วันที่ 31 ม.ค. 2565 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า วันนี้มีการพูดคุยเรื่องที่พื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ยังมีการติดเชื้อโควิด-19 มากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ วันนี้มีรายงาน 1,298 ราย ซึ่งความสามารถของทางกรุงเทพมหานคร ยังดูแลผู้ป่วยที่มีจำนวนทรงตัว และมีแนวโน้มว่าอาจจะมีเพิ่มขึ้น ต้องขอความร่วมมือประชาชนในการดูลสุขอนามัยส่วนตัว และพื้นที่กรุงเทพมหานครยังเป็นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) จะต้องรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาประเทศมาในลักษณะของ Test & Go โดยที่ประชุมช่วงเช้าที่ผ่านมาตั้งข้อสังเกตและให้กรุงเทพมหานคร่วยกันดูแล ต้องสื่อสารถึงประชาชนคนกรุงเทพมหานครที่จะต้องรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามา
พร้อมกันนี้ โฆษก ศบค. ได้เน้นย้ำถึงเรื่องการเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 เป็นต้นไป โดยอนุญาตให้มาได้ทุกประเทศ พร้อมเน้นย้ำความสำคัญที่คนไทยต้องรู้เพื่อช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดู เพราะคนกลุ่มนี้จะมาอยู่ในพื้นที่สีฟ้า หรือเดินทางไปได้ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่ที่ต้องเฝ้าระวังคือการทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่ง Test & Go ในครั้งนี้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อควรแก้ไขจากครั้งที่แล้ว มีรายละเอียดดังนี้
1. อนุญาตเข้ามาได้ทุกประเทศ
2. ปรับการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง
3. จัดระบบการตรวจสอบ และกำกับการเข้าที่พัก และตรวจหาเชื้อให้ครบ 2 ครั้ง โดยต้องอยู่รอในที่พัก/สถานที่ที่กำหนด จนได้รับผลการตรวจ
4. กำหนดระบบประกันให้ชัดเจน กรณีประกันไม่ครอบคลุม ผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของ Hospital/ Hospite/Hotel Isolation และกรณี HRC (ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง) เอง
5. กรณีเกิดการระบาดมากขึ้น หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลง พิจารณาการรับผู้เดินทาง
แล้วปรับมาใช้ระบบพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (Sandbox)
ส่วน Sandbox นักท่องเที่ยวสามารถลงทะเบียนเข้าพื้นที่ จ.ชลบุรี และ จ.ตราด ได้ตั้งแต่ 1 ก.พ. 2565 เช่นกัน มีรายละเอียดคือ
1. จ.ชลบุรี (อ.บางละมุง เมืองพัทยา อ.ศรีราชา อ.เกาะสีชัง อ.สัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียน ต.บางเสร่)
2. จ.ตราด (เกาะช้าง)
3. การเปิดพื้นที่ให้เดินทางเชื่อมโยงในกลุ่มพื้นที่ จ.ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) ในช่วง 7 วันที่ต้องพำนักในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว
ในส่วนของมาตรการ ยังคงต้องเคร่งครัดการมีหลักฐานจองที่พัก 7 วันในโรงแรมที่กำหนด และการตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ใน DAY 0-1 และ DAY 5-6 โดยมีระบบการตรวจสอบ และกำกับการเข้าออกโรงแรมทุกวัน เป็นเวลา 7 วันในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว หรือในกลุ่มจังหวัด โดยไม่เกิน 3 โรงแรม รวมทั้ง ปรับมาตรการในการติดตามตัวเพื่อให้สามารถดำเนินการและติดตามได้ โดยให้โรงแรมเป็นผู้ตรวจสอบการเข้าพักทุกวัน เป็นระยะเวลา 7 วัน และมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ SHA Manager หรือ COVID Manager ทั้ง นี้ผู้เดินทางสามารถเดินทางไป-กลับในจังหวัดใกล้เคียงได้
การปรับมาตรการนั้นเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ และคนไทยปลอดภัยด้วย และนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของไทย ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจะต้องมีบทบาทหน้าที่ในการช่วยกันให้ Test & Go ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ยังรายงานด้วยว่าในเดือน ม.ค. มีผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนด 22 ราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหลังจากตรวจ RT-PCR แล้วผลติดเชื้อโควิด-19 แต่ตามตัวไม่พบ จึงขอความร่วมมือจองโรงแรมมาตั้งแต่ต้นในวันที่ 5 ซึ่งเป็นการตรวจครั้งที่ 2 และต้องอยู่รอผลก่อน โดยหากผลออกเร็วแล้วไม่ติดเชื้อก็เดินทางต่อได้ แต่หากผลยังไม่ออกเนื่องจากมีการตรวจจำนวนมากและต้องใช้เวลามาก จึงต้องการให้พักค้างคืน กรณีพบการติดเชื้อจะได้เข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างปลอดภัย
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการไปยัง พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ประสานกับ ศปม. ดูแลประเด็นเหล่านี้อย่างเข้มงวด โดยเริ่มแรกจะเริ่มจากการขอความร่วมมือ แต่หากไม่ได้จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย โฆษก ศบค. แจ้งปรับเปลี่ยนการแถลงข่าวของ ศบค. ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ลดเหลือ 2 วัน คือ วันจันทร์และวันพฤหัสบดี.