กลิ่นเลือกตั้งโชย! เหตุ กกต.สรุป ส.ส.400 เขตทั่วประเทศ ‘กทม.33-โคราช 16-ขอนแก่น-เชียงใหม่-อุบลฯ 11 เก้าอี้’ ขณะที่ ‘บิ๊กตู่’ เรียก “วิษณุ” ถกด่วน 2 ชม.อ้างหารือซักฟอก ม.152
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่านายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต.ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต.มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 1 ก.พ.65 ถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร แจ้งประกาศจำนวนราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรและการเตรียมความพร้อมในการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. หลังสำนักทะเบียนกลางกระทรวงมหาดไทย ส่งประกาศสำนักทะเบียนกลางเรื่องจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 มาให้ และสำนักงานได้คำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2564 กำหนด เพื่อให้สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ที่จำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดจะพึงมีเกิน 1 คน เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับจะได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
โดยจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศ 66,171,439 คน และกฎหมายกำหนดให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน กกต.คำนวณจำนวนราษฎรเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน อยู่ที่ 165,428.5975 คน ซึ่งจังหวัดที่มี ส.ส.มากสุดยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร 33 คน ตามมาด้วย นครราชสีมา 16 คน
ส่วนที่มี ส.ส. 11 คน มี 3 จังหวัด คือขอนแก่น เชียงใหม่ และอุบลราชธานี ที่มี ส.ส. 10 คนมี 2 จังหวัด คือ ชลบุรี และบุรีรัมย์ ที่มี ส.ส. 9 คนมี 4 จังหวัด คือนครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ สงขลา และอุดรธานี
ที่มีส.ส. 8 คนมี 5จังหวัดคือ เชียงรายนนทบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ และสุรินทร์ ที่มีส.ส 7 คนมี 4 จังหวัด คือ ชัยภูมิปทุมธานี สกลนคร และสุราษฎร์ธานี
ที่มีส.ส. 6 คนมี 5จังหวัดคือ กาฬสินธุ์นครปฐม นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และมหาสารคาม เป็นต้น
หากคิดจำนวน ส.ส.เป็นรายภาคโดยตามประกาศ กกต.เรื่องบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด 2560 ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและ 26 จังหวัดจะมี ส.ส. 139 คน ภาคใต้ 14 จังหวัดจะมี ส.ส. 58 คน ภาคเหนือ 16 จังหวัดจะมี ส.ส. 71 คน และภาคอีสาน 20 จังหวัดจะมี ส.ส 132 คน
ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือเป็นการด่วนที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ใช้เวลาหารือนานกว่า 2 ชั่วโมง
ขณะที่นายวิษณุเปิดเผยว่า นายกฯสอบถามถึงเรื่องการอภิปรายทั่วไปที่จะมีขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมว่ามีประเด็นใดบ้าง เนื่องจากบางเรื่องนายกฯอ่านญัตติแล้วไม่เข้าใจว่าบางข้อนั้นหมายความว่าอย่างไร และผู้ยื่นหมายถึงพฤติกรรมอะไร
นายวิษณุให้สัมภาษณ์ปมความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากมีการยุบสภาระหว่างที่ยังไม่เสร็จ ว่า ถ้ายุบสภาเกิดขึ้นมันจะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก แต่อันที่จริงสามารถกล้อมแกล้มทำอะไรไปพลางได้ แต่มันจะเกิดการถกเถียงกันขึ้น คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายจึงไม่มีข้อยุติ จะยุ่งยาก
เมื่อถามว่า สามารถออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือออกเป็นประกาศ กกต.แทนได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กกต.เขาไม่กล้าออกหรอก และ พ.ร.ก.เองถ้าไว้ใจให้รัฐบาลออกก็ออกได้ แต่คงไม่มีใครไว้ใจให้รัฐบาลเขียนกติกา เพราะการเขียน พ.ร.ก.นั้น คือ การให้รัฐบาลกำหนดกติกาเอง ฉะนั้น มันจะเกิดปัญหา