Chonburi Sponsored

กองทัพเรือส่ง “เรือ อากาศยาน UAV” ปูพรมค้นหา 30 กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

กองทัพเรือส่ง “เรือ อากาศยาน UAV”  ปูพรมค้นหา 30 กำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ที่ยังหาไม่พบ คำนวณทิศทางลม-กระแสน้ำ ขยายพื้นที่ค้นหาเพิ่มเติม 

วันนี้ (20 ธ.ค. 65)  พลเรือเอก ปกครอง  มนธาตุผลิน  โฆษกกองทัพเรือ  เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการค้นหาและช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย จากเหตุเรืออับปาง ซึ่งมีสาเหตุจากคลื่นลมแรง น้ำเข้าเรือจนเครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องจักรใหญ่ดับ เรือเสียการควบคุม และเอียงมาก จนกระทั่งต้องมีการสละเรือก่อนที่จะอับปาง  ซึ่งในวันดังกล่าวมีคลื่นสูงกว่า 4 เมตร ส่งผลให้มีเรือลำอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอับปางลง 5 ลำ ประกอบด้วยเรือประมง 3 ลำ เรือตู้คอนเทนเนอร์ 2 ลำ โดยกองทัพเรือได้ส่งเรือและอากาศยานเข้าไปให้การช่วยเหลือแต่เนื่องจากคลื่นลมที่แรงเป็นอุปสรรคต่อการออกเรือ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือในช่วงแรก 

ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือและค้นหากำลังพลในวันนี้ เนื่องจากในพื้นที่เกิดเหตุยังคงมีคลื่นลมแรง ต้องส่งเรือขนาดใหญ่เข้าให้ความช่วยเหลือ โดยกองทัพเรือได้จัด เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช  เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงนเรศวร และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลแบบดอร์เนีย 2 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ค้นหาผู้ประสบภัย 2 เครื่อง UAV 1 เครื่อง ร่วมกับเครื่องบินกองทัพอากาศ จำนวน 1 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์จำนวน 1 เครื่อง ช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยขยายพื้นที่ค้นหาเพิ่มเติมจากเมื่อวานนี้ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งได้มีการคำนวณจากทิศทางของกระแสน้ำและกระแสลมรวมทั้งบริเวณที่ตรวจพบและช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยล่าสุด นำมาพิจารณาพื้นที่ที่คาดว่ากำลังพลที่เหลือจะอยู่ตรงบริเวณดังกล่าว  ซึ่งได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันเกิดเหตุ  ล่าสุดจากกำลังพลบนเรือทั้งหมด 105 นาย สามารถให้การช่วยเหลือได้แล้ว 75 นาย  คงเหลือ 30 นาย ที่ยังหาไม่พบ

ทั้งนี้ กองทัพเรือได้ตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือขึ้นมา จำนวน 3 ศูนย์ ทำหน้าที่ในการประสานการปฏิบัติ เพื่อดำเนินการในการให้ความช่วยเหลือกำลังพลและครอบครัว ประกอบด้วย 
1 ศูนย์ปฎิบัติการทัพเรือภาคที่ 1 ในการช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ตั้งอยู่ที่อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรี 038-438-008 , 065-693-3630
2 ศูนย์ปฎิบัติการทัพเรือภาคที่ 1 ในการช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ส่วนหน้า อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 089-035-3643 , 094-672-2662
3 ศูนย์ประสานและช่วยเหลือกำลังพลเรือหลวงสุโขทัย ณ สโมสรสัญญาบัตร กองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี 038-182-435,084-002-3554

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้