เสียงจากท้องถิ่น…เสียดาย สภาคว่ำร่างปลดล็อก รอวัดใจรัฐบาลใหม่ช่วยหนุน
หมายเหตุ – ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ให้ความเห็นกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช… แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่น ที่เสนอโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง76,591 คน เป็นผู้เสนอ
บุญโสต สมมนุษย์
นายกเทศมนตรีตำบลไชยสถาน อ.สารภี
ในฐานะประธานสันนิบาตเทศบาล จ.เชียงใหม่
ที่รัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่มาจากประชาชนโดยตรง เพื่อบริหารจัดการจังหวัดด้วยตนเอง เพราะจังหวัดมีงบบริหารและพัฒนาเพียง 500 ล้านบาท/ปีเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการพัฒนา 25 อำเภอ ที่มีประชากรกว่า 1.7 ล้านคน
หากมีการกระจายอำนาจท้องถิ่น ทั้งบทบาทอำนาจหน้าที่ โครงสร้าง ภารกิจ บุคลากร งบประมาณ เชื่อว่าจะยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนดีกว่าเดิม เพราะท้องถิ่นทราบปัญหาและความต้องการชุมชน สามารถตอบสนองหรือตอบโจทย์ได้รวดเร็ว และตรงจุดมากที่สุด เนื่องจากดูแลและใกล้ชิดประชาชนมากกว่าส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง ทำให้แก้ปัญหาได้ง่ายกว่า
ส่วนแนวทางกระจายอำนาจ อยากให้ปรับโครงสร้างท้องถิ่น เพื่อรองรับภารกิจดูแล และช่วยเหลือประชาชนในอนาคต อาทิ สถานศึกษา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน และอนุบาล หรือภารกิจที่ได้รับถ่ายโอน ต้องให้ท้องถิ่นบริหารจัดการบุคลากร งบประมาณโดยตรง ไม่ต้องผ่านส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาคอีก เพื่อลดขั้นตอนระบบราชการ ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าการลงทุน
ส่วนการบริหารการเงินการคลังท้องถิ่นต้องให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำแผนที่ภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีที่ดินโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ป้าย และค่าธรรมเนียมเต็มรูปแบบ เพราะช่วงโควิด-19 รัฐให้จัดเก็บภาษีที่ดินเพียง 10% เท่านั้นทำให้ท้องถิ่นขาดรายได้กว่า 90% แต่รัฐไม่ได้ช่วยเหลือ หรือชดเชยอย่างใด ทำให้ท้องถิ่นบางแห่ง รายได้หายไป 10-30 ล้านบาท จึงไม่มีรายได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
ดังนั้น 3 องค์กร คือ สมาคมสหพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย ให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาระเบียบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ เพื่อหาทางขับเคลื่อนกระจายอำนาจท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาก่อนนำเข้าสู่รัฐสภาพิจารณาอีกครั้ง
นอกจากนี้ สันนิบาตเทศบาล จ.เชียงใหม่ จะนำเสนอเพิ่มค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกสภา ตามขนาดเทศบาลและฐานรายได้ท้องถิ่น ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาทในเวทีประชุมวิชาการการกระจายอำนาจของสมาคมสหพันธ์ อบจ. และสมาคมสันนิบาตเทศบาล ที่จะมาถกเรื่องการถ่ายโอนโรงเรียน และ รพ.สต.ทั่วประเทศ ในวันที่ 15-17 ธันวาคมนี้ ที่ จ.เชียงใหม่ ด้วย
เรวัต อารีรอบ
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต
ที่ประชุมรัฐสภาโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่นนั้น ผมยังไม่เห็นร่างที่นำเสนอรัฐสภา แต่คิดว่าทางรัฐสภาคงเห็นอย่างถี่ถ้วนแล้วว่ายังมีจุดอ่อน อาจเป็นเรื่องอำนาจของท้องถิ่น อาจจะมากเกินไป และไม่เห็นด้วยหากจะทำทั่วทั้งประเทศเพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องค่อยเป็นค่อยไป ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงไปทีละภาค ภาคละจังหวัด ภาคใต้อาจจะเป็นภูเก็ต ภาคเหนืออาจจะเป็นเชียงใหม่ ภาคอีสาน อาจเป็นอุดรธานี หรือนครราชสีมา เห็นควรเป็นภาค และภาคละจังหวัดไปก่อน หรืออาจจะนำร่องที่ภูเก็ตก่อน
ทำไมต้องเป็นภูเก็ต เพราะภูเก็ตมีความพร้อมเรื่องศักยภาพของรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และเลี้ยงผู้อื่นได้ รายได้จากการท่องเที่ยวก่อนโควิดปีละประมาณ 4 แสนล้านบาท และภูเก็ต ยังมีภาคเอกชน รวมถึงท้องถิ่นต่างๆ และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะการพัฒนาที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า การตัดเสื้อโหลนั้นไม่ตอบโจทย์ให้กับพี่น้องประชาชน
เมื่อประชาชนเลือกขึ้นมา จากนั้นเอาความคิดของผู้ที่รับการเลือกออกมาเป็นนโยบาย เพื่อจะทำงานด้านเศรษฐกิจ สังคม ไปในคราวเดียวกัน และเห็นด้วยในการเดินหน้าต่อไป โดยให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการเปลี่ยนแปลงภูเก็ต เราอาจจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง
ประเสริฐ บุญประสบ
นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี
เป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่ง ที่ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือร่างปลดล็อกท้องถิ่นถูกตีตกไป ถ้าหากมีการปลดล็อกท้องถิ่น จะทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง บริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลที่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบที่ถูกคุมโดยกระทรวงมหาดไทย ที่ผ่านมาเรามีความอึดอัด ที่ไม่สามารถทำงานสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะกรอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริการประชาชน ผู้ซึ่งลงคะแนนเสียงให้เราเข้ามาบริหารท้องถิ่น
นอกเหนือจากเทศบัญญัติการเงินแล้ว การออกเทศบัญญัติต่างๆ ของท้องถิ่น ไม่สามารถทำได้โดยอิสระตามความต้องการของท้องถิ่น หากไม่ได้รับอนุญาตจากระทรวงมหาดไทย เช่น กรณีการออกเทศบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาความสะอาด เทศบาลไม่สามารถออกระเบียบค่าปรับได้เกินกว่าที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ คือ 2,000 บาท ทั้งๆ ที่ปัญหาขยะมูลฝอยเป็นปัญหาหลักของท้องถิ่น และท้องถิ่นมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการ แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินได้ เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
อีกกรณีที่กำลังเป็นปัญหาต้องได้รับการแก้ไขและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกท้องถิ่น คือ กรณีคนจรจัด คนไร้บ้าน เทศบาลหรือท้องถิ่นอื่นๆ ไม่มีอำนาจในการเข้าไปจัดการดูแล หรือแก้ไขปัญหา เนื่องจากอยู่ในอำนาจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกฎหมายไม่เปิดช่องให้ท้องถิ่นเข้าไปดำเนินการได้ ทั้งๆ ที่ปัญหาคนจรจัด คนไร้บ้านมักเกิดขึ้นในสังคมเมืองที่อยู่ในความดูแลของท้องถิ่นเทศบาล
ที่ผ่านมาแม้จะมีการกระจายอำนาจ แต่การทำงานของท้องถิ่นต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแล และข้อจำกัดจากกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอื่นๆ หากเปรียบเทียบให้มองเห็นกันชัดๆ ก็เหมือนกับลูกที่ต้องทำงานอยู่ภายใต้การกำกับของพ่อแม่ ไม่มีอำนาจตัดสินใจ จึงเป็นลูกที่ไม่สามารถเติบโตได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ร่างปลดล็อกท้องถิ่นนี้ถูกตีตกไป
สุพจน์ งามสง่า
นายก อบต.โคกขี้หนอน อ.พานทอง จ.ชลบุรี
รู้สึกเสียใจที่เรื่องการปลดล็อกท้องถิ่นถูกรัฐสภาโหวตคว่ำ ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายก อบต.โคกขี้หนอนมานาน 23 ปี การทำงานเหมือนกับเป็ดง่อย ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมีกฎระเบียบ ข้อกฎหมายมากมาย โดยสั่งการมาจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค มาถึงท้องถิ่น
