Chonburi Sponsored

ผู้ว่าฯชลบุรี พร้อมนายกเหล่ากาชาด ลงพื้นที่ให้กำลังใจปชช. ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 พร้อมเยี่ยม CI อำเภอพนัสนิคม

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่ว่าการอำเภอพนัสนิคม นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนางสุภาพร เทียนไชย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล ปลัดจังหวัดชลบุรี นางศุทธิกานต์ วงศ์สถิตจิรกาล รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี นางอาภรณ์ ใหม่มงคล นายอำเภอพนัสนิคม และคณะ ร่วมกันมอบถุงยังชีพและอาหาร ให้กับผู้นำชุมชน 5 ตำบล คือตำบลไร่หลักทอง ตำบลบ้านเซิด ตำบลหมอนนาง ตำบลนาเริก และตำบลหนองเหียง จำนวน 560 ชุด เพื่อนำไปแจกจ่ายสำหรับประชาชนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีและคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ชุมชนบ้านสวนตาล ตำบลไร่หลักทอง อำเภอพนัสนิคม โดยนำถุงยังชีพและอาหารไปมอบให้กับประชาชนกว่า 50 ครอบครัว พร้อมเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 2 ราย และเดินทางไปยังสถานที่แยกกักตัวในชุมชน : CI 2 แห่ง คือ ศูนย์ฯ วัดเนินสังสฤษฎาราม ตำบลไร่หลักทอง รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในระดับสีเขียวได้ 50 เตียง ปัจจุบันดูแลผู้ป่วยอยู่จำนวน 38 ราย และศูนย์ฯ หมู่บ้านกานต์สินี ตำบลนามะตูม รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดระดับสีเขียวได้ 200 เตียง ปัจจุบันดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 88 ราย ทั้งนี้ได้นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยอีกด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ย้ำว่าหากพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ สามารถติดต่อหรือขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมทุกอำเภอหรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี หรือสามารถโทรสายด่วนที่เบอร์ 1567
Chonburi Sponsored
อำเภอ พนัสนิคม

สมัยเมืองพนัสนิคม ในปี พ.ศ. 2371 กำเนิดเมืองขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มลาวอาสาปากน้ำมาสร้างภูมิลำเนาขึ้นในพื้นที่รกร้างระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา พระราชทานนามเมืองว่าพนัสนิคม (บางเอกสารเขียน“พนัศนิคม”) มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ขึ้นกับกรมท่า กรุงเทพมหานคร ให้ท้าวอินทิสาร (บางเอกสารเขียน”อินทพิศาล”) หรือ ท้าวทุม ปลัดลาว เมืองสมุทรปราการ บุตรชายคนโตของท้าวไชย (บางเอกสารเขียน”ศรีวิไชย”) อุปราชเมืองนครพนม ให้เป็นเจ้าเมืองพนัสนิคมคนแรกและพระราชทานราชทินนามและบรรดาศักดิ์ที่พระอินทอาษา (บางเอกสารเขียน“อินทรอาษา, อินทอาสา, อินทราษา“) มีข้อความในพระราชพงศาวดารว่า “พวกลาวอาสาปากน้ำ ตั้งขึ้นเมื่อครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ภายหลังเมื่อปีชวดสัมฤทธิศก พวกลาวไม่สบาย ขอไปตั้งอยู่ที่เมืองพระรถ จึงโปรดให้ตัดเอาแขวงเมืองชลบุรี เมืองฉะเชิงเทรา มาตั้งเป็นเมืองขึ้นชื่อเมืองพนัศนิคม เจ้าเมืองชื่อพระอินทอาษา” (พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 หน้า 180) โดยลาวบุกเบิกเมืองพนัสนิคม เป็นลาวเมืองนครพนม อ้างถึงการอพยพมาสยามครั้งแรกนำโดยท้าวไชย อุปราชเมืองนครพนม เป็นโอรสในพระบรมราชา (ท้าวกู่แก้ว) เจ้าเมืองนครพนม (เมืองนครพนมในอดีต เป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ ประเทศราชของสยาม) ไม่สมัครใจอยู่ในปกครองของพระบรมราชา (มัง) เจ้าเมืองนครพนมคนใหม่ จึงอพยพพาสมัครพรรคพวก บุตรหลาน ท้าวเพี้ย ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 และโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่คลองมหาวงษ์ เมืองสมุทรปราการ ยุคนั้นจึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่าพวกลาวอาสาปากน้ำ แต่ทนสภาพแวดล้อมไม่ไหว เพราะเป็นชาวดอนน้ำจืด ถูกให้ไปอยู่เมืองลุ่มน้ำกร่อยและเค็ม เลยขอเปลี่ยนไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสภาพใกล้เคียงที่ดอน ลาวนครพนมกลุ่มนี้ได้บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม