำเนินโครงการ 3 ปี ที่ผ่านมา วิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) เริ่มนำหลักสูตร IoT Fundamentals เข้าไปสอนในสาขาต่างๆ ของวิทยาลัย และจากการติดตามผลการฝึกงานของนักศึกษา ที่ผ่านมา มีสัดส่วนของนักศึกษาที่บริษัทเข้ารับทำงานต่อกว่า 54% ในปีแรก และ 76% ในปีที่สอง”
“และปีนี้ทราบว่าจะมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะร่วมมาออกบูธ เพื่อรับนักศึกษาเข้าฝึกงานไม่ต่ำกว่า 15 บริษัท และทางโครงการฯ ได้จัดเตรียมชุดอุปกรณ์ฝึกอบรมทางด้าน Industrial IoT เพื่อส่งมอบให้วิทยาลัยที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะเวลาต่อเนื่องของโครงการฯไม่น้อยกว่า 70 %”
แชร์ผล “ผู้ชนะ” จากการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3
การแข่งขันสุดเข้มข้นตลอด 36 ชั่วโมงของเวที IoT Hackathon 2022 Gen R ครั้งที่ 3 ก็ได้สิ้นสุดลง และได้ผล “ผู้ชนะ” ในการแข่งขันรายการนี้แล้ว โดตลอดการแข่งขัน เราได้เห็นน้องๆ เยาวชนอาชีวะศึกษาภาคตะวันออกทั้ง 12 ทีม สวมบทบาทการทำงานกับข้อมูลจริง 3 โรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว โรงงานผลิตดินสอ และโรงงานผลิตกระดาษชำระ
โดยต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลและแสดงผลผ่าน Dashboard ตามที่ได้ผ่านการอบรมจากโครงการฯ โจทย์การวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ OEE, Production Monitoring, Power Management, Quality Control, Maintenance, Warehouse, โดยต้องนำข้อมูลมาประยุกต์เป็นแอปพลิเคชันในโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ ERP, การซ่อมบำรุง Motor, การแจ้งเตือนด้วยระบบ Andon, การจัดการข้อมูลบน Monitoring Room ซึ่งทุกทีมมีระยะเวลาเพียง 36 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ผู้เข้าแข่งขันยังต้องนำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลและ Dashboard แก่คณะกรรมการอีกด้วย
กิจกรรมการแข่งขันในครั้งนี้ยังมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมรับชมบรรยากาศการนำเสนอผลงาน และเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้สอบถามการทำงานจริง รวมถึงการเข้าฝึกงานและทำงานในสถานประกอบการอีกด้วย ได้แก่ สมชาย งามกิจเจริญลาภ รองประธานกรรมการบริหาร และคณะ จากบริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด, และนิมิต ตั้งวรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เออเบิ้นเวย์ จำกัด
โดยรายชื่อของ ผู้ชนะ ในการแข่งขันครั้งนี้ มาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC
#รางวัลชนะเลิศ ได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 30,000 บาท
ทีม 3 : 36 ชั่วโมง เลยหรอพี่! ผู้ร่วมทีม : ธนพนธ์ ภูพานทอง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ชยพล สาลีผล วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ภูริณัฐ แก้วแสงทอง วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ วลิตฐา จันภูงา วิทยาลัยเทคนิคระยอง
#รางวัลรองชนะเลิศ ได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท
ทีม 10 : IoT IO จั๊ย ผู้ร่วมทีม : เมธาสิทธิ์ ติยวัฒน์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ บุญญฤทธิ์ แย้มพงษ์ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ชญานันท์ วงศ์เจริญ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
#รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับทุนการศึกษา 10,000 บาท
ทีม 11 : Exclusive ผู้ร่วมทีม : วีรภัทร ไตรภพสุวรรณ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี อภิสิทธิ์ ละครเขต วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ภาณุพงศ์ ปุญญะปัญญา วิทยาลัยเทคนิคระยอง พลพจน์ หลักคำ วิทยาลัยเทคนิคระยอง
#รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 5,000 บาท
ทีม 8 : Possible Team ผู้ร่วมทีม : รัชชานนท์ เข็มมณี วิทยาลัยเทคนิคพัทยา สุทัศน์ ชาวนา วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย อภิวัฒน์ พุ่มประเสริฐ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ หทัยชนก ท่าคร่อง วิทยาลัยเทคนิคระยอง
ทีม 12 : Sen LEK sAP sAP ผู้ร่วมทีม : ธนโชติ ก้านจักร วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ณัฐกฤษ พุ่มบาง วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย พลัฏฐ์ อมาตย์ชยาภา วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ อชิรญา สมใจ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
ต้นแบบการพัฒนาบุคลากรในภาคอาชีวศึกษา
วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ต้นแบบสถานศึกษาทรงคุณค่า เปลี่ยนความเฉื่อยชาล้าหลัง เป็นพลังพัฒนาบุคลากร จับมือกับสถานประกอบการทุกระดับ
หลักสูตรเครื่องประดับและอัญมณี วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี จุดสตาร์ทของคนรุ่นใหม่บนเส้นทางอาชีพทำเงิน เรียนจบมีงานทำทันทีใน อุตสาหกรรมอัญมณีไทย
วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย ขึ้นแท่นวิทยาลัยอาชีวะ EEC Model Type A 100% สร้างปรากฎการณ์บริษัทต่างชาติชิงตัว นศ. จบไปได้เงินเดือนสูงกว่า ป.ตรี
Post Views: 12