จึงอยากให้มองเรื่องการพัฒนาจะต้องมาจากกายภาพแต่ละท้องถิ่น ที่ผ่านมารัฐเป็นผู้กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ รวมทั้งงบประมาณจะใช้อะไร รัฐกำหนดมาหมด ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงที่ทำงานมานาน 23 ปี เช่น คนชลบุรี คนภาคตะวันออก กินข้าวเจ้า คนอีสานกินข้าวเหนียว วันดีคืนดีรัฐบาลไม่เอาแล้ว ทั้งประเทศต้องกินข้าวเหนียวโดยสั่งมาทางท้องถิ่น จึงสวนทางกับการพัฒนาในบริบทท้องถิ่น
ฉะนั้นอำนาจหน้าที่ควรให้ท้องถิ่นได้ใช้งบประมาณจากการที่จัดเก็บในลักษณะท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง 50-50 คิดว่าบ้านเมืองควรจะก้าวผ่านการพัฒนาด้านการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชน
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผมเห็นด้วย ปัจจุบันรัฐแต่งตั้งมา คนเหล่านี้ต้องพึ่งการเมืองอยู่แล้ว ประเด็นต่อมาคือผู้ว่าฯไม่รู้วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น ผู้ว่าฯบางคนมาจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ แต่มาอยู่ จ.ชลบุรี พบว่าผู้ว่าฯบางคนยังไม่เคยมาพื้นที่ ต.โคกขี้หนอน อ.พานทอง เลย เพราะบางคนมาดำรงตำแหน่งแค่ 2-3 ปี
ขณะที่การเลือกตั้งนายก อบจ.จะพบว่าสามารถไปได้ทุกท้องถิ่น เพราะต้องดูแลประชาชน และฐานคะแนนเสียง เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะฉะนั้นบริบทจะต่างกันสิ้นเชิง
การแก้ไขกฎหมายเป็นการลดอำนาจจากส่วนกลาง ที่แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น หลายประเทศมีเพียงส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังขยายออกไปอีกมีทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำให้จะได้งบประมาณมาพัฒนาท้องถิ่นสักก้อน ต้องผ่านหลายขั้นตอน ทำไมไม่ให้ท้องถิ่นตัดสินใจไปเลย
หลายคนกลัวว่าผู้ว่าฯ และนายอำเภอจะตกงาน ทั้งที่ความเป็นจริงควรเอาหน่วยงานเหล่านี้ ไปเป็นหน่วยงานในการดูแล ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับการพัฒนาของท้องถิ่น โดยตั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอ ตรวจสอบอนุมัติงบประมาณต่างๆ ให้มีความโปร่งใสถูกต้อง คล้ายกับการทำงานของ สตง. เพิ่มระบบการตรวจสอบไม่ดีกว่าหรือ ทำให้ทั้งผู้ว่าฯ และนายอำเภอไม่ตกงาน
จากการทำงานมา 23 ปี อยากให้ท้องถิ่นพัฒนาตรงกับความต้องการของชาวบ้าน ตามวัฒนธรรม จารีตประเพณีของท้องถิ่น ยกตัวอย่างในท้องที่ อบต.โคกขี้หนอน มีทั้งชาวคาทอลิก และชาวพุทธ กิจกรรมช่วงสงกรานต์ จะมีสรงน้ำพระ 2 ศาสนา ในอดีต อบต.โคกขี้หนอน สามารถสนับสนุนงบประมาณได้ แต่ปัจจุบันสนับสนุนไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ลดต่ำลง เนื่องมาจากรัฐบาลกลัว อบต.จะทุจริต ทำให้ขาดคุณภาพชีวิตเรื่องจิตและวิญญาณไป เพราะผู้นำศาสนาจะขัดเกลาให้ทุกคนเป็นคนดี แต่ อบต.ไม่สามารถสนับสนุนได้ หากย้อนดูการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าฯ นายอำเภอก็มาจากการเมืองทั้งนั้น
ท้องถิ่นควรจะก้าวไปถึงจุดที่มีการเลือกตั้งตัวแทนเองได้แล้ว เพราะกรุงเทพฯ ยังมีเลือกตั้งผู้ว่าฯได้ หัวเมืองจังหวัดต่างๆ ควรจะทำได้ แต่ผู้มีอำนาจมองว่า หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะเป็นผู้มีอิทธิพล และจะทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งที่รัฐบาลตรวจสอบได้ โดยเอาผู้ว่าฯและนายอำเภอ มาตั้งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งลงมาดูแลเลย
การเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศ 76 จังหวัด อาจจะมีการทุจริตก็ดำเนินการไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ก็เห็นว่าเกิดขึ้นน้อยมาก
จึงอยากให้ทุกจังหวัดมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เหมือนกรุงเทพฯและเมืองพัทยา จะทำให้การทำงานของท้องถิ่นเป็นไปตามกายภาพของท้องถิ่นนั้นๆ