ชาวบ้านสุดงง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากการเทแอสฟัลท์เท่าระดับฝาท่อระบายน้ำลดความเดือดร้อนถนนเทพประสิทธิ์ตามการนำเสนอของผู้ว่าเมืองชลฯซึ่งจะเริ่มศุกร์ที่ 4 พ.ย.นี้ ล่าสุดนายกพัทยาเปลี่ยนแผนใหม่อีกสั่งตัดฝาท่อปรับระดับเท่าผิวจราจร คิดง่าย ทำง่าย ชี้เพื่อการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว
หลังเป็นดราม่ามาอย่างต่อเนื่อง จากกรณีที่เมืองพัทยาได้ว่าจ้างผู้รับเหมามาทำกาขุดเจาะฟุตปาธและผิวจราจรเพื่อวางระบบท่อระบายน้ำ แต่เป็นที่แคลงใจว่าหลังดำเนินการเสร็จในฝั่งขวาจากถนนสุขุมวิทถึงแยกแกรนด์พบว่าฝาตะแกรงท่อระบายน้ำจำนวนนับ 100 จุด มีระดับฝาท่อสูงกว่าแนวถนนถึง 7 ซม.ก่อนจะมีการเทพื้น ค.ส.ล. จึงเป็นประเด็นให้ผู้คนส่วนใหญ่มองถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดทำ อีกทั้งยังสร้างความลำบากให้กับประชาชนในใช้เป็นพื้นที่จอดรถ และยังสร้างอันตรายแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งพบว่าที่ผ่านมามีผู้เสียหายจำนวนหลายรายแล้ว
ต่อมากรณีนี้ นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมนายนริศ นิรามัยวงศ์ รองผู้ว่าราช การจังหวัดชลบุรี และคณะตรวจราชการ ลงพื้นที่ร่วม นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา และทีมผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา บริเวณตลอดแนวถนนเทพประสิทธิ์ เพื่อตรวจสอบสภาพปัญหาพื้นที่จริง ซึ่งก็พบว่าฝาท่อระบายน้ำสูงกว่าพื้นผิวถนนตลอดทั้งเส้นทางตามที่ได้ร้องเรียน
โดยเมืองพัทยาแจ้งว่าจัดทำโครงการท่อระบายน้ำใหม่เพื่อรองรับน้ำฝนจากฝั่งตะวันออกลงสู่ทะเลจึงว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการซึ่งปัจจุบันฝั่งขวาด้านที่หันหน้าลงทะเลดำเนินการวางท่อระบายเสร็จเป็นที่เรียบร้อย รวมทั้งการก่อสร้างฝาท่อระบายน้ำตลอดแนวถนนก่อนจะเท ค.ส.ล.เพื่อให้คืนสภาพไปก่อน ไม่ใช่เป็นการทำฝาท่อยกสูงอย่างที่เข้าใจกันเพียงแต่ยกระดับไว้เพื่อรอการปูแอสฟัลท์ขึ้นมาเท่าอยู่ในระดับเดียวกัน จึงทำให้ประชาชนเกิดความสงสัย รวมไปถึง สตง.ที่ลงพื้นที่มาสอบข้อเท็จจริง เรื่องนี้คงต้องยอมรับว่าแผนประชาสัมพันธ์เข้าไม่ถึงจึงทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
จากผลสรุปการลงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ถึงกรณีเรื่องแนวท่อระบายน้ำของถนนเทพประ สิทธิ์นั้นเป็นกระแสดราม่าไปทั่วในโลกเฟสบุ๊ค แต่เมืองพัทยาขาดการประชาสัมพันธ์ข่าวสารชี้แจงที่เข้าถึงประ ชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจากการมองดูสภาพแล้วก็คิดว่าหากปล่อยไว้และไปทำส่วนอื่นก่อน คงเป็นเรื่องที่จะรอไม่ได้และไม่น่าจะมีความปลอดภัย จึงหารือร่วมเมืองพัทยาให้เรียกผู้รับจ้างมาเจรจาในเรื่องของสัญญาว่าจ้างใหม่ โดยให้ดำเนินการปูแอสฟัลท์ ในฝั่งที่วางระบบท่อระบายน้ำไว้ให้เรียบร้อย ก่อนที่จะย้ายไปทำในแนวฝั่งตรงข้ามต่อไป โดยจะเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 4 พ.ย.นี้และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน
ล่าสุดเพจ “สายตรงนายกเมืองพัทยา” ออกเผยแพร่ภาพและข้อความประชาสัมพันธ์โดยระบุว่านายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ได้เรียกประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารสัญญาจ้าง พร้อมหน่วย งานตรวจสอบของภาครัฐเป็นการด่วนในวันที่ 3 พ.ย.เพื่อร่วมบททวนพิจารณาปรับแผนใหม่ ซึ่งในที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะเปลี่ยนวิธีแก้ไขจากการเทแอสฟัลท์บนถนนในฝั่งที่มีแนวฝาท่อระบายน้ำให้สูงขึ้นเท่ากับแนวฝาท่อระดับ 7 ซม.ด้วยเมืองพัทยามีแผนจะ “โอเวอร์เรย์” ถนนใหม่อยู่แล้ว เพราะปัจจุบันผิวจราจรมีสภาพขรุขระ เป็นหลุม เป็นบ่อ แต่เปลี่ยนมาเป็นวิธีการตัดขอบฝาท่อระบายน้ำให้เสมอกับผิวจราจรแทนการเทแอสฟัลท์ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความรวดเร็วและลดผลกระทบให้เร็วและมากที่สุด ซึ่งในโลกโซเชียลที่นำข่าวสารนี้ออกนำเสนอมีทั้งเห็นชอบด้วยและวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม โดยเสียงบางส่วนระบุว่าเมืองพัทยามีการบริหารจัดการหรือวางแผนลดกระทบที่ขาดประสิทธิภาพจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งควรจะไตร่ตรองและสั่งการกับผู้รับจ้างไว้แต่แรก โดยเฉพาะในช่วงเริ่มเปิดโครงการใหม่ที่ นายเกรียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา ได้นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ร่วมกับผู้รับจ้าง ซึ่งขณะนั้นรับปากว่าการก่อสร้างและขุดเจาะจะมีการทำงานแบ่งเป็นเฟสในระยะ 200 เมตร ตลอดแนวถนนไปเรื่อย แต่สุดท้ายก็มีการดำเนินการตลอดทั้งเส้น จนชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่ก็ไม่มีการประชาสัมพันธ์ว่ามีการสั่งการแก้ไขอย่างใด
ปัจจุบันถนนฝั่งทิศเหนือตลอดแนวจากสุขุมวิทถึงจอมเทียนมีการวางท่อแล้วเสร็จและทำฟุตปาธทางเท้าไปแล้วบางส่วน โดยแนวฝาท่อระบายน้ำนั้นสูงกว่าระดับผิวจราจรถึง 7 ซม.ทำให้เกิดความสงสัยแก่ประชา ชน และสร้างอันตรายแก่ผู้ใช้รถ ใช้ถนน ซึ่งเรื่องนี้เมืองพัทยาแจ้งว่าที่ต้องยกระดับฝาท่อไว้ก็เพื่อรอเทแอสฟัลท์หรือโอเวอร์เรย์ผิวจราจรใหม่ทั้งเส้นในอนาคต
สุดท้ายเมืองพัทยาออกมาชี้แจงใหม่ว่าผลจากการประชุมร่วมได้เปลี่ยนแผนจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีนำเสนอ โดยจะให้วิธีการตัดแนวฝาท่อที่สูงให้มีระดับเดียวกับผิวจราจร ทั้งนี้อ้างว่าจะทำให้เกิดความรวดเร็วทั้งผลกระทบจากการค้าขายและอุบัติภัยบนท้องถนน ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนส่วนใหญ่สงสัยว่าเหตุใดเมืองพัทยาจึงไม่มีการวางแผนการบริหารจัดการสัญญาตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างโครงการ ขณะที่การตรวจรับงานนั้นมีการลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้าว่าตรงตามแผนงานที่กำหนดไว้หรือไม่จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้น ขณะที่หากมีการตัดแนวฝาท่อระบายน้ำออกเท่ากับผิวจราจรออกไป ในอนาคตเมื่อจะมีการจะโอเวอร์เรย์ผิวจราจรใหม่ก็ต้องมาทำการตั้งแนวฝาท่อเท่ากับแนวถนนอีกครั้ง กลายเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน ยุ่งยากเช่นเดิมจนเป็นที่สงสัยว่าจะต้องมีการเสียงบประมาณเพิ่มหรือไม่ หรือจะไม่มีการโอเวอร์เรย์ผิวจราจรตามที่ระบุไว้สัญญาจ้าง…