‘น้ำมันรั่วทะเลระยอง’ ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หาก…
กรณีเหตุน้ำมันรั่วไหลลงทะเลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุติดต่อกันถึง 2 ครั้ง ทั้งเรือบรรทุกน้ำมันอับปางกลางอ่าวไทยในพื้นที่ จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 และท่อน้ำมันดิบรั่วในพื้นที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศทางทะเลเป็นบริเวณกว้าง
โดยเฉพาะเหตุเกิดที่ จ.ระยอง เมืองท่องเที่ยวชื่อดัง ซึ่งคราบน้ำมันลอยอยู่ห่างจากฝั่งเมืองระยองเพียง 6.5 กิโลเมตร และห่างจากเกาะเสม็ดเพียง 12 กิโลเมตรเท่านั้น คราบน้ำมันจะถูกพัดเข้าบริเวณชายหาดแม่รำพึง อันเป็นสถานที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวของ จ.ระยอง ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ชายหาดและระบบนิเวศบริเวณดังกล่าวอย่างมาก
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกองทัพเรือ กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต่างระดมสรรพกำลังหลายร้อยชีวิต พร้อมอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ ลงพื้นที่เพื่อจัดการน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงทะเล เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง
นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้ออกประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ภัยอื่นๆ (ภัยจากน้ำมันดิบรั่วไหล) ในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง เพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว
เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลเกิดขึ้นหลายครั้ง สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีบทเรียนอีกหลายกรณีที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนก่อความเสียหายให้กับทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะแหล่งปะการังและหญ้าทะเล ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดการฟื้นฟูทำได้ลำบาก และต้องใช้เวลานานนับสิบปี
อย่างกรณีที่เลวร้ายที่สุดเมื่อปี 2556 ที่มวลน้ำมันดิบถาโถมใส่เกาะเสม็ดจนระบบนิเวศพังพินาศยังฝังอยู่ในความทรงจำตลอดมา
หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ต้องดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี ใช้เวลาหลายปีกว่าคดีจะสิ้นสุดอย่างเช่น กรณี เรือสินค้าโกลบอลสแตนดาร์ด สัญชาติปานามา เกยตื้นสร้างความเสียหายให้กับแนวปะการังกว่า 20 ไร่ บริเวณเกาะร้านดอกไม้ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี ซึ่งดำเนินคดีฟ้องร้องสิ้นสุดแล้ว ได้เงินชดใช้ค่าเสียหายกว่า 62 ล้านบาท ใช้เวลาดำเนินคดีกว่า 5 ปี
และยังมีกรณีเรือเฟอร์รี่เกยตื้นบริเวณแหล่งปะการังในพื้นที่อ่าวท้องศาลา เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เสียหายกว่า 253 ตารางเมตร เรียกค่าเสียหายกว่า 19.09 ล้านบาท
และกรณีบริษัท กานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด ก่อสร้างสนามบินทำให้ดินไหลลงสู่ชายหาดบริเวณใกล้เคียง และแนวปะการังได้รับความเสียหาย เนื้อที่กว่า 8,250 ตารางเมตร เรียกค่าเสียหายกว่า 614 ล้านบาท
ซึ่งใน 2 กรณีหลัง ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการของชั้นศาล ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาคดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อนำมาฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลไปพลางก่อน
จากสถานการณ์ครั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นประกาศชัดถึงมาตรการที่ภาคเอกชนที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเล ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยทันที เพราะหน่วยงานภาครัฐต่างต้องจัดสรรงบประมาณที่มีแผนการใช้จ่ายอยู่แล้ว เพื่อนำมาจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
อย่างกรณีเรือบรรทุกน้ำมันดีเซล ป.อันดามัน 2 อับปางกลางอ่าวไทยในพื้นที่จังหวัดชุมพร และกรณีเรือบรรทุกน้ำมันดิบบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) รั่วในพื้นที่จังหวัดระยอง รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก รวมถึงกำลังพลและเครื่องมือต่างๆ เพื่อเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้
ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดการผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากการปนเปื้อนของน้ำมันในน้ำทะเล คราบน้ำมันที่ติดบริเวณชายหาดและท้องน้ำ รวมถึงผลกระทบจากสารเคมี dispersant ที่ใช้ในการกำจัดน้ำมัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อตัวอ่อนปะการัง ปะการัง และหญ้าทะเล ในบริเวณข้างเคียง
งานนี้รัฐมนตรี ทส.ได้ยกทีมลงพื้นที่พร้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เพื่อติดตามและหาแนวทางแก้ไขบริหารจัดการสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
คงไม่เป็นการเกินไปที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาเรียกร้องให้มีมาตรการ หรือแหล่งกองทุน สำหรับผู้ประกอบการน้ำมัน หรือบริษัทเดินเรือที่อาจก่อผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวจะได้รับแก้ไข ซึ่งก็เชื่อว่า อย่างนายวราวุธคงไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เงียบลงง่ายๆ อย่างแน่นอน
งานนี้สังคมคงต้องช่วยกันสนับสนุน และผลักดันให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อความคงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป