ยิ่งเข้าใกล้ 24 พ.ย.2565 ซึ่งเป็นวันนับถอยหลัง 90 วัน ของอายุสภาผู้แทนราษฎร ที่กฎหมายกำหนดให้คนที่จะลงสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ยุบสภา ระยะเวลา 90 วันให้ลดลงเหลือ 30 วัน

การเมืองไทย เคลื่อนไหว ร้อนแรงขึ้น เรื่อยๆ เมื่อ ส.ส.แต่ละพรรคการเมือง เริ่มไม่ต้องเหนียมอายกันแล้ว แรงขยับย้ายพรรคกันถี่มากขึ้น

ถึงนาทีนี้ ส.ส.ที่จะตัดสินใจย้ายพรรค เปิดหน้าเปิดตาออกมาชัดๆ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ถึงว่าฮือฮาที่สุดหนี้ไม่พ้นปรากฏการณ์ “ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม” พรรคเก่าแก่ประชาธิปัตย์ ชัด เลือดไหลไม่หยุด คนกันเอง ส.ส.ในพรรค ทยอยแสดงเจตจำนง เตรียมย้ายพรรคมากที่สุด มีรายชื่อหลุดออกมาลุ้นระทึกเป็นระลอก

ถึงขั้นบางคนยิ้มเขิน ไปนั่งในโซนพรรคอื่นในสภา แถมด้วยวางป้ายชื่อ 2 พรรคเคียงคู่กัน ก็มีให้เห็นมาแล้ว
ขณะที่พรรคการเมืองค่ายอื่นๆ ที่ผ่านมาก็มีความคึกคัก ทั้งเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เปิดนโยบายหาเสียงพรรค เปิดศูนย์เลือกตั้งพรรค
วันนี้ ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ จะลองไล่ เช็กแถว เหล่าพรรคการเมือง ที่แต่งตัวลงเตรียมสนามเลือกตั้งใหญ่ อย่างช้าสุด “ยุบสภา” ปี 2566 ถึงนาทีนี้ ใครจะมีโอกาสคว้าชัย เริ่มด้วยพรรคการเมือง ที่ถูกจับตามากสุดในช่วงเวลานี้

“ประชาธิปัตย์” เลือดหยุดไหลยาก จ่อทยอยไขก๊อกไม่มีท่าทีว่าจะหยุด ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ความหวังยิ่งกว่าริบหรี่!
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ชื่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลบิ๊กตู่ ถึงนาทีนี้ ต้องเรียกว่า แทบกระอักโลหิต เมื่อพลพรรค ส.ส.ค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม เคลื่อนไหวด้วยการประกาศไขก๊อก (ลาออก) อย่างต่อเนื่อง มาตลอดทั้งปี 2564-2565 นายกนก วงษ์ตระหง่าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง นายอันวา สาและ ส.ส.ปัตตานี ขนาดนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ซึ่งถือเป็นระดับผู้ใหญ่ในพรรค ยังลาออก มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จนมาถึงคิว น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช แจ้งความประสงค์ต่อ นายเฉลิมชัย เลขาธิการพรรคว่า จะย้ายไปสังกัดพรรค รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

ขณะที่ในพรรค ปชป.ยังมีการพูดถึงชื่อ ส.ส. อีกหลายคนที่จะย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ อาทิ นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือ แม่เลี้ยงติ๊ก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีความสนิทสนมส่วนตัวกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม อดีตแนวร่วม กปปส. รวมถึง นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.ตรัง ที่แจ้งความประสงค์ต่อพรรค ลงเขตเลือกตั้งที่ 4 จ.ตรัง โดยผู้บริหารพรรคให้ทำโพลสำรวจความนิยม แต่ผลโพลออกมาแพ้ ท่ามกลางข้อสงสัยในความโปร่งใสของกระบวนการทำโพล โดยพรรครวมไทยสร้างชาติได้ทาบทามไว้แล้ว หากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ส่งลงเลือกตั้ง ส.ส.เขต ก็จะย้ายไปร่วมงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึง พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม สมาชิกกลุ่มเลือดใหม่ เป็นอีกรายหนึ่งที่จะย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย เนื่องจากมีบิ๊กทหารเป็นคนเชื่อมประสานให้

ยังมี น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ หรือ “จ๋า” ส.ส.สุราษฎร์ธานี ลูกสาวนายชุมพล กาญจนะ อดีต ส.ส. และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ โดยก่อนหน้านี้ น.ส.วชิราภรณ์ เปิดตัวว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะลงในนามพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้วท่ามกลางกระแสข่าวจะย้ายไปพรรคภูมิใจไทย แต่สุดท้ายดีลไม่ลงตัว ล่าสุด ได้อดีตกรรมการที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ที่เพิ่งลาออกจากพรรคเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่าง นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับ นางโสภา กาญจนะ มารดาของ น.ส.วชิราภรณ์ ให้จนลงตัว โดยรอย้ายไปซบพรรครวมไทยสร้างชาติอีกคน

ขณะที่ นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ หรือ ซ้อเจน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวจะย้ายไปพรรคเพื่อไทยนั้น ก็มีความเคลื่อนไหว นางศรีสมร แจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่ประสงค์จะให้หักเงินเดือน ส.ส.บัญชีรายชื่อของตนเอง จำนวน 30,000 บาท เข้าพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป นับแต่ 1 พ.ย. 2565 ซึ่งหลักปฏิบัติของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ จะให้ตัดเงินเดือน ส.ส.ของแต่ละคนไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทุกคน จึงเป็นที่แน่ชัด นางศรีสมร จะย้ายไปร่วมงานการเมืองกับพรรคเพื่อไทย โดยได้ข้อเสนอเป็นหัวหน้าทีมผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ของ จ.กาญจนบุรี

ยามนี้ มองไปน่าใจหาย จากพรรคใหญ่ที่เป็นระดับแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องกลายมาเป็นพรรคขนาดกลาง และมีโอกาสสูงที่การเลือกตั้งใหญ่สมัยหน้า จะกลายร่างเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กไปเสียฉิบ
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ปชป.ย้อนกลับไปก็เคยตกอยู่ในสภาพนี้มาก่อน แต่ก็ยังกลับมาได้ คราวนี้ก็หวังจะเป็นเช่นนั้น ดังชื่อที่ถูกเปรียบเปรยในโลกโซเชียลฯ “พรรคแมลงสาบ”

“พรรคเพื่อไทย” หวังแลนด์สไลด์ ทั้งแผ่นดิน จะกี่โพลก็ยกให้ พรรคนี้มีโอกาสสูง ชนะเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้มากที่สุด
ต้องยอมรับ พรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ดูมีการเตรียมความพร้อมมากที่สุด ในทุกพรรคการเมือง ด้วยการตีปี๊บ เปิดศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้ง และทยอยเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาเป็นระบบมากที่สุด รวมทั้งมีการชงชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ออกมาถึง 2 คน

คนแรก (อิ๊งค์) น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็ก นายห้างดูไบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคนที่สอง นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง

ขณะที่มีรายงานข่าวออกมาว่า แหล่งข่าวระดับสูงในพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย ตัวจริงยังไม่เปิดตัวออกมา แย้มว่า เป็นอดีตนายธนาคารใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่ลูกสาวนายใหญ่อย่างทักษิณ (อิ๊งค์) ที่กำลังตั้งท้องลูกคนที่สอง และเป็นหลานคนที่ 7 ของนายห้างดูไบ (ทักษิณ) และนายเศรษฐา (นิด) เป็นแค่ตัวหลอก ถึงเวลาเหมาะสมจะเปิดตัวออกมา จริงแค่ไหน อย่างไร เดี๋ยวก็จะได้รู้กัน

“พลังประชารัฐ” กับ ภาพ 3 ป.ขัดแย้ง “พี่ป้อม-น้องตู่” เดินอยู่ดาวคนละดวง ทำกระแสยิ่งตก แถมพลาด กฎกระทรวง ให้ต่างชาติซื้อที่ดิน ต้องเป็น”ไอ้เสือถอย”
ความจริง ถูกจับตา ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2565 ที่ จ.บุรีรัมย์ งานวันเกิดครบรอบ 64 ปี ของ นายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย ที่มี ส.ส.พรรค พปชร. จำนวน 8 คน ไปร่วมงาน ประกอบด้วย 1.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท 2.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ 3.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม 4.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก 5.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี 6.นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี 7.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี 8.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี

ส.ส.กทม.พปชร. เป็นกลุ่มที่เตรียมย้ายพรรคมากที่สุด เหตุกระแสพรรคตกต่ำ และมีโอกาสจะสอบตกในการเลือกตั้ง โดยจะลาออกในช่วงต้น-กลางเดือน ธ.ค.นี้ พบว่า มี ส.ส.ส่วนหนึ่งจะย้ายไปกับ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ ส.ส.กทม. ได้แก่ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ประธาน ส.ส.กทม., นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. , นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. รวมถึงบรรดาอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. ซึ่งมีข่าวว่า จะย้ายไปสังกัด “ภูมิใจไทย” ในโควตากลุ่มของ นายพุทธิพงษ์ ขณะที่ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม.จะย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีการปิดการเจรจา “ดีลลับ” แล้ว

นอกจากนี้ ยังมี นายสนธยา คุณปลื้ม และ ส.ส.สังกัดกลุ่ม “คุณปลื้ม” ก็อาจไม่ไปต่อกับพลังประชารัฐ โดยจะกลับไปฟื้น “พรรคพลังชล” เช่นเดียวกับ “กลุ่มพ่อมดดำ” ของ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ก็จะย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย
ส่วนกลุ่ม “สามมิตร” ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มี ส.ส.ในกลุ่มไม่ต่ำกว่า 20 คน ขณะนี้แม้จะยังสงบนิ่ง แต่อนาคต หาก พล.อ.ประยุทธ์ วางมือการเมือง ก็ไม่รู้ว่าจะยังอยู่กับ พรรค พปชร.ต่อไปหรือไม่?

“รวมไทยสร้างชาติ” ชู แคนดิเดตนายกฯ “บิ๊กตู่” ประทับภาพ”ร่วมกันเดิน ร่วมกันตี” หรือ มันคือ รอยแตก พี่น้อง 2 ป.
พรรค (รทสช.)นี้ ของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แบะท่า พร้อมชูภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่ไก่โห่ หากท่านนายกฯตัดสินใจตอบรับ

งานนี้ก็ใช่ธรรมดา เนื่องจากเพียงมีกระแสข่าวแรงว่า “บิ๊กตู่” อาจจะตัดสินใจไปร่วมงานการเมืองกับพรรคนี้ ก็มีเสียงตอบรับจาก ส.ส.ในแทบจะทันที โดยเฉพาะ ฟากฝั่ง จากพรรค ปชป. ที่มีข่าวว่าตอบรับจากย้ายไปทำงานด้วย
โดยเฉพาะ ระดับนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี แกนนำจากพรรค ปชป. ที่ตัดสินใจลาออก และได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแทบจะทันที ทั้งนี้เชื่อว่า มีอีกหลายคนจะย้ายตามไปอยู่ด้วยแน่นอน
จับตาหลังประชุมเอเปก 2022 บิ๊กตู่ จะแถลงอนาคตทางการเมืองของตัวเอง ว่าจะไปอยู่พรรคการเมืองไหน

ภูมิใจไทย “เสี่ยหนู” ศิษย์เอกครูใหญ่เนวิน บุรีรัมย์ ถูกจ้องเตะตัดขา ปม พ.ร.บ.กัญชา จากเพื่อน ปชป.แต่ บ่ยั่น ส.ส.อยากแห่เข้า กระสุนพร้อม
พรรคของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ศิษย์เอก “ครูใหญ่เนวิน” กับ แคมเปญ “พูดแล้วทำ” ทำหากินติดตลาด ถึงนาทีนี้ต้องยอมรับเป็นอีกพรรคที่มีความพร้อมเลือกตั้ง เนื้อหอม ส.ส.หลายพรรคหลายคน อาจตัดสินใจมาร่วมงานการเมืองด้วย

ทั้ง ส.ส.จากเพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนา ก้าวไกล เช็กชื่อจากไปร่วมงานวันเกิดครูใหญ่เนวิน ชิดชอบ เมื่อ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็พอจะรู้แล้ว มีถึง 28 คน
1.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล 2.นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 3.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ 4.นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย ก้าวไกล 5.นายพีรเดช คําสมุทร ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล
6.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก เศรษฐกิจไทย (ศท.) 7.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร นครนายก พรรคเพื่อไทย 8.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ นครปฐม พรรคพลังประชารัฐ 9.นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) 10.นายอารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ
11.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 12.นายคารม พลพรกลาง บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 13.นางสาวนันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ 14.นายนพ ชีวานันท์ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย 15.นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรค พลังประชารัฐ

16.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย 17.นายกฤษณ์ แก้วอยู่ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ 18.นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ 19.นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชารัฐ 20.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย
21.นายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย 22.นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย 23.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเศรษฐกิจไทย 24.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น อุดรธานี ส.ส.พรรคเพื่อไทย 25.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเศรษฐกิจไทย
26.นายสมัคร ป้องวงษ์ ส.ส.สมุทรสาคร พรรคชาติพัฒนา 27.น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ 28.ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย

ยิ่งล่าสุด น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายในสภา เรียกเสียงฮือฮา เจ้าตัวถึงกับหัวเราะแบบเขินๆ เมื่อมีการนำป้ายพรรคภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์มาวางคู่กันและยังอภิปรายในที่นั่งพรรคภูมิใจไทยด้วย

“ก้าวไกล” ขอโชว์ความกล้า วางยุทธศาสตร์เสี่ยง ปมล่อแหลม นิรโทษกรรมคดีการเมือง-แก้ ม.112-พระเลือกตั้งได้ หวังหาเสียงกับคนรุ่นใหม่ เพื่อ”ไขว่คว้าดาว”
พรรคก้าวไกล(ค่ายสีส้ม) ที่มีหัวหน้าพรรคชื่อ “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เปิดตัวเตรียมลงสู้เลือกตั้ง เรียกเสียงฮือฮา ด้วยการเปิดชุดนโยบาย “การเมืองก้าวหน้า” จัดเต็ม นิรโทษกรรมคดีการเมือง-แก้ ม.112-ให้ใบแดงนายพล-พระเลือกตั้งได้-ลาคลอด 180 วัน-ชายหญิง ใช้คำนำหน้านามตามสมัครใจ
งานนี้ ต้องยอมรับว่า พรรคนี้มีแฟนคลับกลุ่มสำคัญเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก หลายส่วนก็ทับกับกลุ่มแฟนคลับของพรรคเพื่อไทย

ต้องจับตา กลุ่มงูเห่า นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เตรียมย้ายเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทย
ขณะล่าสุด ทนายบิลลี่ จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ เข้าสมัครสมาชิกที่พรรคเพื่อไทยแล้ว

ต้องยอมรับพรรคก้าวไกลนี้ เป็นที่ทราบกัน มีเงานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อยู่ข้างหลัง และกลุ่มแฟนคลับกลุ่มเฉพาะ ที่เป็นกลุ่มม็อบทะลุฟ้า ม็อบราษฎร ที่มีอุดมการณ์ แก้กฎหมาย ม.112 เป็นฐานเสียงสำคัญ โดยหวังจะชิง ส.ส.ซึ่งต้องตัดคะแนนกับพรรคเพื่อไทย ซึ่ง มีมวลชนที่ทับซ้อนกัน

พรรคเศรษฐกิจไทย “ธรรมนัส” ยกพวกออก พปชร.ยังไม่รู้จะไปรวมพรรคไหน ลือ บินดูไบ ดีลกับทักษิณ แต่ไม่ตอบรับ
ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 17 คน ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ระหว่างถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติตามหน้าที่ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี

โดยในการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อ 10 ต.ค. มี ส.ส.ร่วมแค่ 13 คน และไม่ได้มา 4 คน คือ นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ ที่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับพรรคภูมิใจไทย และจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนาม ภูมิใจไทยครั้งหน้า
ขณะที่อีกคน นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี ไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับพรรคเศรษฐกิจไทย มานานแล้ว ตั้งแต่ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ลาออกจากหัวหน้าพรรค ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้ายังไม่แน่ว่า จะลงสมัคร ส.ส.กับพรรคใด โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต้องการให้ย้ายกลับมาอยู่กับ พปชร. แต่ขณะเดียวกัน นายสะถิระเองก็มีความสนิทสนมกับบ้านใหญ่ชลบุรีของนายสนธยา คุณปลื้ม ที่มีข่าวว่าจะแยกตัวกลับไปรีแบรนด์พรรคพลังชล

จับตา เหล่าพรรคการเมืองขนาดกลาง ที่ประกาศควบรวม ไปถึงพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่หวังเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้า ข้อแม้ต้องได้ ส.ส.มากพอที่พรรคใหญ่ยากปฏิเสธ

ต้องยอมรับว่า เลือกตั้งเที่ยวนี้ ที่กำลังจะมาถึง หลายพรรคการเมืองแยกออกมาตั้งพรรคใหม่ อีกหลายพรรค ก็ประกาศควบรวมพรรคไปก่อนหน้า เพื่อหนีตายกับสูตรหาร 100 ที่ ศาล รธน.นัดตัดสิน 30 พ.ย.65 นี้ ไม่ควรกะพริบตา เพราะยังไม่รู้ว่าศาลจะวินิจฉัยออกมาเช่นไร

ไม่ว่า จะเป็น พรรคชาติไทยพัฒนา ของวราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติพัฒนากล้า ของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แท็กทีมกับ กรณ์ จาติกวณิช หรือ พรรคสร้างอนาคตไทย ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
งานนี้ทุกพรรคต่างก็มียุทธศาสตร์และนโยบายหาเสียง เน้นไปที่สร้างความอยู่ดีกินดีแก้ปัญหาปากท้อง พี่น้องประชาชน ที่ต้องยอมรับว่า หลายปีที่ผ่านมา ชีวิตความเป็นอยู่ย่ำแย่

การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ จึงเป็นความหวังของประชาชนชาวไทย เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตให้ได้
แต่ขอบอกไว้ก่อน ขึ้นชื่อว่าการเมือง อะไรที่ว่าแน่ก็อาจไม่แน่ก็เป็นได้ เหตุยังพอมีเวลาปรับจูนเครื่อง เอาเข้าจริง จึงต้องขอรอดูในช่วงอาทิตย์สุดท้ายของวันลงคะแนนก่อน
จึงจะพอรู้ได้ว่า ใคร พรรคไหน จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะโดยแท้จริง
ผู้เขียน:เดชจิวยี่
กราฟิก:Theerapong Chaiyatep