“บ้านก๋งยี่” เป็นเรือนไม้โบราณตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครนายก สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2474 ปัจจุบันมีอายุ 91 ปี ตั้งชื่อตามเจ้าของคือ นายยี่ คู้หย่ง คาทอลิกชาวจีนจากอ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ที่เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินที่วัดคาทอลิกบ้านเล่า จ.นครนายก
เมื่อนายยี่ได้พบรักกับ นางติ้ม ทรงสัตย์ ทั้งสองจึงร่วมกันสร้างครอบครัวด้วยการทำขนมถ้วย โดยก๋งยี่มีหน้าที่หาบขนมไปขายให้กับชาวนา ชาวไร่ ประกอบกับการค้าขายหนังสัตว์ พอเริ่มมีเงินเก็บสะสมก็รับจำนำทองบ้าง ที่นาบ้างจากลูกค้าขนม จนมีฐานะมั่นคงเป็นปึกแผ่น
เรื่องเล่าบ้านก๋งยี่
คุณอาคม ปรีชาวุฒิ เจ้าของ”บ้านก๋งยี่” กล่าวถึงที่มาของบ้านซึ่งสื่อผ่านภาพวาดบนแผ่นไม้ขนาดใหญ่สื่อให้เห็นภาพก๋งยี่กำลังหาบขนมถ้วยไปขาย ในขณะที่ฝ่ายภรรยากำลังนั่งรอขนมถ้วยที่กำลังนึ่งอยู่บนเตา โดยมีแมวสองตัวนอนเฝ้าอยู่ไม่ห่าง
นอกจากค้าขายเก่งแล้ว ก๋งยี่ยังเป็นผู้นำสร้างวัดคาทอลิกบ้านเล่า และโรงเรียนยี่กรุณจิตต์ เมื่อการก่อสร้างวัดและโรงเรียนแล้วเสร็จ จึงมาสร้างบ้านของตัวเองที่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามวัดคาทอลิกบ้านเล่า
“แต่ก๋งยี่ก็ไม่เคยเข้ามาพักอาศัยในบ้านหลังนี้เลย ยังคงอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่อยู่ใกล้ๆกัน คนที่ได้เข้ามาอยู่คือหลานสาว ได้แก่ ป้าชลูด ป้าศิริ ป้าสละ และป้าชาแลน ซึ่งเป็นลูกของนายเถา คู้หยง ลูกชายคนโตของก๋งยี่”
เมื่อนายเถาจากไป ป้าศิริ ได้รับมรดกเป็นบ้านหลังนี้ และส่งต่อให้หลานชาย คือ คุณอาคม เป็นผู้ดูแลมรดกของตระกูลต่อไป
คุณอาคมเล่าให้เราฟังว่า บ้านเก่ามีความทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เมื่อคิดว่าจะลงมือซ่อมแซมจึงค้นคว้าหาข้อมูลอยู่ไม่น้อยก่อนจะลงมือบูรณะครั้งใหญ่เมื่อพ.ศ.2553 ขณะบ้านมีอายุ 79 ปี มีการเปลี่ยนหลังคา เสาไม้กลึง ไม้ประดับฉลุลาย เสริมโครงสร้างหลังคา สร้างห้องน้ำเพิ่ม ทาสีภายนอกภายในโดยอ้างอิงสีเดิม ปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบ้าน ใช้เวลานาน 6 เดือน กว่าที่บ้านก๋งยี่จะกลับมามีชีวิตชีวาสดใสขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ของเก่า ของสะสม บ้านก๋งยี่
ก่อนและหลังการซ่อมแซมมีความแตกต่างกันอย่างไร คุณอาคมจัดแสดงภาพถ่ายให้ชมก่อนเข้าไปสัมผัสบรรยากาศในบ้าน เครื่องเรือน ของสะสม เครื่องมือเครื่องใช้ ล้วนแล้วแต่เป็นของเดิมที่มีอยู่แล้วในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นชุดรับแขก โต๊ะเก้าอี้สำหรับเด็กๆที่ลูกหลานก๋งยี่วันนี้เคยนั่งกินข้าวเมื่อตอนเป็นเด็กน้อย
มุมจิบน้ำชาของครอบครัวก็ยังคงเดิม ตั้งอยู่เคียงลิ้นชักเก็บสมุนไพรซึ่งเจ้าของบ้านอธิบายว่าสมัยก่อนการเดินทางไปโรงพยาบาลนั้นไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ยาสมุนไพรจึงถือเป็นยาสามัญประจำบ้านที่พึงมี
(กระเป๋าเดินทางทรงกล่องเครื่องคิดเลข โทรศัพท์ เครื่องพิมพ์ดีด โทรทัศน์ และโต๊ะนักเรียนแบบนั่งพื้นที่ลูกหลานบ้านนี้เคยใช้นั่งทำการบ้านตอนเป็นเด็กๆ)
(มุมจิบน้ำชา ด้านหลังเป็นลิ้นชักเก็บยาสมุนไพรขนาดมหึมา เพราะสมัยก่อนการเดินทางไปหาหมอนั้นไม่ใช่ว่านึกอยากจะไปกันได้ง่ายๆ)
“พอเราเริ่มซ่อมบ้าน เพื่อนๆที่รู้ว่าเราจะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ก็นำของเก่าที่สะสมไว้มาให้ มีทั้งหีบใส่ของหลายขนาด คนสมัยก่อนเดินทางไกลโดยทางเรือกระเป๋าเดินทางจึงมักจะมีรูปทรงเป็นหีบ เป็นกล่องที่สะดวกแก่การจัดเก็บ” คุณอาคมอธิบาย
บรรยากาศภายในบ้านให้ความรู้สึกราวกับได้ย้อนกลับไปสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนเมื่อวันวาน โดยมีข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเป็นตัวดำเนินเรื่อง เก่ามาก เก่าน้อย ระคนกันไปอย่างรื่นรมย์
ขนมถ้วยสูตรก๋งยี่
ชมบ้านจนอิ่มใจแล้ว ชวนไปชิมขนมกันที่ศาลาท่าน้ำป้าศิริ ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ โดยเปิดเป็นคาเฟ่ขนาดกะทัดรัดที่มีห้องแอร์เย็นๆให้นั่งคลายร้อน ส่วนคนที่สมัครใจนั่งรับลมชมวิวแม่น้ำด้านนอกก็สบายไม่แพ้กัน
มาถึงที่นี่จะพลาดขนมถ้วยสูตรก๋งยี่ไปได้อย่างไร รสชาติหวานมันกำลังดี คุณนิตยา ปรีชาวุฒิ น้องสาวของคุณอาคมเล่าว่าจะเตรียมทำขนมในช่วงเช้าตรู่ของวันเสาร์และอาทิตย์ นอกจากขนมถ้วยแล้ว ยังมีขนมกล้วย ขนมฟักทอง วัตถุดิบจากในสวนหลังบ้าน
ส่วนขนมบัวลอยญวน เป็นขนมบัวลอยมีไส้รสชาติออกเค็มคล้ายขนมเทียน กินกับน้ำกะทิโรยงา เพิ่งเคยกินเป็นครั้งแรกแต่ก็ชอบใจเลย แนะนำให้สั่งชาก๋งยี่ (ชาจีนแต่งกลิ่นด้วยดอกมะลิและกลีบกุหลาบ)เพิ่มกลิ่นหอมชื่นใจได้อีก
แต่ถ้าใครหิวคุณนิตยามีเมนูข้าวน้ำพริกปลาทู ข้าวคลุกกะปิ ข้าวกะเพรากุ้ง ให้เลือกรับประทาน
การเดินทางมาบ้านก๋งยี่ แนะนำให้มาถึงในช่วงสาย หรือ บ่ายต้นๆ เพราะว่าช้าไปกว่านั้นขนมอาจจะหมดเสียก่อน ยิ่งถ้าคุณชื่นชอบบรรยากาศบ้านเก่าด้วยแล้วควรเผื่อเวลามาชื่นชมให้นานสักหน่อย
การได้กิน “ขนม” ชม “บ้านเก่า” ที่บ้าน “ก๋งยี่” นครนายก ถือว่าได้อรรถรสวันวานและวันหวานครบรสในคราวเดียวกัน
เฟซบุ๊ค ก๋งยี่ บ้านโบราณ นครนายก
พิกัด : 44 หมู่ 4 ตำบลท่าทราย เทศบาลเมืองนครนายก จ.นครนายก
โทร. : 095 778 6446
เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00 – 19.00 น. มีค่าเข้าชมบ้าน 50 บาท
(อ้างอิง : ข้อมูลจากคุณอาคม ปรีชาวุฒิ และเพจก๋งยี่ บ้านโบราณ นครนายก)