หลังปิดม่านประชุมเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ หมากทุกตัวบนกระดานการเมืองเริ่มปักหมุดลงตัว
เพราะใกล้สิ้นสุดเทอมของรัฐบาล และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยตามลำดับภายในสิ้นเดือนนี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดย รศ.ดร.พิชาย ฉายภาพผลการประชุมเอเปกที่จบไป ไม่ได้ทำให้กระแสของรัฐบาลดีขึ้นเมื่อเทียบกับความรู้สึกของประชาชนสะสมมา 3 ปีกว่า
และกะเทาะเปลือกให้เห็นแก่นแห่งการตัดสินใจของ “บิ๊กตู่” เริ่มจากสูตรเลือกอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
“บิ๊กตู่” ต้องจับเข่าคุย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้า พปชร. ตกลงให้ชัดเจนว่า ใครเป็นเบอร์ 1 ของ พปชร.ที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ
ปมอันหนึ่งที่ทำให้ “บิ๊กตู่” ไม่อยากอยู่ พปชร. เพราะ “บิ๊กป้อม” ก็แสดงท่าทีต้องการเป็นเบอร์ 1 ขึ้นแคนดิเดตนายกฯ และสถานะของ “บิ๊กตู่” เองย่อมถอยเป็นเบอร์ 2 ไม่ได้
ยิ่งมองดูองค์ประกอบที่เป็น ส.ส.พปชร. ก็เกิดปรากฏการณ์มี ส.ส.บางคนสื่อสารให้สังคมทราบว่า บรรดา ส.ส.ต้องการได้ “บิ๊กป้อม” เป็นเบอร์ 1 และอยากให้ “บิ๊กตู่” มาอยู่ด้วย หวังเพิ่มคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ขาด “บิ๊กตู่” คะแนนบัญชีรายชื่อก็ต่ำเตี้ยมาก
ภายใต้สถานการณ์แบบนี้มีโอกาสเป็นพรรคขนาดกลาง ได้ ส.ส. 40-50 เสียง จาก ส.ส.เขตที่มีความผูกพันกับ “บิ๊กป้อม” และ ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ในกรณี “บิ๊กตู่” ไม่อยู่
นำไปสู่สูตร “บิ๊กตู่” ย้ายออกจาก พปชร. ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งไม่มีชื่ออยู่ในตารางสำรวจของนิด้าโพล คะแนนนิยมต่ำมาก โอกาสที่ รทสช.ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 เสียง เรียกว่าหืดขึ้นคอทีเดียว
แต่คนที่นิยมใน “บิ๊กตู่” ก็มาลงให้ รทสช. คาดได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10 เสียง ใกล้เคียงคะแนนนิยมที่มีอยู่กว่า 10% และส่งผลอิทธิพลต่อ ส.ส.เขตในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้
ปมปัญหาการเสนอชื่อเป็นนายกฯในสภาต้องอาศัย ส.ส. 25 เสียง หมายความว่าต้องดึงเอา ส.ส.ที่มีฐานเสียงในเขตเลือกตั้งเข้ามา รทสช.
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่เป็น ส.ส.พปชร. จ.ชลบุรี และ ส.ส.ภาคใต้-กทม. พปชร. อาจตามมา ดูแล้วปริ่มมากเลย ไม่แน่ใจได้เกิน 25 เสียงหรือเปล่า
ฉะนั้น เอาชัวร์ต้องดึง ส.ส.เกรดเอ 20 คน ภายใต้เงื่อนไขใช้ทรัพยากรมหาศาลดึง ส.ส.กลุ่มนี้เข้ามา
นับเป็นความยากลำบากที่ต้องเผชิญ โดยทำให้ รทสช.ได้ ส.ส.เกิน 25 เสียง ไม่ง่าย
ยิ่งดูฝีไม้ลายมือในสมรภูมิเลือกตั้ง ระดับความเก๋าเกมของ รทสช. ไม่รู้สู้พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยได้หรือไม่
อยู่ รทสช.เหนื่อยแน่–ไม่การันตีได้ ส.ส.25 เสียง
เอาชัวร์กลับ พปชร.–เคลียร์ “บิ๊กป้อม” ให้ยอม
ทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ยากลำบากของ “บิ๊กตู่” ตัดสินอนาคตการเมืองเลือกบนทางสองแพร่ง ถ้าเคลียร์ “บิ๊กป้อม” ไม่ยอม โอกาสกลับก็ยาก นับเป็นปมที่ต้องปิดให้ลงตัว
ระหว่างกลับ พปชร. กับไป รทสช.มีข้อดีกับ “บิ๊กตู่” หรือปีกอนุรักษนิยมอย่างไร

2 ป.ร่วมกันอยู่ อยู่ พปชร.เมื่อ “บิ๊กป้อม” ยอม “บิ๊กตู่” ได้รับการเสนอชื่อในสภาเป็นนายกฯ
แต่ติดปัญหา ดูจากนิด้าโพลความนิยมพรรคร่วมรัฐบาล โอกาสได้ ส.ส.เกิน 200 เสียงยากมาก แม้มีเสียง ส.ว.หนุนจน “บิ๊กตู่” ได้เป็นนายกฯ สุดท้ายกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ขาดเสถียรภาพ
ต่างจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล รวมกันได้ ส.ส.เกิน 250 แน่นอน และยังไม่นับรวมพรรคเสรีรวมไทย อาจได้สัก 10 เสียง
“บิ๊กตู่” เป็นนายกฯต่อ–รัฐบาลขาดเสถียรภาพ
2 ป.แยกอยู่คนละพรรค ก็เกิดปรากฏการณ์เดียวกัน แต่มันทำให้เกิดตัวเลือกในแง่ที่ว่า สมมติลงมติครั้งแรกไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ ลองเจรจาแล้วก็ยังไม่สามารถเป็นเสียงข้างมากได้
มีโอกาสดีลพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ “บิ๊กป้อม” ดูท่าทีพรรคเพื่อไทยก็เปิดท่ายอมรับในระดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทย พปชร. พรรคอื่นๆอีก 1-2 พรรค รวม ส.ส.เกิน 250 เสียง และได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.สาย “บิ๊กป้อม” อีก
“บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ–รัฐบาลมีเสถียรภาพ
ปรากฏการณ์ 2 ป.แยกพรรค กลุ่ม 3 ป.ยังไม่สูญสิ้นอำนาจ โดยมี “บิ๊กป้อม” ยังเกาะเป็นรัฐบาลอยู่
แต่ “บิ๊กตู่” อยู่ พปชร. ดีไม่ดีพรรคเพื่อไทยไม่ยอมจัดตั้งรัฐบาลด้วย มีโอกาสที่บรรดาพรรคการเมืองจับมือโค่น 3 ป.
“เพื่อไทย ภูมิใจไทย ก้าวไกล ร่วมโค่นแน่ อาจรวมไปถึงประชาธิปัตย์ด้วย แต่ได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ อันนี้ยังไม่แน่ ผนึกพรรคเล็ก เกิน 376 เสียง
ถ้าบรรลุ 376 เสียง อาจเผื่อไปถึง 380 เสียง เพื่อเอาชนะในการโหวตเลือกนายกฯ ให้ได้ และจัดตั้งรัฐบาลตามมา ซึ่งคนที่ขึ้นเป็นนายกฯ ตามสูตรนี้มีความเป็นไปได้หลากหลายขึ้นอยู่ในวงเจรจา
เช่น เพื่อไทยยอมให้คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าภูมิใจไทย เป็นนายกฯ หรือคุณอนุทินยอมให้ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ”
เพื่อโค่นล้ม 3.ป พปชร. เป็นฝ่ายค้าน
กลุ่ม 3 ป. แยกกันเดินร่วมกันตี หรือแตกคอกันจริงชิงขึ้นนายกฯ รศ.ดร.พิชาย บอกว่า เขาแยกกันเดิน ภายใต้เงื่อนไขไม่เห็นพ้องต้องกันบางจุด สุดท้ายอาจกลับมารวมกันได้ถ้าเกิดเหตุการณ์จำเป็น
3 ป.ไม่ได้แยกขาด แยกแบบมีเยื่อใย เปิดประตูสำรองให้จับมือพรรคเพื่อไทย ซึ่งยังทำให้ 3 ป. มีส่วนร่วมในอำนาจหลังเลือกตั้งอยู่

ขณะเดียวกันซีกฝ่ายค้านที่อยู่ในสถานะได้เปรียบ ถึงอย่างไร ถ้าผลการเลือกตั้งไม่มีอะไรพลิกผันในอนาคตอันใกล้นี้ ที่เกิดช็อกทั้งประเทศมันก็เป็นไปตามนิด้าโพล
โดยพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล ได้เสียงข้างมากในสภาแน่นอน เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และสภา กทม.ที่ผ่านมา
แน่นอนฝ่ายค้านมีฐานเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน แต่ฝ่ายอำนาจนิยมก็มีฐานอำนาจรัฐ ผ่านกลไกราชการสนับสนุน
ยกเว้นเกิดปาฏิหาริย์ซีกพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันได้เกิน 250 เสียง “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯต่อได้
“ตอนนี้ปม 3 ป.จะทำอย่างไรไม่ให้พรรคการเมืองจับมือกัน เพื่อชูคนอื่นขึ้นมาเป็นนายกฯ
เพื่อไม่ให้กวาดล้างอำนาจ เรียกว่าเป็นภาวะที่เป็นเวิสท์เคสของกลุ่มอนุรักษนิยม”
3 ป.ไม่ได้แยกขาด แยกแบบมีเยื่อใย การเคลื่อนไหวการเมืองแบบนี้ทำให้ปีกอนุรักษ์ต่อกรกับปีกก้าวหน้าได้อย่างไร รศ.ดร.พิชาย บอกว่า ปีกอนุรักษ์ไม่เข้มแข็งขึ้น รับรองเลือกตั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เอาแล้ว!!
เพราะกระแสอนุรักษ์แบบอำนาจนิยมภายใต้การนำของ 3 ป. มันตกต่ำมาก จำเป็นต้องพยายามรักษาสถานภาพเชิงอำนาจเอาไว้ให้ยาวนานที่สุด
โดยอาศัย “บิ๊กตู่” ที่เหมือนเป็นตัวแทนปีกอนุรักษนิยม ถ้าปราศจาก “บิ๊กตู่” ก็ยังไม่มีตัวแทน ถึงมีความพยายามดันให้นายกฯอยู่ต่อ
วันใดเจ้าตัวไม่เล่นการเมือง ย่อมทำให้ปีกอนุรักษนิยมอ่อนแอฐานเสียงเหล่านี้ก็กระจายไปที่พรรคประชาธิปัตย์ รทสช. พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคสร้างอนาคตไทย
ฉะนั้น มี “บิ๊กตู่” อยู่ย่อมดีเลย์การแตกสลายกลุ่มนี้
เพื่อประคองฐานเสียงอนุรักษนิยมให้คงอยู่ต่อไป.
ทีมการเมือง