แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562 หรือรวมเรียกว่า แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี ประกอบด้วย แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ซึ่งมีทั้งหมด 8 ระบบ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 ธันวาคม 2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการ ตาม พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนผัง EEC ให้เป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง
โดยกระบวนการจัดทำแผนผัง EEC ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ นโยบายการพัฒนาพื้นที่ของ EEC ทบทวนผังเมืองรวมเดิมในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำ และจะต้องให้สอดคล้องกับ การพัฒนาเมือง ส่งเสริมให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัย เมืองอุตสาหกรรม รองรับกลุ่มคนเข้าพื้นที่ในระยะยาว และที่สำคัญต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน
ทั้งนี้หลังจาก แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี ประกาศบังคับใช้แล้ว ได้มีการยกเลิกผังเมืองรวมที่บังคับใช้พื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งเป็นผลของกฎหมายที่กำหนดไว้ชัดเจนตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. EEC และให้เร่งจัดทำผังเมืองรวมขึ้นใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ให้สอดคล้องกับแผนผัง EEC จำนวน 30 อำเภอ (ครอบคลุมพื้นที่ทั้งอำเภอ)
สำหรับขั้นตอนดำเนินการจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติการผังเมือง ฉบับใหม่ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่ EEC โดยส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะสมฐานเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบสมบูรณ์ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก
อีกทั้งยังส่งเสริม พัฒนาเมืองให้น่าอยู่และมีความทันสมัยระดับนานาชาติที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในฐานะประตูของภูมิภาคเอเชียในบริบทโลก โดยมีขั้นตอนหลักในการวางและจัดทำผังเมืองกรณีดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนทั้งสิ้น 8 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 สำรวจ กำหนดเขตผัง วิเคราะห์และจัดทำร่างผังเมืองรวม (โดยแจ้งกรมโยธาธิการและผังเมืองให้ทราบก่อนวางและจัดทำผังเมือง)
ขั้นตอนที่ 2 ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม
ขั้นตอนที่ 3 ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ขั้นตอนที่ 4 ประชุมความเห็นกรมโยธาธิการและผังเมือง
ขั้นตอนที่ 5 ประชุมคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด
ขั้นตอนที่ 6 ปิดประกาศพร้อมข้อกำหนด 90 วัน
ขั้นตอนที่ 7 รวบรวม ตรวจสอบ และพิจารณาคำร้อง และแจ้งผลการพิจารณาคำร้อง
ขั้นตอนที่ 8 ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น และประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งสิ้นประมาณ 72 ถึง 82 สัปดาห์
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าประโยชน์จากการมีแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี จะช่วยให้เกิดการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณูปโภค – สาธารณูปการได้อย่างสะดวก ประชาชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน สามารถวางแผนการพัฒนาและการลงทุนได้ชัดเจน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
อีกทั้งเป็นการทำจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ จำนวน 3 จังหวัด EEC คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พื้นที่รวม 8.29 ล้านไร่ และรองรับจำนวนประชากรกว่า 6 ล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2580 เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ และเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาวและเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เชื่อมโยงทั้งการพัฒนาภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบในการเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของรัฐ อย่างมีระเบียบเหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ ที่คำนึงถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณูปโภค – สาธารณูปการ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน สามารถวางแผนการพัฒนาและการลงทุนได้ชัดเจน
แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี ประกอบด้วย แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ครอบคลุม 8 ระบบ โดยแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท ดังนี้
1. กลุ่มพื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน มีพื้นที่จากเดิม 817,971 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,096,979 ไร่(เพิ่มขึ้น 3.36%)
2. กลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม มีพื้นที่จากเดิม 259,769 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 424,853 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1.99%)
3. กลุ่มพื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม พื้นที่เดิม 5,524,574 ไร่ ลดลงเหลือ 4,850,831 ไร่ (ลดลง 8.13%) เนื่องจากได้กำหนดไว้เป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง อุตสาหกรรม และส่วนหนึ่งถูกกำหนดเป็นพื้นที่โล่ง เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ได้กำหนดไว้บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ ริมแม่น้ำ และคลองที่สำคัญ ซึ่งสามารถทำเกษตรกรรมได้
4. กลุ่มพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่เดิม 1,435,526 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,678,753 ไร่ (เพิ่มขึ้น 2.93%)
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา เกือบ 3 ปี หลังประกาศใช้เรื่องแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินใน อีอีซี พบว่า สัดส่วนการใช้ประโยชน์ในที่ดินในแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน อีอีซี ในแต่ละกลุ่มยังคงมีสัดส่วนเท่าเดิม ถึงแม้จะมีการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการใช้ที่ดินยังอยู่ในกลุ่มเดิม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีบระเบียบ
สำหรับความคืบหน้าในการจัดทำผังเมืองรวมระดับอำเภอทั้ง 30 อำเภอ ณ เดือนกันยายน 2565 มีดังนี้ การวางผังเมืองรวมเมือง และชุมชน (อำเภอ) ขั้นตอนที่ 4 จำนวน 6 ผัง ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี 3 ผังได้แก่ผังเมืองรวมชุมชนบ้านบึง ชุมชนหนองใหญ่ และผังเมืองรวมเมืองศรีราชา จังหวัดระยอง 3 ผังได้แก่ผังเมืองรวมชุมขนวังจันทน์ ชุมชนนิคมพัฒนา และชุมชนแกลง ขั้นตอนที่ 3 จำนวน 5 ผัง ประกอบด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ผัง ได้แก่ ผังเมืองรวมชุมชนบ้านโพธิ์ ชุมชนบางปะกง จังหวัดชลบุรี 3 ผังได้แก่ผังเมืองรวมชุมชนเกาะสีชัง และผังเมืองรวมเมืองสัตหีบ เมืองบางละมุง ขั้นตอนที่ 2 จำนวน 2 ผัง คือจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ผัง ได้แก่ผังเมืองรวมชุมชนบางน้ำเปรียว ชุมชนพนมสารคาม ขั้นตอนที่ 1 จำนวน 17 ผัง ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา 7 ผังได้แก่ผังเมืองรวมชุมชนคลองเขื่อน ชุมชนแปลงยาว ชุมชนบางคล้า ชุมชนราชสาส์น ชุมชนสนามชัยเขต ชุมขนท่าตะเกียบ และผังเมืองรวมเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี 5 ผังได้แก่ผังเมืองรวมชุมชนเกาะจันทร์ ชุมชนบ่อทอง ชุมชนพานทอง และผังเมืองรวมเมืองชลบุรี เมืองพนัสนิคม จังหวัดระยอง 5 ผังได้แก่ผังเมืองรวมชุมชนบ้านค่าย ชุมชนปลวกแดง ชุมชนเขาชะเมา และผังเมืองรวมเมืองระยอง เมืองบ้านฉาง
บทความ โดย ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์
อัปเดตการพัฒนาในพื้นที่ EEC ด้วยยุทธศาสตร์ตอบสนองหลากหลายมิติ
เจาะลึกการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษ ในไทย กุญแจสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติได้ครบทุกมิติ
ผ่าแผนยกระดับ ‘นิคมอุตสาหกรรม’ ในพื้นที่ไข่แดง EEC เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เดินหน้าพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายครบทุกมิติ
จากเซินเจิ้นสู่ไทย BYD จรดปากกาตั้ง โรงงานผลิต EV car ในนิคม WHA ส่งออกอาเซียน-ยุโรป กำลังผลิต 1.5 แสนคัน
Post Views: 300