Chonburi Sponsored

บพท. จัดงานมหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ณ พนัสนิคม

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

ขอเชิญร่วมมหกรรม  “ฟื้นใจเมือง” ด้วย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” ในวันที่ 16-18 ธันวาคม 2565 เวลา 15.00 – 20.00 น. ณ ศาลเจ้าฉื่อปุยเนี้ยว-ขอเล่งเนี้ยว อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2565 เวลา 17.00-20.00 น.

มหกรรม “ฟื้นใจเมือง” ด้วย “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” เป็นมหกรรมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งพื้นที่ปริทรรศน์คุณค่าทางด้านศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาพื้นที่จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในการจัดกิจกรรม ณ พนัสนิคม ผ่าน 3 โครงการ อันประกอบด้วย

  1. โครงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชนผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม
  2. โครงการฟื้นใจเมืองด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน
  3. โครงการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชนและการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีและสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

วัตถุประสงค์ในการจัดมหกรรมนี้ เพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ และร่วมกันฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมและย่านซบเซาให้เกิดเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำหรับเป็นศูนย์รวมการค้าขายและพบปะของผู้คนในชุมชน อันนำไปสู่การสร้างคุณค่าร่วมในพื้นที่ การจัดมหกรรมฟื้นใจเมืองในครั้งนี้เป็นการพัฒนาและยกระดับกิจกรรมที่ทางหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง

ในการนี้จึงกำหนดจัดมหกรรมฟื้นใจเมืองขึ้น ใน 4 จังหวัดของแต่ละภูมิภาค อันได้แก่ จังหวัดชลบุรี (อำเภอพนัสนิคม) จังหวัดพะเยา (อำเภอเชียงคำ) จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอเมือง) และจังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอทุ่งสง) เพื่อปลุกเมือง ฟื้นใจย่านเก่าด้วยแนวคิดการออกแบบพื้นที่จากฐานทุนวัฒนธรรมท้องถิ่น

โดยเริ่มจากพื้นที่อำเภอเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดมหกรรมในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการนำเสนอทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของพนัสนิคมผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่สะท้อนวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวพนัสนิคม และกิจกรรมพิเศษในพิธีเปิด อาทิ

โชว์พิเศษจากคณะเอ็งกอพนัสนิคม?

เอ็งกอเป็นศิลปะการแสดงของชาวจีนที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ร่วม 100 ปี และได้อนุรักษ์ศิลปะนี้มาตลอดหลายช่วงอายุบรรพบุรุษ ปัจจุบัน “เอ็งกอ” ได้กลายเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาวอำเภอพนัสนิคมตลอดมา ปัจจุบันได้ร่วมกันจัดตั้ง “เอ็กกอ” ขึ้นมาก็เพื่อความสามัคคี และการออกกำลังกาย เป็นสำคัญ โดยลักษณะเด่นของเอ็งกอ คือ ผู้แสดงทุกคนจะต้องทาหน้าตาอำพรางตน และแต่งกายแบบจอมยุทธ์จีนตามตำนานการขับไล่กบฏของวีรบุรุษเขาเหลียงซาน

และสิ่งที่ไม่ควรพลาดในวันพิธีเปิด ก็คือขบวนพาเหรดคณะเอ็งกอและขบวนกลุ่มคนรุ่นใหม่แต่งตัวร่วมสมัยด้วยเครื่องจักสานจากพนัสนิคม ที่จะสามารถเป็นการสืบสาน ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของเมืองพนัสนิคม และยังถือเป็นการสร้างสำนักรักษ์แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่อีกด้วย

กินลมชมหนังกลางแปลง?.

รับชมวีดีโอเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมชุมชนของเมืองพนัสนิคม และภาพยนตร์ต่าง ๆ ในมุมหนังกลางแปลง ณ ศาลเจ้าฉื่อปุยเนี้ยว-ขอเล่งเนี้ยว

การละเล่นทายโจ๊ก?

การละเล่นทายโจ๊ก เป็นการละเล่นพื้นบ้านอันเก่าแก่ของเมืองพนัสนิคม เป็นปริศนาร้อยกรอง ฝึกสมองประลองปัญญากับผู้เล่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ในปัจจุบันการละเล่นชนิดนี้ไม่เป็นที่รู้จักและหาชมได้ยาก เนื่องจากถูกทดแทนด้วยวัฒนธรรมต่างชาติและความบันเทิงรูปแบบใหม่ๆ

การแสดงอันทรงเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ?

การบรรเลงเพลงของวงออเครสต้าโดยคุณสุกรี เจริญสุข พร้อมด้วยการแสดงร่วมกันของคุณปรีชา เถาทอง (วาดภาพ), คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ขับกลอน), และคุณธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (เป่าขลุ่ย) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการแสดงที่ทรงเกียรติอย่างยิ่งสำหรับพิธีเปิดมหกรรมในครั้งนี้

โดยมหกรรมฟื้นใจเมืองในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2565

หากท่านใดพลาดโอกาสในการเข้าร่วมพิธีเปิดในวันที่ 17 ธันวาคม 2565 ท่านสามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่จะมีตลอดในช่วง 16-18 ธันวาคม 2565 ได้ โดยกิจกรรมที่จะมีตลอด 3 วันนี้ อาทิ การสาธิตการทำหมี่แดงแกงลาว ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของเมืองพนัสนิคม การทำเวิร์คช็อปงานจักสาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์อันเก่าแก่ของเมืองพนัสนิคม รวมถึงกิจกรรมพนัสเด็ดเจ็ดย่าน ที่จะเชิญชวนให้ทุกท่านได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ 7 ย่านต่าง ๆ ในเมืองพนัสนิคม โดยแต่ละย่านนั้นถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่เป็น “จุดเช็คอิน” เมื่อมาถึงเมืองพนัสนิคม และ 7 ย่านนี้ครอบคลุมถึงของเด็ดเมืองพนัสที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับ หอพระพนัส งานจักสาน ร้านของฝาก ร้านอาหารสุดเด็ด เวิร์คช็อปการทำตุ๊กตาเอ็งกอ และที่พักผ่อนหย่อนใจ

สัมผัสบรรยากาศวิถีชีวิตชาวพนัสนิคมในมหกรรมฟื้นใจเมือง

ถือได้ว่าเป็นมหกรรมที่ครบครันในทุกมิติเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน สถานที่จุดเช็คอิน กิจกรรมความบันเทิง หรือกิจกรรมการมีส่วนร่วมต่างๆ ทั้งนี้ สิ่งต่างๆในมหกรรมฟื้นใจเมืองนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการดึงเอกลักษณ์ อัตลัตลักษณ์ของเมืองพนัสนิคม มาต่อยอดเป็นแนวคิดการสร้างสรรค์ที่มาจากทุนทางวัฒนธรรมเดิม

อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้จัดมหกรรมฟื้นใจขอเชิญชวนแขกผู้มีเกียรติทุกท่านมาร่วมสนุกและเข้าร่วมกิจกรรมในมหกรรมฟื้นใจเมืองในครั้งนี้ไปด้วยกัน ในวันที่ 16-18 ธันวาคม 2565 เวลา 15.00 – 20.00 น. ณ ศาลเจ้าฉื่อปุยเนี้ยว-ขอเล่งเนี้ยว อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี

หมายเหตุ: พิธีเปิดวันที่ 17 ธันวาคม 2565 เวลา 17.00 – 20.00 น.


Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม