Chonburi Sponsored

ฝนยังถล่มหนัก! เตือน40จว.เสี่ยงท่วมฉับพลัน สุราษฎร์อ่วม/ผู้ว่าฯสั่งรับมือ

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

วันเสาร์ ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.

ฝนยังถล่มหนัก!

เตือน40จว.เสี่ยงท่วมฉับพลัน

สุราษฎร์อ่วม/ผู้ว่าฯสั่งรับมือ

กรมชลฯชี้น้ำปีนี้พอใช้ฤดูแล้ง

กรมอุตุฯเตือนทั่วไทยยังมีฝนตกหนัก ภาคกลางกทม.-ปริมณฑล ตะวันออก และภาคใต้ 40 จังหวัดมีฝนร้อยละ 70 ระวังท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก ฝนถล่มสุราษฎร์หนัก ท่วมถนน อ.พุนพิน-อ.เมือง ผู้ว่าฯห่วงท่วมซ้ำ สั่งยกของขึ้นที่สูง ด้านกรมชลฯเผยปีนี้ปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี คาดเพียงพอใช้ช่วงฤดูแล้ง

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่าภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งโดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ทั้งนี้เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล

สำหรับอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามัน ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ ประเทศไทยมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันน้อย เนื่องจากมีฝนตกหลายพื้นที่

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ อากาศเย็นในตอนเช้าทางตอนบนของภาค โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ จ.ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร และพิจิตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาฯ บริเวณยอดดอยอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-16 องศาฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ บริเวณ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาฯ บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-18 องศาฯ

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาฯ กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาฯ

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาฯ ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาฯ ตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ธานีขึ้นมา ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราชลงไป ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 1 เมตรภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาฯ อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาฯ ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดฝนตกหนักหลายชั่วโมง ช่วงค่ำคืนวันที่24 พ.ย.ในหลายพื้นที่ทั้ง อ.เมือง, อ.พุนพิน และอ.ท่าฉาง ทำให้น้ำระบายไม่ทัน เกิดน้ำท่วมฉับพลัน บนถนนทางหลวง 401 พุนพิน-สุราษฎร์ธานี เขตเทศบาลเมืองท่าข้ามอ.พุนพิน ตั้งแต่หน้าโรงเรียนพุนพินพิทยาคม–แยกกืโลเมตรที่ 0-ควนท่าล้อน ทั้ง4ช่องจราจรขาไป อ.เมืองรวมถึงขาออกจาก อ.เมือง โดยเฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเล็ก รถยนต์โหลดเตี้ย และรถจักรยานยนต์ผ่านไม่ได้ ซึ่งบางช่วงใช้ได้1ช่องจราจรที่อยู่ริมเกาะกลางถนน ส่งผลให้การจราจรติดยาวสะสมถึงสามแยกวัดมะปริง เขตเทศบาล ต.วัดประดู่ อ.เมือง เป็นเวลากว่า3ชั่วโมงระดับน้ำลดลง จึงคลี่คลาย

ส่วนพื้นที่ อ.ไชยา ได้เกิดฝนตกหนักบริเวณเทือกเขา บ้านคลองไม้แดง หมู่ 7 และบ้านห้วยตาหมิง หมู่ 6 ต.ปากหมากได้มีน้ำสีขุ่นปริมาณมากไหลแรงลงมาผ่านหมู่บ้านจะไปลงสู่คลองไชยา

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าฯสุราษฎร์ธานี สั่งการให้ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอบต.ในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อาจเกิดน้ำท่วมซ้ำขึ้นอีก ขอให้ยกทรัพย์สินขึ้นไว้ที่สูง หากไม่ปลอดภัยให้นำผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงและเด็กๆออกไปอยู่ในที่ปลอดภัยก่อนเนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักยังไม่หมด

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังวางแผนจัดสรรน้ำสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานทั่วประเทศ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2565/66 ของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยย้ำให้ทุกโครงการชลประทาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น และกลุ่มผู้ใช้น้ำ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ และแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ให้เกษตรกรและประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจว่าตลอดฤดูแล้งนี้ ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงพอใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรไม่ขาดแคลน รวมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ขณะนี้พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลาง ได้เข้าสู่ฤดูแล้งตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยทั้งประเทศมีการจัดสรรน้ำรวม 27,685 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,663 ล้าน ลบ.ม.หรือ 10% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลักไว้ประมาณ 9,100 ล้าน ลบ.ม.มีการใช้น้ำไปแล้ว 449 ล้าน ลบ.ม.หรือ 5% ของแผนฯ ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกแล้ว1.42 ล้านไร่ หรือ 13% ของแผนฯ (แผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศวางไว้รวม 11.06 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกแล้ว 0.96 ล้านไร่ หรือ 14% ของแผนฯ (แผนเพาะปลูกลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางไว้ 6.74 ล้านไร่) ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันกว่า 63,794 ล้านลบ.ม.หรือ 84% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้รวมประมาณ 39,839 ล้าน ลบ.ม.เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,857 ล้าน ลบ.ม.หรือ 84% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 14,161 ล้าน ลบ.ม.ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

Chonburi Sponsored
อำเภอ เกาะจันทร์

พ.ศ. 2371 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มชาวลาวอาสาปากน้ำ บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม เป็นเมืองชั้นจัตวา สังกัดกรมท่า โดยบริเวณท่าบุญมี เป็นท่าน้ำและท่าเกวียน ขนส่งสินค้าป่าสู่เมืองพนัสนิคม ตั้งอยู่อยู่ในอาณาเขตเมืองพนัสนิคม พ.ศ. 2441 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีการปฏิรูปการปกครองประเทศและจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้เมืองพนัสนิคมเป็นอำเภอพนัสนิคม ยกฐานะเป็นตำบลท่าบุญมี ในอดีตมีสภาพเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ปรากฏหลักฐานบันทึกชื่อดงในตำบลท่าบุญมี เช่น ดงดอกไม้ ดงรากไม้ เป็นต้น โดยอาจมีต้นจันทน์มาก จึงเรียกว่า "เกาะจันทร์"