วันนี้ (27 ม.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกองทัพเรือได้รับแจ้งเหตุจากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ว่ามีน้ำมันดิบรั่วไหลจำนวนมาก จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุต จังหวัดระยอง จุดเกิดเหตุ คือ จุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล อยู่ห่างชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร มีการตรวจสอบพบน้ำมันดิบรั่วไหล เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 และบริษัทได้ระดมทีมงานเพื่อควบคุมสถานการณ์ตามแผนการรับมือเหตุฉุกเฉิน และหยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย และกองทัพเรือ โดยกองทัพเรือภาคที่ 1 ส่งเครื่องบินลาดตะเวนขึ้นบินสำรวจคราบน้ำมันทางอากาศ และจัดเรือ ต.273 กับ เรือ ต.228 ออกตรวจสอบน้ำมันบนน้ำ บนผิวน้ำ และจัดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ขึ้นบินตรวจสอบทิศทางการรั่วไหลของคราบน้ำมัน นำสารเคมี โปรยจุดเกิดเหตุ และเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุนการขจัดคราบน้ำมัน ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ หรือ ศอปน.ทร. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขอให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันขึ้น ขณะเดียวกัน กองทัพเรือได้ตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางเรือ เนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาค 1 ตั้งอยู่ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทำงานควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากเป็นพื้นทีที่เกิดเหตุ
โดยวันนี้ พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ร่วมกับ ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กองทัพเรือ กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันแถลงถึงความคืบหน้าในการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ากลุ่มคราบน้ำมันจะมีทิศทางไหลไปทางหมู่เกาะเสม็ด หาดแม่รำพึง ในวันที่ 28 มกราคม 2565 อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียง และกองทัพเรือ ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการให้ศูนย์ที่จัดตั้งขึ้นทั้ง 2 หน่วยดังกล่าวแล้ว โดยได้มีการประชุม ระดมปฏิบัติการตามการร้องขอ ศอปน.ทัพเรือภาค 1 เบื้องต้นจะดำเนินการ 2 ลักษณะ ในการกำจัดคราบน้ำมัน โดยพื้นทีที่มีคราบน้ำมัน ให้ใช้ทุ่นกันล้อมกลุ่มน้ำมันและใช้สารเคมีฉีดเพื่อให้รวมเป็นก่อน ดูดน้ำมันเพื่อนำส่งต่อให้กับกรมอุตสาหกรรมเพื่อทำลายต่อไป ส่วนคราบน้ำมันที่ไม่เป็นกลุ่มก้อนจะใช้ทุ่นล้อมวงคราบน้ำมัน ควบคุมการผลักดันให้น้ำมันเคลื่อนตัว เพื่อปล่อยสู่ทะเล และหากคราบน้ำมันใกล้ชายหาดก็จะใช้ทุ่นล้อมคราบน้ำมันและดูดออก เพื่อป้องกันไม่ให้ขึ้นหาดหรือหากขึ้นสู่หาด ก็จะฉีดให้คราบน้ำมันให้รวมตัวกัน และนำไปทำลายเช่นเดียวกัน และหาดที่เป็นหาดหิน ก็จะใช้ทุ่นล้อมและตักคราบน้ำมันออก และนำไปทำลาย เพื่อป้องกันกระทบกับหาด ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชีวิตประชาชน
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าจะต้องดำเนินการติดตามเฝ้าระวัง และติดตามการไหลของคราบน้ำมัน เพื่อดูเส้นทางการเดินเรือ ส่วนกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล และการใช้สารเคมีเข้ามาช่วยในการขจัดคราบน้ำมัน จะมีการพิจารณาอนุญาตจากหน่วยงานที่เป็นสากล เพื่อให้ไม่กระทบกับทรัพยากรทางทะเล ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ พร้อมสนับสนุน ทั้งข้อมูล เพื่อเป็นแนวทางขจัดคราบน้ำมัน และติดตามการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน ที่ผ่านมามีแผนการดำเนินงาน หรือแผนปฏิบัติการกรณีๆ ไปเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นที่เกาะเสม็ดมาแล้ว ทำให้มีบทเรียนในการติดตาม และประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อลดที่จะเกิดกับประชาชน สัตว์ทะเล ปะการัง ทรัพยากรทางทะเล โดยบ่ายวันนี้จะมีการประชุมเพื่อประเมินความเสียหาย และจัดวางแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเบื้องต้น
สำหรับปริมาณการรั่วไหลของน้ำมัน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลอีกครั้ง ซึ่งข้อมูลที่ออกมาเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น และจำเป็นต้องมีการประมาณการสูงไว้ เพื่อการเตรียมอุปกรณ์ในการเข้าปฏิบัติการได้ อีกทั้ง การสำรวจทางอากาศ และด้วยเรือผิวน้ำ พบว่าปริมาณคราบน้ำมันลดน้อยลงมาก และผลกระทบจะไม่รุนแรง และคาดว่าจะอยู่ที่ 20-50 ตัน และปัจจุบันก็จะมีการส่งเครื่องบินตรวจสอบทุกวัน และขอให้มั่นใจกองทัพเรือในการดำเนินการ ซึ่งตัวเลขการรั่วไหลน้ำมันเป็นเรื่องที่ปกปิดลำบาก หรือบริษัทก็ไม่น่าจะมีเจตนาปกปิด และทางกองทัพเรือจะชี้แจงความคืบหน้าให้รับทราบต่อเนื่อง คาดว่าระยะเวลาในการดำเนินการขจัดคราบน้ำมัน จะใช้เวลาปฏิบัติการเป็นเวลา 5 วัน
สำหรับอาหารทะเลขณะนี้ ขอยืนยันว่ายังไม่กระทบกับอาหารทะเล ขอให้ประชาชน อย่างเพิ่งตื่นตระหนก ประกอบกับขณะนี้พื้นที่บริเวณที่เกิดเหตุ มีการสั่งการห้ามทำประมงอยู่แล้ว และขอให้ติดตามข่าวสาร เพราะการปฏิบัติการยังอยู่ในลักษณะใช้ทุ่นล้อม ส่วนความรับผิดชอบ บุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหายก็จะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ ยังต้องอยู่ในขั้นตอนของการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน