Chonburi Sponsored

ประทับใจปนเศร้า สุนัขวิ่งตามหีบศพเจ้าของ ระยะทางกว่า 10 กม. จนถึงเขตวัด

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

“เจ้าอาน” สุนัขวิ่งตามรถบรรทุกหีบศพเจ้าของ ที่ทางญาติๆ นำไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัด เป็นระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร เชื่อเป็นการแสดงความผูกพัน สั่งลาต่อเจ้าของเป็นครั้งสุดท้าย

จากกรณีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ รู้หน้า ไม่รู้ใจ ได้โพสต์คลิปวิดีโอความยาวประมาณ 5 นาที ที่ถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ ขณะที่สุนัขวิ่งตามรถยนต์กระบะบรรทุกร่างผู้เสียชีวิตที่บรรจุในโลงศพ ซึ่งทางญาติๆ เคลื่อนจากบ้านพักไปยังวัดเพื่อทำพิธีฌาปนกิจ ทำเอาเจ้าของสงสารและรับรู้ถึงความรักที่มีให้ต่อเจ้านายที่เสียชีวิตไป

ล่าสุด วานนี้ (7 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางมายังบ้านเลขที่ 428/1 ม.12 ต.หมอนนาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ได้พบกับ นางปราณี แสงทอง อายุ 65 ปี เจ้าของบ้านและเป็นภรรยาของผู้เสียชีวิต เล่าว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ช่วงเที่ยงวันทางครอบครัวและญาติๆ ได้เคลื่อนร่างของ นายวิทูรย์ แสงทอง อายุ 71 ปี ซึ่งเป็นสามี ที่เสียชีวิตจากโรคประจำตัวไปที่วัดทุ่งเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เพื่อทำพิธีฌาปนกิจ

ระหว่างเดินทางสุนัขที่ผู้ตายเลี้ยงเอาไว้ชื่อ เจ้าอาน เพศเมีย อายุ 7 ปี ได้ออกวิ่งตามรถที่เคลื่อนศพไปที่วัด นับเป็นระยะทางประมาณเกือบ 10 กิโลเมตร

โดย นางปราณี ยังเปิดเผยต่อไปอีกว่า  สุนัขตัวดังกล่าวเป็นลูกของสุนัขจรจัด ที่สามีเลี้ยงเอาไว้ตั้งแต่แรกเกิด ลักษณะลำตัวสีขาว จุดน้ำตาลแดง หลังอาน จึงเรียกชื่อเจ้าอาน มาตั้งแต่เล็ก เป็นสุนัขที่ชอบนั่งรถจยย.พ่วงข้างไปไร่ไปนากับสามีเป็นประจำ

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สามีออกไปเก็บผักบุ้งกลางทุ่ง เกิดเป็นลม เจ้าอานได้วิ่งกลับมาที่บ้าน คนที่อยู่บ้านแปลกใจว่าทำไมเจ้าอานกลับมาโดยที่สามีไม่ได้กลับมาด้วย จึงได้ตามไปดู ก็พบว่านายวิทูรย์ เป็นลมอยู่กลางทุ่ง เชื่อว่าเจ้าอาน นั้นได้วิ่งกลับมาบ้านเพื่อตามให้คนในครอบครัวไปช่วยเหลื

นอกจากนี้ เจ้าอาน ยังแสดงออกถึงความกล้าหาญ คอยปกป้องเตือนภัยให้เจ้าของรู้อยู่ตลอด มีหลายครั้งที่งูเห่าเลื้อยเข้ามาภายในบริเวณบ้านก็ถูกเจ้าอานกัดจนงูตาย รวมถึงคนแปลกหน้าที่เข้ามาก็จะเห่าขู่ให้เจ้าของทราบ

สำหรับเหตุการณ์เมื่อวานตนเองนั้นไม่ได้ไปเผาศพของสามี ซึ่งเป็นความเชื่อมาแต่โบราณ คือเป็นสามีภรรยาจะไม่เผาศพกัน พอมาเห็นคลิปที่เจ้าอานวิ่งตามรถบรรทุกศพสามีก็รู้สึกสงสารและประทับใจต่อความรักความซื่อสัตย์ของมัน

ส่วนทางด้าน นายสมคิด พิมพ์กรัด อายุ 50 ปี ญาติอีกคนที่นั่งท้ายรถกระบะที่อยู่ในคลิปเหตุการณ์ เล่าว่า เจ้าอานไม่เคยออกนอกบ้านมาไกลถึงขนาดนี้ ปกติจะวิ่งตามอยู่ละแวกใกล้ๆ บ้าน แต่ครั้งนี้วิ่งตามนับรวมระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร โดยต้องผ่านตลาด ชุมชน แถมยังมีสุนัขเจ้าถิ่นหลายตัว

ตนเองจึงต้องคอยกันไม่ให้เจ้าอานถูกรุมกัด กระทั่งวิ่งตามจนเข้าเขตวัดในจังหวะที่รถชะลอตัวเจ้าตาลจึงกระโดดขึ้นรถ และภายหลังหลังเสร็จสิ้นพิธี ตนเองจึงนำตัวเจ้าอาน ขึ้นหลังรถเดินทางกลับบ้าน

ส่วนตัวเชื่อว่าเจ้าอาน มีความรักความผูกพันกับผู้ตาย จึงได้วิ่งมาเป็นระยะทางไกลนับสิบกิโลเมตร คงเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อเจ้าของโดยการมาส่งนายวิทูรย์ เป็นการสุดท้าย

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม