Chonburi Sponsored

สังคมออนไลน์ภาคกลาง… ถวายมุทิตาสักการะ “พระครูอนุกูลศาสนกิจ” อายุวัฒนมงคล 68 ปี 49 พรรษา | เดลินิวส์

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

น้อมถวายมุทิตาสักการะ “พระครูอนุกูลศาสนกิจ”

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ วัดศาลาปูนวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด เข้ากราบน้อมถวายมุทิตาสักการะ “พระครูอนุกูลศาสนกิจ” อายุวัฒนมงคล 68 ปี 49 พรรษา เจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร ภายในงานพิธีได้มีคณะศิษยานุศิษย์มาร่วมงานมากมาย

ในช่วงเช้าศิษยานุศิษย์ นำโดย ว่าที่ร้อยตรี สมทรง สรรพโกศล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา พร้อมครอบครัวสรรพโกศลกุล คณะผู้บริหารเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ดร.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัด ร่วมจัดงานน้อมถวายมุทิตาสักการะ อายุวัฒนมงคล 68 ปี 49 พรรษา โดยมี พระเดชพระคุณพระพิศาลวิหารกิจ เจ้าอาวาสวัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร/เจ้าคณะตำบลท่าวาสุกรี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำคณะสงฆ์ สวดเจริญพระพุทธมนต์

โดยพระครูอนุกูลศาสนกิจ เจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา ได้ให้โอวาทแก่ศิษยานุศิษย์ ให้ปฏิบัติตนดำรงชีวิตให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ตามหลักธรรมคำสอน ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า มีสติสัมปชัญญะ ในการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท และดำรงรักษา สถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระหากษัตริย์ไว้ การปฏิบัติตนดีย่อมเกิดผลดี ชีวิตก็ย่อมพบแต่ความสุข (เผอิญ วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

พิธีสมรสคนดัง

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมงคลสมรสระหว่าง นายธิติ วงศ์สุทธิรัตน์ กับ นางสาวพรปวีณ์ วุฒิจรัสธำรงค์ บุตรี พลตำรวจโท ธนายุตม์ (ผบช.ภ.7) – นภัสนันท์ วุฒิจรัสธำรงค์ ณ ห้อง Royal Jubilee Ballroom Impact Muangthong Thani อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (สมคิด – สมนึก ลือประดิษฐ / นนทบุรี)

ผู้ว่าฯ อยุธยา นำถุงยังชีพประทานของ สมเด็จพระสังฆราช

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำคณะลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อำเภอผักไห่ และอำเภอบางบาล เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน จำนวน 200 ถุง และอาหารปรุงสุก จำนวน 2,000 กล่อง ประกอบไปด้วย อำเภอผักไห่ จำนวน 100 ถุง อาหารปรุงสุก จำนวน 1,000 กล่อง และอำเภอบางบาล จำนวน 100 ถุง และอาหารปรุงสุก1,000 กล่อง จากนั้น ผู้ว่าฯ และคณะ ได้ลงเรือไปเยี่ยมเยียนให้กำลังและมอบถุงยังชีพ ให้แก่ชาวบ้าน หมู่ 1 ตำบลกุฎี อำเภอผักไห่ จำนวน 8 หลังเรือน ที่ไม่สามารถออกมารับมอบสิ่งของและอาหารได้

นอกจากนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้มอบกัปปิยภัณฑ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น โดยมี นายรัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอผักไห่ ร้อยตำรวจตรีหญิง สายสุนี ไกรนรา นายอำเภอบางบาล หัวหน้าส่วนราชการ กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดฯ สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ร่วมลงพื้นที่มอบอาหารปรุงสุกที่นำมามอบให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอุทกภัย

สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 16 อำเภอ ปัจจุบัน ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบอีกจำนวน 8 อำเภอ 53 ตำบล 312 หมู่บ้าน 33,725 ครัวเรือน (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

รองผู้ว่าฯ อยุธยา สำรวจความเสียหายอุทกภัย

วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพรัตน์ เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานสำรวจความเสียหายด้านอาคารและสิ่งสาธารณประโยชน์จากสถานการณ์อุทกภัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นางสาวพรรณทิพย์ เปี่ยมพุทธากุล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเลขานุการคณะทำงาน พร้อมด้วยส่วนราชการ ผู้แทนอำเภอทั้ง 16 อำเภอ สถานศึกษา รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบอุทกภัย

ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการสำรวจความเสียหายของอาคาร โดยบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ และภาคีเครือข่ายบุคลากรด้านช่าง จากสถาบันการศึกษา ทหาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เอกชน และจิตอาสา เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 เป็นไปอย่างรวดเร็ว (วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ประกวด TO BE NUMBER ONE TEEN DANCERCISE & IDOL

ณ ศูนย์การค้าท็อปส์ พลาซ่า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานเปิดการประกวด TO BE NUMBER ONE TEEN DANCERCISE & IDOL จังหวัดสิงห์บุรี ประจำปีงบประมาณ 2566 ณ โดยนายแพทย์โชคชัย สาครพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี จัดการประกวดโครงการ TO BE NUMBER ONE ตามที่ โครงการ TO BE NUMBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสเป็นหนึ่ง โดยไม่พึ่งยาเสพติด ในรูปแบบที่เยาวชนชื่นชอบเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้เป็นการส่งเสริมกลุ่มเด็กเยาวชนให้มีความสามารถในการแสดงออกฝึกทักษะแสดงความเป็นเลิศไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและคัดเลือกทีมสมาชิก TO BE NUMBER ONE เพื่อเป็นตัวแทนเข้าร่วมประกวดในระดับภาค ให้มีการประกวด 2 ประเภท ประเภทแรกการประกวด TO BE NUMBER ONE TEEN DANCERCISE มีทีมเข้าประกวด รุ่น Pre-Teenage อายุ 9 ปีขึ้นไป ถึง 14 ปีบริบูรณ์ จำนวน 2 ทีม และรุ่น Teenage อายุ 14 ปีขึ้นไป ถึง 22 ปีบริบูรณ์ จำนวน 2 ทีม แสดงท่าทางประกอบเพลง ฟรีสไตล์แต่ละทีม มีสมาชิกตั้งแต่ 12-20 คน ใช้เวลาในการแสดงไม่เกินทีมละ 5 นาที

และใช้เกณฑ์การตัดสิน คือ 1.ความพร้อมเพรียง 2.ความคิดสร้างสรรค์ 3.อารมณ์สนุกสนาน 4.การใช้ท่าเต้นที่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและสอดคล้องกับจังหวะดนตรี 5.การแต่งกาย ที่สวยงามเหมาะสม ประเภทสองการประกวด เยาวชนต้นแบบเก่งและดี TO BE NUMBER ONE IDOL มีสมาชิก TO BE NUMBER ONE เข้าร่วมประกวดเป็นเยาวชนชายจำนวน 4 คนและเยาวชนหญิง จำนวน 7 คน ผู้ประกวดร้องเพลงและเต้นโชว์ คนละไม่เกิน 1 นาที 30 วินาที และใช้เกณฑ์การตัดสินเกณฑ์หลัก 3 หัวข้อ คือ 1.การแนะนำตัว บุคลิกภาพท่าทาง การใช้ภาษาถูกต้องเหมาะสม น่าสนใจมีเทคนิคในการนำเสนอมีไหวพริบ 2.การแสดงความสามารถพิเศษ ความมั่นใจ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ความยากง่ายของการแสดง 3.อื่นๆความพร้อมโดยรวมตลอดการอยู่หน้าเวที การสร้างความประทับใจรักษาเวลาและมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้รับผิดชอบงาน TO BE NUMBER ONE ผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน ศูนย์การค้าท็อปส์ พลาซ่า สิงห์บุรี โตโยต้าสิงห์บุรี และสมาชิก TO BE NUMBER ONE ในจังหวัดสิงห์บุรี ร่วมผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 100 คน (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)

มทรส.เปิดหลักสูตรใหม่ด้าน “อัจฉริยะ”

นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ เปิดเผยว่า มทรส. มีจุดมุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูง ที่เน้นการปฏิบัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมสร้างงานวิจัยเชิงพาณิชย์ และให้บริการวิชาการแก่ชุมชนสังคม บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2566 ในระดับปริญญาตรี เพื่อตอบสนองความต้องการด้านกำลังคนของประเทศ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้แก่

1.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเทคโนโลยีสมัยใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งจะผลิตวิศวกรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญชั้นสูงในเชิงวิศวกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์ดัดแปลงผสมผสานพัฒนาต่อยอดรวมถึงประยุกต์ใช้การบริหารจัดการเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม อันจะทำให้ระบบอุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศสามารถพึ่งตนเองและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค จนก้าวไปถึงการแข่งขันในเวทีโลกได้

2.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมฟาร์มอัจฉริยะ คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะปฏิบัติด้านการเกษตร การผลิตสินค้าเกษตร การบริหารจัดการ การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยมีการนำศาสตร์ด้านวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะแบบประณีตและแม่นยำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม

3.หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนด้านบริหารธุรกิจ สามารถใช้องค์ความรู้และทักษะด้านบริหารธุรกิจ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ รวมถึงการมีจริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคม

รศ.ดร.ประมุข อุณหเลขกะ อธิการบดี มทรส. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากหลักสูตรข้างต้นแล้วยังได้เห็นชอบหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้จบการศึกษาเป็นนักวิชาการที่เป็นนักปฏิบัติออกไปสอนนักศึกษาให้มีทักษะด้านการจัดการเรียนการสอนทางวิศวกรรม รวมถึงทักษะด้านวิจัย เพื่อไปพัฒนาประเทศ รวมทั้งยังมีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ในระดับปริญญาตรีหลายหลักสูตร อาทิ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช และ สาขาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ในส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้แก่หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล และยังมีหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และสาขาวิชาการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ และสาขาวิชาการโรงแรมและธุรกิจไมซ์ คณะศิลปศาสตร์ ตลอดจนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ และสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ของคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นต้น ซึ่งทุกหลักสูตรจะเน้นการเรียนการสอนในเชิงปฏิบัติเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดแรงงาน จึงมั่นใจว่า นักศึกษาที่จบจาก มทรส. จะมีงานรองรับ และขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ในปี 2566 แล้ว จนถึง 30 มิ.ย. 66 ด้วย (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)

ตำรวจสระบุรี มอบเครื่องอุปโภค-บริโภค

พ.ต.อ.ยุทธนา จอมขุน รองผู้บังคับการตำรวจจังหวัดสระบุรี นายลือชัย การุณย์วรวงศ์ ประธาน กต.ตร.สภ.วิหารแดง และคณะ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ภูนล บุตโรบล ผกก.สภ.วิหารแดง พ.ต.ท.บุญชัย คงเจริญ รอง ผกก.ป.สภ.วิหารแดง ตำรวจจิตอาสา สภ.วิหารแดง เจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทย สระบุรี และฝ่ายปกครองอำเภอวิหารแดง ได้ร่วมกันมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เช่น ข้าวสารอาหารแห้ง ไข่ไก่ น้ำดื่มและอื่นๆ มอบให้แก่ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี (สมชาติ มานะยิ่งเมต / สระบุรี)

โรงไฟฟ้าวังน้อย กฟผ. จัดโครงการแว่นแก้ว

โรงไฟฟ้าวังน้อย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดโครงการแว่นแก้ว ให้แก่ อำเภอวังน้อย โดยมี นายสุรชัย โคตรบุตรดี นายอำเภอวังน้อย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และมีนายสุรัตน์ วิชชุลดา วิศวกรระดับ 11 กล่าวรายงาน ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และบริษัทหอแว่นกรุ๊ป จำกัด ออกหน่วยบริการวัดสายตาประกอบแว่น โดยไม่คิดมูลค่าให้แก่ประชาชน ในโครงการแว่นแก้ว ให้แสงสว่างแก่ดวงตา ให้แสงสว่างแก่ชีวิต ครั้งที่ 494 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาทางสายตาของประชาชน อีกทั้งช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้กับชุมชน อำเภอวังน้อย โดยมีผู้เข้ารับบริการจำนวนทั้งสิ้น 463 คน ณ อาคารศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำหรับแว่นตาที่ประชาชนจะเลือกรับแบ่งออกเป็น แว่นสำหรับมองไกล แว่นอ่านหนังสือหรือแว่นมองใกล้ และแว่นกันแดด โดยประชาชนส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาสายตา ซึ่งได้มีการตรวจวัดสายตาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยจากบริษัทหอแว่นกรุ๊ป และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) โดย กฟผ. เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการออกหน่วยแว่นแก้ว โอกาสนี้ ลองมาฟังเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งของชุมชนอำเภอวังน้อยที่มารับบริการ โครงการแว่นแก้ว ในครั้งนี้

นางกัญญา สุขสบาย หมู่ที่ 8 ตำบลวังน้อย อำเภอวังน้อย กล่าวว่า ดีใจมากเลยค่ะ ที่มีโครงการแว่นแก้ว มาช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาทางสายตา ซึ่งเป็นประโยชน์ และเป็นบุญเป็นกุศลให้กับผู้ที่สายตามองไม่ค่อยเห็น และไม่มีเงินที่จะไปตัด ซึ่งมาที่นี่แล้วไม่ต้องเสียเวลานาน เจ้าหน้าที่จัดเป็นระเบียบเรียบร้อย บริการดี ประทับใจมาก และอยากให้เพิ่มจำนวนผู้ที่เข้ารับบริการให้มากกว่านี้ ขอบคุณโรงไฟฟ้าวังน้อย กฟผ. มากค่ะ

ส่วนนางจำเรียง แสงประไพ หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อตาโล่ อำเภอวังน้อย บอกว่า เป็นคนสายตายาว ถ้าถอดแว่นสายตาจะมัวมองไม่เห็น อ่านหนังสือก็ไม่ได้ ดีมากเลยที่โครงการแว่นแก้ว มาช่วยเหลือประชาชน คนในหมู่บ้านก็อายุเยอะมาก มองไม่ค่อยเห็น ป้าก็ไม่มีสตางค์ พอดีมีโครงการแว่นแก้วมาออกหน่วยให้บริการตรวจวัดสายตาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ป้าจึงได้มีโอกาสเข้ามารับบริการ ขอให้โครงการแว่นแก้วนี้อยู่ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ไปนานๆ (ชาญ ชูกลิ่น / อยุธยา)

“อาชีวะอาสา ช่วยประชาชน”

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ประธานในพิธีเปิดโครงการ “อาชีวะอาสา ช่วยประชาชน” ( Fix it Center) และ ดร.สิริลักษณ์ ศรีธิธง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี แห่งที่ 2 กล่าวรายงาน โดยมี นายสัมฤทธิ์ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นางโกสุม พรโพธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวิหารขาว คณะผู้บริหาร คณะครู บุคลากรและนักศึกษานักเรียนนักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี แห่งที่ 2 ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ หัวหน้าส่วนราชการ จังหวัดสิงห์บุรีและอำเภอท่าช้าง ร่วมพิธีเปิดและในการออกบริการครั้งนี้ได้ให้การช่วยเหลือบริการซ่อมเครื่องยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ณ โรงจอดรถองค์การบริหารส่วนตำบลวิหารขาว อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)

ปชส.สระบุรีพัฒนาอาชีพเสริมให้ชุมชน

ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า ที่วัดบัวลอย อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี นายธีระชัย มังกรทอง ประชาสัมพันธ์จังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม” ตามที่รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในรูปแบบ “ประชารัฐ” โดยมีเป้าหมายการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ บนพื้นฐาน แนวคิด “ต่อยอดอดีต” “ปรับปัจจุบัน” และ “สร้างคุณค่าใหม่ ในอนาคต” ซึ่งจะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ไปสู่ความมั่นคง ในระดับท้องถิ่น เพื่อให้สอดรับกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศภายหลังวิกฤตโควิด-19 ให้สามารถฟื้นตัว กลับมาอย่างเข้มแข็งในยุคปกติใหม่

นายอัศวิน ไขรัศมี ผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้รับนโยบายจากภาครัฐให้มีบทบาทหน้าที่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้ขับเคลื่อนการทำงานและผนึกกำลังร่วมกับภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิซาการ ภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาด้านการพัฒนา คือ เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา เป็นกรอบเป้าหมายในการขับเคลื่อน พร้อมสอดรับเป้าหมายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสระบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้รับมอบอำนาจจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้รับจ้าง ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม (อาชีพดีพร้อม) เป้าหมาย 6,000 คน ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันประชารัฐรักสามัคคีสระบุรี ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมมาแล้ว 12 ครั้ง/ครั้งละ 200 คน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 13 ที่ โดยการฝึกอบรมจะมีการเรียนรู้ทั้งหมด 4 ฐาน ประกอบด้วย การเรียนรู้ทำลาบหัวปลี การเรียนรู้ทำน้ำพริกเผาปลาย่าง การเรียนรู้ทำขนมปุยฝ้ายกล้วยหอมทอง การเรียนรู้ทำขนมบ้าบิ่นมะพร้าวน้ำหอม ผู้เข้าฝึกอบรมจะได้รับวัสดุฝึกนำกลับไปทำที่บ้าน (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

ไฟฟ้าชัยนาท จัดระเบียบสายสื่อสาร

นายนที มนตริวัต รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดกิจกรรม “การขับเคลื่อนการจัดระเบียบสายสื่อสารโทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้าจังหวัดชัยนาท” ณ บริเวณหน้าศาลากลางหลังใหม่ โดยมีนายปริญญา เชื้อปรางค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและบริการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 ภาคเหนือ นายวนุต ศรีจันทร์บาล ผู้อำนวยการ กสทช. เขต 13 ร่วมให้การต้อนรับ ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้

นายนที กล่าวว่า การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดชัยนาท ได้ร่วมหารือในประเด็นขับเคลื่อนการจัดระเบียบสายสื่อสาร โทรคมนาคมบนเสาไฟฟ้า ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแนวทางการจัดระเบียบสาย สื่อสาร เริ่มจากแหล่งชุมชน เพื่อเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและเป็นระเบียบให้เกิดความสวยงามต่อทัศนียภาพ และภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดชัยนาท อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท

การเริ่มกิจกรรมในครั้งนี้ เริ่มดำเนินการครั้งแรก โดยเริ่มตั้งแต่บริเวณ ทางแยกศาลากลางจังหวัดชัยนาทหลังใหม่ ถึงบริเวณทางกลับรถใต้สะพานธรรมจักร ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร โดยจะดำเนินการต่อเนื่องให้ครอบคลุมเขตชุมชนของเทศบาลเมืองชัยนาท และขยายผลไปยังเขตชุมชนทุกพื้นที่ทั่วจังหวัดชัยนาทต่อไป (สมชัย ประนอม ลัทธิเดช / ชัยนาท)

โตโยต้าหนุนก่อตั้ง “ธุรกิจชุมชนพัฒน์”

เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 6 บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี จัดให้มีพิธีเปิดโครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 6 โดยมี นางอังคณา ชิตติดติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธาน และมีนายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คุณศิริวรรณ บุญวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยต้า สระบุรี จำกัด นายอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ ลัลณ์ลลิลไบโอเท็ค จำกัด ผู้บริหาร อปท. ในพื้นที่ ประชาชน สื่อมวลชนร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยฯ รายงานว่า “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” เป็นกิจกรรมในโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่ได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่งมาถ่ายทอดให้แก่วิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับทิศทางปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงการ “โตโยต้า ชุมชนพัฒน์” ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงธุรกิจชุมชนต่างๆ และมีส่วนช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ มีการพัฒนาและได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ อาทิ เช่น ประสิทธิผลในการผลิต คุณภาพสินค้า และต้นทุนสินค้าคงคลัง เป็นต้น

ด้านนาย อภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิล ไบโอเท็คฯ กล่าวว่า บริษัท ลัลณ์ลลิลฯ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหัวเชื้อเห็ดมากกว่า 20 สายพันธุ์ รวมทั้งจำหน่ายอุปกรณ์เพาะเห็ดให้แก่เกษตรกรต่างๆ ธุรกิจได้เข้าร่วมกิจกรรม ไคเซ็นภายใต้โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ในปี พ.ศ.2562 ภายใต้ความร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า สระบุรี จำกัด โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งมีประสบการณ์ในด้านระบบการผลิตแบบโตโยต้า และหลักการไคเซ็น (มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง) เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น “พี่เลี้ยงทางธุรกิจ” โดยร่วมศึกษาถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมนำองค์ความรู้ของโตโยต้า เข้าไปถ่ายทอดและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจ เพื่อช่วยแก้ปัญหา และให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมืออาชีพ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม สร้างการจ้างงานในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้ชุมชน

โดยบริษัทลัลณ์ลลิลฯ ได้นำองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจของโตโยต้ามาปรับปรุง ดำเนินงานของธุรกิจ ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Productivity), การควบคุมคุณภาพของสินค้า (Quality), การส่งมอบสินค้า (Delivery) การตัดการสินค้าคงคลัง (Stock management), นวัตกรรมใหม่ที่ต่อยอดเพิ่มมาจากไคเซ็น การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแทนขวดแก้ว, การผลิตเชื้อเห็ดเหลว เป็นต้น ปัจจุบัน บริษัท โตโยต้าฯ ได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ที่ จังหวัดสระบุรีแห่งนี้เป็นลำดับที่ 6” ต่อจากศุนย์การเรียนรู้ 5 แห่งแรก ที่จังหวัดกาญจนบุรี, ขอนแก่น, เชียงราย, สงขลา และชลบุรี (วิรัตน์ เดชะวราฤทธิ์ / สระบุรี)

กฐินโรงพยาบาลสระบุรี

นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี นำคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสระบุรี และประชาชน ร่วมเป็นเจ้าภาพทำบุญทอดกฐิน โรงพยาบาลสระบุรี ประจำปี 2565 รวมยอดเงินทำบุญขำนวน 623,664 บาท (หกแสนสองหมื่นสามพันหกร้อยหกสิบสี่บาทถ้วน) ณ วัดหนองแก ตำบลหนองแก อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ผ่านมา (วิรัตน์ เดชะวราฤทธิ์ / สระบุรี)

คณะสมาชิกวุฒิสภาช่วยน้ำท่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ ตำบลดอนทอง อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี คณะสมาชิกวุฒิสภารวมใจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี ไปที่ตำบลดอนทอง อำเภอหนองโดน เพื่อมอบถุงยังชีพ ช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบอุทกภัย พื้นที่ทางการเกษตร ไร่นา บ่อเลี้ยงปลา ได้รับความเสียหาย โดย นายถาวร เทพวิมลเพชรกุล สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสระบุรี พร้อมด้วยคณะสมาชิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัย พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ที่องค์การบริหารส่วนตำบลดอนทอง อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี โดยมีนายมนัสพันธ์ ดอนก้อนไพร นายอำเภอหนองโดน และนายพรเทพ ราชวัตร นายก อบต.ดอนพุด พร้อมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำประชาชนมาให้การต้อนรับ

โดย คณะสมาชิกวุฒิสภา ได้พูดคุยให้กำลังใจประชาชน และมอบถุงยังชีพ สิ่งของจำเป็น 100 ชุด ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา จากโครงการ “วุฒิสภารวมใจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม” มอบให้แก่ผู้นำชุมชนและประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ตำบลดอนทอง อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)

วัคซีนเยาวชน

นายมานพ จันทร์ปิยวงษ์ นายอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 (ไฟเซอร์) ในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 4 ขวบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กในวัยเยาว์ ณ โรงเรียนนารายณ์วิทยา อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี โดยมี นพ.พิสิฐ พรหมคำ ผอ.โรงพยาบาลชัยบาดาล และนายอนุชา นิลอยู่ ผช.สาธารณสุขอำเภอชัยบาดาล ร่วมกิจกรรม และยังได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 เดือน พร้อมกันทุกอำเภอด้วย

ทั้งนี้จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าถูกปรับลดระดับความรุนแรง ให้เป็นโรคที่เฝ้าระวัง การได้รับวัคซีนจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการทำให้ลดการติดเชื้อและลดความรุนแรงลงได้ ปัจจัยสำคัญคือความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนชาวไทยที่มีการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลและการฉีดวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็กเล็ก ตั้งแต่ 6 เดือนถึง 4 ขวบ นี้ก็ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจอีกประการหนึ่ง ในการป้องกันการเจ็บป่วยในเด็กเล็กและเป็นการช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยอ้อม ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย ด้านสุขภาพ มากขึ้นอีกด้วย (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

งานประจำปี “พุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ”

มูลนิธิพุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ แถลงข่าวการจัดงานประจำปี “พุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ” ประจำปี 2565 ณ พุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี

โดยมี พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกฺขปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพันเอกประชุม สุขสำราญ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิพุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ ประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมแถลงข่าว และมีนางสวามินี อิสระทะ ประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานฯ

ซึ่งงานดังกล่าวกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2565 ณ พุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ประกอบด้วย พิธีอัญเชิญและสมโภชพระพุทธลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ 89 ปาง โดยมีขบวนแห่พระพุทธรูป 89 ปาง จากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ มาขึ้นแท่นประดิษฐาน ณ พุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ พิธีพุทธาภิเษก พิธีวางศิลาฤกษ์อาคารปฏิบัติธรรม และพิธีเจริญพระพุทธมนต์อายุวัฒนมงคลพระราชวิสุทธิประชานาถ 69 ปี (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)

Chonburi Sponsored
อำเภอ บ่อทอง

ท้องที่อำเภอบ่อทองเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพนัสนิคม ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองอำเภอพนัสนิคม ออกมาตั้งเป็น กิ่งอำเภอบ่อทอง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2521 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ปีเดียวกัน และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอบ่อทอง อำเภอพนัสนิคม ขึ้นเป็น อำเภอบ่อทอง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 9 มีนาคม 2528 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ปีเดียวกัน