ถ้ากล่าวถึง นิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 66 แห่ง ตั้งกระจายใน 16 จังหวัดของประเทศไทย พื้นที่รวม 182,273 ไร่ จำนวนโรงงาน 4,845 โรง เงินลงทุนรวม 5.59 ล้านล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงาน 926,581 คน
ทั้งนี้จะเห็นว่า นิคมอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ จัดตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 42 แห่ง (64%) พื้นที่รวม 144,371.29 ไร่ (79%) จำนวนโรงงาน 3,148 โรงงาน (65%) เงินลงทุน 3.99 ล้านล้านบาท (72%) และก่อให้เกิดการจ้างงาน 562,909 คน (61%)
ตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายการพัฒนา EEC ในวันที่ 17 มกราคม 2560 มีการออกพระราชบัญญัติรองรับเมื่อ 15 พฤษภาคม 2561 โดยได้กำหนดให้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือเรียกว่า “พื้นที่ไข่ขาว” ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง พื้นที่รวม 8.29 ล้านไร่ ขณะที่ ได้กำหนด เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือเรียกว่า “พื้นที่ไข่แดง” หมายถึง พื้นที่ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
ทั้งนี้ในปัจจุบันประกาศกำหนดแล้วจำนวน 35 แห่ง โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยขน์เป็นพิเศษ จะต้องเป็น “ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ หรือ ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่ไข่แดง เท่านั้น” แต่จะต้องเป็นผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ซึ่งมี “อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ” ทั้งสิ้น 12 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ได้แก่
-
อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)
-
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
-
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)
-
อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)
-
อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)
และเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ได้แก่
-
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)
-
อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
-
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
-
อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
-
อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
จากนั้นได้เพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 2 อุตสาหกรรม ได้แก่
-
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defence Industry)
-
อุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรและการศึกษา (Education and Human Resource Development Industry)
ทั้งนี้การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และอำนวยความสะดวกในลักษณะบูรณาการ การจัดตั้ง กำกับดูแล และควบคุมการพัฒนาอุตสาหกรรม ให้ได้มาตรฐานระดับสากล มีความปลอดภัยต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านต่างๆ ควบคู่ไปด้วย
กว่า 5 ปี ที่ผ่านมา มี นิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่ EEC ที่ได้รับการยกระดับเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม รูปแบบนิคมอุตสาหกรรม โดยได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กพ 61 จำนวน 2 แห่ง ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 61 จำนวน 19 แห่ง และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 64 จำนวน 5 แห่ง ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 26 แห่ง กระจายอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ชลบุรี 15 แห่ง ระยอง 10 แห่ง รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ EEC อะไรบ้าง
จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง คือ นิคมฯ ที.เอฟ.ดี 2 รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ
จังหวัดชลบุรี จำนวน 15 แห่ง ได้แก่
1. นิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์ ดิจิทัล
2. นิคมฯอมตะซิตี้ ชลบุรี (โครงการ 2) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องที่ยวกลุ่มรายได้ดี การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การบินและโลจิสติกส์ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร
3. นิคมฯยามาโตะ อินดัสทรีส์ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ
4. นิคมฯWHA ชลบุรี รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบินและโลจิสติกส์ และดิจิทัล
5. นิคมฯWHA ชลบุรี 2 รองรับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล
6. นิคมฯ WHA อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 รองรับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล
7. นิคมฯ WHA อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบินและโลจิสติกส์ และหุ่นยนต์
8. นิคมฯปิ่นทอง รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และ การบินและโลจิสติกส์
9. นิคมฯปิ่นทอง (แหลมฉบัง) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
10. นิคมฯปิ่นทอง (โครงการ 3) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต
11. นิคมฯปิ่นทอง (โครงการ 4) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล และเชื้อเพลิงชีวิภาพและเคมีชีวภาพ
12. นิคมฯปิ่นทอง (โครงการ 5) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ แปรรูปอาหาร หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
13. นิคมฯเอเชีย คลีน ชลบุรี รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
14. นิคมฯโรจนะแหลมฉบัง ชลบุรี รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
15. นิคมฯโรจนะหนองใหญ่ ชลบุรี รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงกิจการเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยที่มีศักยภาพสูง
จังหวัดระยอง จำนวน 10 แห่ง ได้แก่
1. นิคมฯดับบลิวเอชเอ ระยอง 36) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์ และการบินและโลจิสติกส์
2. นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3. นิคมฯ WHA อีสเทิร์นซีบอร์ด 1 รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์
4. นิคมฯ WHA อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์
5. นิคมฯซี.พี. ระยอง รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ครบวงจร และดิจิทัล
6. นิคมฯอมตะซิตี้ ระยอง รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ การบินและโลจิสติกส์
7. นิคม Smart Parkฯ รองรับอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
8. นิคมฯWHAตะวันออก (มาบตาพุด) รองรับอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ
9. นิคมฯWHA อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์
10. นิคมฯเอ็กโกระยอง รองรับอุตสาหกรรมรองยานยนต์แห่งอนาคต การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์ ดิจิทัล
บทความ โดย ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์
เข้าใจแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านต่างๆของไทยเพิ่มเติม
เข้าใจให้ลึกถึงกลไกการพัฒนา ‘อุตสาหกรรมเป้าหมาย’ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้แบบไม่หลงทาง
ติดสปีดให้อุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วย ‘EEC แซนด์บอกซ์’ ตั้งเป้าดึงสุดยอดนักลงทุนเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
EEC จับมือ 10 สถาบัน ถอดรหัส “ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้ยุคใหม่” เร่งสร้างบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
Post Views: 356