Chonburi Sponsored

กินขนม ชมบ้านโบราณ”ก๋งยี่” ริมแม่น้ำนครนายก

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

บ้านก๋งยี่” เป็นเรือนไม้โบราณตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครนายก สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2474 ปัจจุบันมีอายุ 91 ปี ตั้งชื่อตามเจ้าของคือ นายยี่ คู้หย่ง คาทอลิกชาวจีนจากอ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ที่เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินที่วัดคาทอลิกบ้านเล่า จ.นครนายก

เมื่อนายยี่ได้พบรักกับ นางติ้ม ทรงสัตย์ ทั้งสองจึงร่วมกันสร้างครอบครัวด้วยการทำขนมถ้วย โดยก๋งยี่มีหน้าที่หาบขนมไปขายให้กับชาวนา ชาวไร่ ประกอบกับการค้าขายหนังสัตว์ พอเริ่มมีเงินเก็บสะสมก็รับจำนำทองบ้าง ที่นาบ้างจากลูกค้าขนม จนมีฐานะมั่นคงเป็นปึกแผ่น

เรื่องเล่าบ้านก๋งยี่

คุณอาคม ปรีชาวุฒิ เจ้าของ”บ้านก๋งยี่” กล่าวถึงที่มาของบ้านซึ่งสื่อผ่านภาพวาดบนแผ่นไม้ขนาดใหญ่สื่อให้เห็นภาพก๋งยี่กำลังหาบขนมถ้วยไปขาย ในขณะที่ฝ่ายภรรยากำลังนั่งรอขนมถ้วยที่กำลังนึ่งอยู่บนเตา โดยมีแมวสองตัวนอนเฝ้าอยู่ไม่ห่าง

นอกจากค้าขายเก่งแล้ว ก๋งยี่ยังเป็นผู้นำสร้างวัดคาทอลิกบ้านเล่า และโรงเรียนยี่กรุณจิตต์ เมื่อการก่อสร้างวัดและโรงเรียนแล้วเสร็จ จึงมาสร้างบ้านของตัวเองที่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดคาทอลิกบ้านเล่า

บ้านก๋งยี่ เรือนไม้สองชั้น แบบสยามวิคตอเรียน สมัยรัชกาลที่ 7 สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) โดย ก๋งยี่ หรือ นายยี่ คู้หย่ง คาทอลิกชาวจีนผู้นำสร้างวัดคาทอลิกบ้านเล่า และโรงเรียนยี่กรุณจิตต์

(หน้าบันประดับไม้แกะสลักฉลุรูปไม้กางเขนเหรือดวงพระหฤทัยของพระเยซู ปีค.ศ.ที่สร้างบ้าน ถัดลงมาภายในกรอบไม้มีลวดลายแกะสลักเป็นรูปไก่ตัวผู้ และไก่ตัวเมีย สื่อถึงปีนักษัตรปีเกิดของก๋งยี่ และ นางติ้ม ทรงสัตย์ ภรรยา รายล้อมด้วยลูกไก่ตัวน้อยๆ ดอกไม้ ผลไม้ และค้างคาว ก้อนเมฆ สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์)

“แต่ก๋งยี่ก็ไม่เคยเข้ามาพักอาศัยในบ้านหลังนี้เลย ยังคงอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่อยู่ใกล้ๆกัน คนที่ได้เข้ามาอยู่คือหลานสาว ได้แก่ ป้าชลูด ป้าศิริ ป้าสละ และป้าชาแลน ซึ่งเป็นลูกของนายเถา คู้หยง ลูกชายคนโตของก๋งยี่”

เมื่อนายเถาจากไป ป้าศิริ ได้รับมรดกเป็นบ้านหลังนี้ และส่งต่อให้หลานชาย คือ คุณอาคม เป็นผู้ดูแลมรดกของตระกูลต่อไป

คุณอาคมเล่าให้เราฟังว่า บ้านเก่ามีความทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เมื่อคิดว่าจะลงมือซ่อมแซมจึงค้นคว้าหาข้อมูลอยู่ไม่น้อยก่อนจะลงมือบูรณะครั้งใหญ่เมื่อพ.ศ.2553 ขณะบ้านมีอายุ 79 ปี มีการเปลี่ยนหลังคา เสาไม้กลึง ไม้ประดับฉลุลาย เสริมโครงสร้างหลังคา สร้างห้องน้ำเพิ่ม ทาสีภายนอกภายในโดยอ้างอิงสีเดิม ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบ้าน ใช้เวลานาน 6 เดือน กว่าที่บ้านก๋งยี่จะกลับมามีชีวิตชีวาสดใสขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

(ภาพถ่ายของบ้านก่อนได้รับการบูรณะ โดยคุณอาคม ปรีชาวุฒิ เจ้าของบ้านคนปัจจุบัน)

ของเก่า ของสะสม บ้านก๋งยี่

ก่อนและหลังการซ่อมแซมมีความแตกต่างกันอย่างไร คุณอาคมจัดแสดงภาพถ่ายให้ชมก่อนเข้าไปสัมผัสบรรยากาศในบ้าน เครื่องเรือน ของสะสม เครื่องมือเครื่องใช้ ล้วนแล้วแต่เป็นของเดิมที่มีอยู่แล้วในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชุดรับแขก โต๊ะเก้าอี้สำหรับเด็กๆที่ลูกหลานก๋งยี่วันนี้เคยนั่งกินข้าวเมื่อตอนเป็นเด็กน้อย

