Chonburi Sponsored

เกิด​เหตุ​ฆาตกรรมอำพรางใน จ.ชลบุรี มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ตร.เชิญผู้เกี่ยวข้องสอบสวน

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์ข่าวศรีราชา -​ เกิดเหตุฆาตกรรมอำพรางในหมู่บ้านแห่งหนึ่งเขต อ.พนัสนิคม​ จ.ชลบุรี ช่วงค่ำที่ผ่านมา โดยพบรอง ผอ.โรงเรียนเอกชนถูกฆ่าปาดคอดับคาบ้าน ขณะพี่ชายลื่นล้มดับในห้องน้ำของบ้านอีกหลัง ตร.เร่งเชิญตัวสามี รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องสอบปากคำ

เมื่อเวลา 19.00 น.วันนี้ (3 ส.ค.)​ พ.ต.ท.อรรณพ ผันอากาศ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.พนัสนิคม ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุฆาตกรรมภายในบ้านเลขที่ 151 ม.11 ซึ่งอยู่ภายในโครงการหมู่แห่งหนึ่งใน ต.ไร่หลักทอง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี จึงประสานหน่วยกู้ภัยสว่างเหตุ บ้านทุ่งเหียง พนัสนิคม พร้อมแพทย์เวรโรงพยาบาลพนัสนิคม เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ

จากการตรวจสอบภายในบ้านพบศพ นางจันทณี สันติธรรมากร อายุ 61 ปี รองผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม สภาพมีบาดแผลจากการถูกของมีคมปาดที่บริเวณ​ลำคอ แขนซ้ายและหน้าท้องจนเป็นแผล​ฉกรรจ์​เสียชีวิตอยู่ภายในห้องน้ำ เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันเคลื่อนย้ายศพมาไว้ยังหน้าบ้าน

นอกจากนั้น ยังได้รับแจ้งว่าที่บ้านอีกหลังซึ่งอยู่ภายในหมู่บ้านเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตจากการลื่นล้มทราบชื่อคือ นายชูศักดิ์ สันติธรรมากร อายุ 70 ปี ซึ่งเป็นพี่ชายของสามีรองผู้อำนวยการโรงเรียนที่พบศพก่อนหน้า


เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานอาจเป็นเหตุฆ่าชิงทรัพย์ แต่จากการตรวจสอบภายในบ้านทั้ง 2 หลังไม่พบว่ามีทรัพย์สินใดๆ หายไป ซึ่งคนร้ายน่าจะหลบจะหนีไปก่อนหน้าที่จะมีคนมาพบศพ 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ตัดประเด็นการฆาตกรรมอำพราง และได้นำตัวสามีผู้ตาย รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดไปทำการสอบปากคำ เพื่อนำไปสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนหาตัวคนร้ายดำเนินคดีตามกฎหมาย​

จากการสอบถาม นายสมยศ อัศวจารุวรรณ อายุ 52 ปี หลานเขยผู้เสียชีวิต​ทราบว่า ตนเองได้รับแจ้งจากสามีของรองผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ไปดูพี่ชายที่เสียชีวิตอยู่ในบ้านอีกหลังที่อยู่ภายในหมู่บ้านเดียวกัน โดยไม่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น

แต่ยังไม่ทันเดินทางไปถึงก็ได้รับโทรศัพท์จากสามีของรองผู้อำนวยการโรงเรียนว่า รองผู้อำนวยการ​โรงเรียนเสียชีวิตจากการลื่นล้มในห้องน้ำจึงรีบไปดู แต่พบว่าถูกทำร้ายด้วยการใช้มีดปาดคอ


ขณะที่ นายธนบดี สกุลแสง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ต.ไร่หลักทอง บอกว่า ได้รับแจ้งเหตุคนเสียชีวิตติดต่อกัน 2 ศพ จึงเดินทางไปดูศพแรกที่เป็นผู้ชายก่อน จากนั้นจึงรีบไปดูศพของรองผู้อำนวยการโรงเรียน จึงรีบโทรศัพท์แจ้ง 1669 ในทันที

และจากการ​สอบถาม น.ส.วชิรา ศุกระกาญจนะ อายุ 53 ปี เพื่อนบ้านรองผู้อำนวยการ​โรงเรียน ทราบว่า วานนี้ยังคงพูดคุยกับรองผู้อำนวยการโรงเรียน เกี่ยวกับเรื่องการเจ็บป่วยของญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นยายที่มีอายุมากแล้ว โดย​ระหว่าง​การพูดคุยผู้เสียชีวิตมักพูดว่าไม่อยากอยู่เนื่องจากอายุมากแล้ว

“ไม่คิดว่าการพูดคุยครั้งสุดท้ายจะเป็นลางบอกเหตุ ซึ่งเมื่อวานยังคิดว่าเป็นการพูดเล่นแต่วันนี้เมื่อพบว่ามีการเสียชีวิตจริงรู้สึกเสียใจมาก เพราะนับถือผู้เสียชีวิตเหมือนพี่สาวแท้ๆ เพราะที่ผ่านมา ทางครอบครัวนี้มีการช่วยเหลือมาโดยตลอด” น.ส.วชิรา กล่าว

Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม