Chonburi Sponsored

“อธิบดีกรมทะเลและชายฝั่ง” นำทีมลงพื้นที่ติดตามการระบาดของโรคปะการังแถบสีเหลือง บริเวณ เกาะขาม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

ประชาสัมพันธ์

“อธิบดีกรมทะเลและชายฝั่ง” นำทีมลงพื้นที่ติดตามการระบาดของโรคปะการังแถบสีเหลือง บริเวณ เกาะขาม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

วันอังคาร ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, 16.23 น.

ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

“อธิบดีกรมทะเลและชายฝั่ง” นำทีมลงพื้นที่ติดตามการระบาดของโรคปะการังแถบสีเหลือง บริเวณ เกาะขาม อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยภายหลังจากลงดำน้ำเพื่อติดตามการระบาดของโรคปะการังแถบสีเหลือง บริเวณเกาะขาม ว่า ภายหลังจากที่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.) เรื่องการสำรวจระบบนิเวศแนวปะการังในปี 2564 – 2565 จำนวนทั้งสิ้น 90 สถานี ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ในบริเวณอ่าวไทยตอนบนและตอนกลาง พบว่าโรคแถบสีเหลืองนั้นกระจายตัวอยู่ เฉพาะบริเวณเกาะสัตหีบ – แสมสาร จังหวัดชลบุรี จำนวน 11 สถานี นับเป็นรายงานการพบโรคนี้ครั้งแรกในประเทศไทย ปะการังส่วนใหญ่ที่สำรวจพบว่าเป็นโรค ได้แก่ ปะการังโขด และปะการังเขากวาง โดยปริมาณการพบคิดเป็นร้อยละ 1 – 10 ของปะการังทั้งสองชนิด ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำเสมอถึงแนวทางในการดูแลทรัพยากรใต้ท้องทะเล โดยเฉพาะทรัพยากรปะการังที่ถือว่าเป็นแหล่งระบบนิเวศทางทะเลที่มีขนาดกว้างใหญ่ อีกทั้งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหลบภัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งกำชับให้กรมฯ ดำเนินการสำรวจแนวปะการังที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรเหล่านี้ให้คงอยู่อย่างปลอดภัยและสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตนไม่ได้นิ่งนอนใจได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจและติดตามสถานการณ์ของปะการังพร้อมทั้งสรุปรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบ โดยในวันนี้ (29 พฤศจิกายน 2565) ตนพร้อมด้วยนายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (จ.ชลบุรี) ลงพื้นที่ติดตามการระบาดของโรคปะการังแถบสีเหลือง บริเวณ เกาะขาม ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มูลนิธิรักษ์ปะการังในความอุปถัมภ์ของบมจ. เอซีจี วีนิไทย เทศบาลสัตหีบ องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร ผู้ทรงคุณวุฒิ คณบดีจากมหาวิทยาลัยบูรพา คณะเทคโนโลยีทางทะเล วิทยาเขตจันทบุรี และชมรมนักดำน้ำอาสาสมัครแสมสาร ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ 

นายอรรถพล กล่าวว่า จากการรายงานเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ทราบว่า ขณะนี้ได้มีการกระจายตัวของโรคระบาดไปยังปะการังหลายชนิด เช่น ปะการังเขากวาง ปะการังโขด ปะการังลายดอกไม้ ปะการังดอกไม้ ปะการังดอกกะหล่ำ ปะการังวงแหวน ปะการังช่องเล็ก และปะการังช่องเหลี่ยม ซึ่งถือว่าการแพร่ระบาดของโรคในแนวปะการังเป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร จะต้องมีการวางแผนเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะบริเวณที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคนั้นมีขนาดของพื้นที่รวม 1,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ใช้คำว่าโรคระบาด ซึ่งข้อมูลจากนักวิชาการของกรมฯ แจ้งว่า การระบาดที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Vibrio ซึ่งปะการังแต่ละชนิดก็จะเป็นแบคทีเรียที่แตกต่างกัน ภายหลังจากนี้ กรมฯ จะมีการหารือร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อศึกษาและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กลไกของคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเพื่อพิจารณาและกลั่นกรองร่วมกัน นอกจากนี้แล้วกรมฯ ได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ประกอบด้วย กองทัพเรือ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อีกทั้งช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อทรัพยากรปะการัง

ด้วยเหตุนี้ กรมฯ จะมีการกำหนดขอบเขตเพื่อเตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครอง พร้อมทั้งหารือร่วมกับอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลเพื่อหาทางออกหลังจากที่แปลงเพาะปลูกปะการังได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สุดท้ายนี้ การย้ายปะการังที่ไม่ได้รับผลกระทบออกจากปะการังที่ติดเชื้อจากแบคทีเรียนั้น คิดว่าเป็นเรื่องง่าย แต่พอได้ลงพื้นที่สำรวจแล้วกลับกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก เพราะปะการังที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนมหาศาล จะต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดีและใช้กำลังพลเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม กรมฯ ต้องหารือกับทีมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังอีกครั้ง เพื่อช่วยกันหาแนวทางในการขนย้ายปะการังที่ติดเชื้อออกจากพื้นที่ต่อไป “นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย”

ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

Chonburi Sponsored
อำเภอ สัตหีบ

ช่วงประมาณรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 สัตหีบเป็นเพียงหมู่บ้านชายทะเล ชาวบ้านประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา หาของป่า และประมง การคมนาคมจะใช้ทางน้ำโดยเรือเมล์หรือเรือใบ ส่วนทางบกมีแต่ทางเกวียน ถนนไปชลบุรียังไม่มี ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นป่ารกทึบ การเดินทางระหว่างเมืองจึงใช้เรือเป็นหลัก ในหมู่บ้านสัตหีบ มีผู้ที่ชาวบ้านนับหน้าถือตามากอยู่คนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า "ยายแจง" แกมีฐานะดีมี ที่ดิน เรือ สวน ไร่นามากมาย ตลาดสัตหีบ หนองตะเคียนและโรงเรียนสิงห์สมุทรรวมถึงบริเวณเขาแหลมเทียนอันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือสัตหีบในปัจจุบันก็เคยเป็นของแก ต่อมา เมื่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงฝึกภาคทะเลกับกองเรือและทรงพักที่อ่าวสัตหีบ ทรงเห็นว่าอ่าวสัตหีบเหมาะเป็นที่ตั้งหน่วยเรือ เพราะมีเกาะใหญ่น้อยช่วยกำบังคลื่นลม พระองค์จึงได้บอกถึงพระประสงค์ที่จะใช้บริเวณเขาแหลมเทียนเป็นที่ตั้งหน่วยทหารเรือ ยายแจงก็ยินดีที่จะถวายให้