มุมจิบน้ำชาของครอบครัวก็ยังคงเดิม ตั้งอยู่เคียงลิ้นชักเก็บสมุนไพรซึ่งเจ้าของบ้านอธิบายว่าสมัยก่อนการเดินทางไปโรงพยาบาลนั้นไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ยาสมุนไพรจึงถือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่พึงมี

(กระเป๋าเดินทางทรงกล่องเครื่องคิดเลข โทรศัพท์ เครื่องพิมพ์ดีด โทรทัศน์ และโต๊ะนักเรียนแบบนั่งพื้นที่ลูกหลานบ้านนี้เคยใช้นั่งทำการบ้านตอนเป็นเด็กๆ)

(มุมจิบน้ำชา ด้านหลังเป็นลิ้นชักเก็บยาสมุนไพรขนาดมหึมา เพราะสมัยก่อนการเดินทางไปหาหมอนั้นไม่ใช่ว่านึกอยากจะไปกันได้ง่ายๆ)

(ครัวโบราณที่มีอุปกรณ์ครบครัน)

“พอเราเริ่มซ่อมบ้าน เพื่อนๆที่รู้ว่าเราจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ก็นำของเก่าที่สะสมไว้มาให้ มีทั้งหีบใส่ของหลายขนาด คนสมัยก่อนเดินทางไกลโดยทางเรือกระเป๋าเดินทางจึงมักจะมีรูปทรงเป็นหีบ เป็นกล่องที่สะดวกแก่การจัดเก็บ” คุณอาคมอธิบาย

บรรยากาศภายในบ้านให้ความรู้สึกราวกับได้ย้อนกลับไปสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนเมื่อวันวาน โดยมีข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเป็นตัวดำเนินเรื่อง เก่ามาก เก่าน้อย ระคนกันไปอย่างรื่นรมย์

(เหนือกรอบหน้าต่างประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลวดลายสวยงาม)

ขนมถ้วยสูตรก๋งยี่

ชมบ้านจนอิ่มใจแล้ว ชวนไปชิมขนมกันที่ศาลาท่าน้ำป้าศิริ ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ โดยเปิดเป็นคาเฟ่ขนาดกะทัดรัดที่มีห้องแอร์เย็นๆให้นั่งคลายร้อน ส่วนคนที่สมัครใจนั่งรับลมชมวิวแม่น้ำด้านนอกก็สบายไม่แพ้กัน

มาถึงที่นี่จะพลาดขนมถ้วยสูตรก๋งยี่ไปได้อย่างไร รสชาติหวานมันกำลังดี คุณนิตยา ปรีชาวุฒิ น้องสาวของคุณอาคมเล่าว่าจะเตรียมทำขนมในช่วงเช้าตรู่ของวันเสาร์และอาทิตย์ นอกจากขนมถ้วยแล้ว ยังมีขนมกล้วย ขนมฟักทอง วัตถุดิบจากในสวนหลังบ้าน

(ขนมถ้วยสูตรก๋งยี่ และขนมกล้วย ขนมฟักทอง ผลผลิตจากในสวนหลังบ้าน)

(บัวลอยญวน เป็นบัวลอยมีไส้รสชาติออกเค็มคล้ายขนมเทียน กินกับน้ำกะทิโรยงาเข้ากันมาก) 

(ภาพวาดบนแผ่นไม้เล่าชีวิตก๋งยี่และภรรยาที่ช่วยกันทำขนมถ้วยขาย)

ส่วนขนมบัวลอยญวน เป็นขนมบัวลอยมีไส้รสชาติออกเค็มคล้ายขนมเทียน กินกับน้ำกะทิโรยงา เพิ่งเคยกินเป็นครั้งแรกแต่ก็ชอบใจเลย แนะนำให้สั่งชาก๋งยี่ (ชาจีนแต่งกลิ่นด้วยดอกมะลิและกลีบกุหลาบ)เพิ่มกลิ่นหอมชื่นใจได้อีก

แต่ถ้าใครหิวคุณนิตยามีเมนูข้าวน้ำพริกปลาทู ข้าวคลุกกะปิ ข้าวกะเพรากุ้ง ให้เลือกรับประทาน

การเดินทางมาบ้านก๋งยี่ แนะนำให้มาถึงในช่วงสาย หรือ บ่ายต้นๆ เพราะว่าช้าไปกว่านั้นขนมอาจจะหมดเสียก่อน ยิ่งถ้าคุณชื่นชอบบรรยากาศบ้านเก่าด้วยแล้วควรเผื่อเวลามาชื่นชมให้นานสักหน่อย

การได้กิน “ขนม” ชม “บ้านเก่า” ที่บ้าน “ก๋งยี่” นครนายก ถือว่าได้อรรถรสวันวานและวันหวานครบรสในคราวเดียวกัน

เฟซบุ๊ค ก๋งยี่ บ้านโบราณ นครนายก

พิกัด : 44 หมู่ 4 ตำบลท่าทราย เทศบาลเมืองนครนายก จ.นครนายก

โทร. : 095 778 6446

เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00 – 19.00 น. มีค่าเข้าชมบ้าน 50 บาท

(อ้างอิง : ข้อมูลจากคุณอาคม ปรีชาวุฒิ และเพจก๋งยี่ บ้านโบราณ นครนายก)

(ห้องนั่งเล่นบนชั้นสองของบ้าน)
(โต๊ะเก้าอี้เด็กที่ทายาทรุ่นหลานก๋งยี่ นั่งกินข้าวกันตรงนี้)

(คาเฟ่ในศาลาท่าน้ำ)

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม