รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) แจ้งว่า ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 66 จำนวน 47,108.9146 ล้านบาท โดยมีการก่อสร้างถนน 392 โครงการระยะทาง 1,159.833 กิโลเมตร (กม.) สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วประเทศ 111 โครงการ ความยาวรวม 5,763 เมตร งานบำรุงรักษาทาง 49,123 กม. และงานอำนวยความปลอดภัย 1,873 แห่ง

โดยในปีงบฯ 66 ทช. ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ทางถนน 4 โครงการ ระยะทางรวม 26.505 กม. งบประมาณรวม 2,180 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คาคเริ่มก่อสร้าง พ.ค. 66 แล้วเสร็จปี 68 ใช้เวลา 3 ปี ประกอบด้วย 1.โครงการถนนสาย ชบ.3023 แยก ทล.315-บ.หนองปลาไหล อ.พานทอง, บ้านบึง จ.ชลบุรี ระยะทาง 12.242 กม. งบประมาณ 880 ล้านบาท
จุดเริ่มต้นจากแยกทางหลวงหมายเลข 315 (บริเวณ กม.ที่ 14+600) สิ้นสุดโครงการที่ บ.หนองปลาไหล (ทล.3127) โดยจะก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จากขนาด 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 ม. ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.00 ม. พร้อมระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความปลอดภัย

ถนน ชบ.3023 เป็นเส้นทางหลักที่ใช้สัญจรจากบ้านบึงไปยังพานทอง เชื่อมต่อ ทล.7 ผ่านทาง ทล.315 เชื่อมโยงระหว่างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ และมีปริมาณจราจรที่ใช้สัญจรค่อนข้างหนาแน่น จึงมีความจำเป็นที่ต้องขยายและยกระดับชั้นทางเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
2.โครงการถนนสาย ฌ ผังเมืองรวมเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ระยะทาง 2.880 กม. งบประมาณ 200 ล้านบาท จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณสามแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 213 (เดิมตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 213 (ตอนเลี่ยงเมือง)) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตัดผ่านทุ่งนาและที่ว่าง กม.1+514 ตัดกับถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเดิมของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โพนทอง จากนั้นแนวถนนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตัดผ่านทุ่งนาจนถึง กม.2+449 ตัดกับถนนทางหลวงชนบท สาย กส.3063 จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 227

ก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 ม. ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 ม. พร้อมระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความปลอดภัย โครงการนี้จะรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาของ ทช.

3.โครงการถนนสาย ง2 ผังเมืองรวมเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด จุดเริ่มต้นช่วงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (ร้อยเอ็ด-เสลภูมิ) สิ้นสุดโครงการที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม) ระยะทาง 7.383 กม. งบประมาณ 570 ล้านบาท โดยก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 ม. ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 ม. พร้อมระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความปลอดภัย เมื่อโครงการแล้วเสร็จรองรับการเจริญเติบโตและขยายชุมชนเมืองร้อยเอ็ดทางด้านทิศใต้ เชื่อมถนนสายหลักและสายรอง ให้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยยิ่งขึ้น
และ 4.โครงการถนนสายแยก ทล.4103-ถนนพุทธภูมิ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ระยะทาง 4 กม. งบประมาณ 530 ล้านบาท เริ่มต้นจากแยกทางหลวงหมายเลข 4103 (บริเวณ กม.ที่ 18+200) สิ้นสุดโครงการที่ถนนพุทธภูมิ โดยก่อสร้างถนนคอนกรีต จากขนาด 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.00-3.50 ม. ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.50 ม. พร้อมระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความปลอดภัย ก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ สะพานคู่ รูปแบบคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องหล่อสำเร็จรูป (Segmental Box Girder) ความยาวสะพาน 390 ม.

โครงการนี้ใช้เป็นเส้นทางเข้าสู่สถานที่ท่องเที่ยวทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมที่สำคัญ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งจังหวัดได้เสนอขึ้นบัญชีมรดกโลกแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก จึงจำเป็นที่จะก่อสร้างถนนสายดังกล่าว เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นเส้นทางที่แบ่งเบาปริมาณจราจรในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ในการระบายการจราจรออกสู่นอกเมือง

นอกจากนี้มีโครงการสะพานขนาดใหญ่พื้นที่ภาคใต้ 2 แห่ง งบประมาณรวม 6,695 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วงเงิน 4,841 ล้านบาท และ 2.โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง-ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ วงเงิน 1,854 ล้านบาท

ปัจจุบันสำนักบริหารหนี้สาธารณะส่งหนังสือทาบทามธนาคารโลก (World Bank) เพื่อขอใช้แหล่งเงินกู้ค่าก่อสร้างโครงการฯ โดยจะเริ่มประกวดราคาด้วยวิธี International Competition Bidding (ICB) ภายในต้นเดือน ส.ค.-ก.ย. 66 และลงนามสัญญาภายในเดือน ธ.ค. 66 เริ่มก่อสร้างภายในปี 67 เปิดให้บริการช่วงปลายปี 69