เงื่อนไข3ข้อ-ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ยุทธศาสตร์ พท.ตั้งรัฐบาล?
หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) แสดงท่าทีไม่ปิดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หากมีจุดยืนไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่
ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.สมัยหน้า ทุกพรรคมีสิทธิประกาศ หรือจับมือพรรคไหนเป็นพันธมิตรทางการเมืองได้ เพราะทางการเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร แต่ต้องฟังกระแสสังคมหรือประชาชนว่าเห็นด้วย และสนับสนุนหรือไม่ ที่สำคัญเพื่อไทย (พท.) ยังไม่ได้ประกาศเป็นศัตรูกับพรรคใด เพราะยังไม่ถึงเวลาเลือกตั้ง ดังนั้นทุกพรรคมีโอกาสจับขั้วทางการเมือง ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลเลือกตั้งว่าพรรคใดได้ที่นั่ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุด เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่
กรณี พท.ได้ยื่นเงื่อนไข 3 ข้อ เพื่อจับมือ พปชร. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั่นคือ เป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เป็นประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ ไม่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และทำเพื่อประชาชนเท่านั้น มองว่า พท.ยังเปิดกว้างพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยไม่ได้กีดกันพรรคหนึ่งพรรคใด เพื่อคานอำนาจและลดบทบาทสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ 250 คนเพื่อเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากประชาชนเท่านั้น
เหตุผลที่ พท.อาจจับมือ พปชร. ให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯแทน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และยังไม่มีท่าทีลงจากเก้าอี้ผู้นำประเทศสังเกตจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปพบปะกับประชาชนที่ภาคใต้ พบว่าคนใต้ยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่าภาคใต้เป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มายาวนานทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับกำลังใจมาก ถึงกับประกาศว่าไม่ยอมแพ้ สะท้อนให้เห็นว่า พปชร.เกิดปัญหาภายใน ทำให้เกิดความระส่ำระส่าย ไม่เป็นเอกภาพแม้ว่า พปชร.ได้ชูกลยุทธ์ จาก พล.อ.ประยุทธ์สู่ พล.อ.ประวิตร เชื่อว่าไม่ได้ผลและไปไม่ไหวเพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ เพื่อปัญหาปากท้องประชาชนดังนั้นโจทย์ใหญ่ของ พปชร. คือ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้เท่านั้น
ประเด็นที่มีการวิเคราะห์ว่า 3 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำลังเล่นบท ลับ ลวง พราง เพื่อสลับหน้า หรือเก้าอี้ ขึ้นสู่ผู้นำประเทศแบบ 4-5 ปีก่อน เชื่อว่าทำได้ยาก เพราะมีผู้สิทธิเลือกตั้งรู้ทัน และไม่ตอบโจทย์ประชาชน อีกทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนักธุรกิจชื่อดังหลายคน ได้ปฏิเสธเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแล้ว ทำให้ พปชร.ไม่มีตัวเลือกคนที่ 3 เป็นแคนดิเดตนายกฯ เพื่อนำเสนอนโยบายเลือกตั้งสมัยหน้าได้ จึงเป็นโอกาสพรรคอื่นที่เปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ ไปแล้ว อาจมีโอกาสก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศได้เช่นกัน
หาก พท. ไม่มั่นใจได้รับเลือกตั้งแบบถล่มทลาย หรือแลนด์สไลด์ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เปิดกว้างรับทุกพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า ถ้า พท.ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.จำนวน 200-230 คน อาจจับมือพรรคเล็ก หรือพรรคท้องถิ่น อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) หรือกลุ่มชลบุรี มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลก่อน จากนั้นค่อยดึงพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และฝ่ายค้าน เข้าร่วมตามลำดับ เพื่อให้มีเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 300 เสียงขึ้นไป และมีโอกาสจัดตั้งเป็นรัฐบาลที่มาจากอำนาจประชาชนแท้จริง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ที่มาของ ส.ว. 250 คน ที่ไม่มาจากประชาชน พร้อมรักษาผลประโยชน์ประชาชนและประเทศเป็นสำคัญ
จากสถานการณ์การเมือง ยังไม่มีบทสรุปว่าพรรคไหนจับมือกับพรรคไหน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า เชื่อว่าทุกพรรครอผลการเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยมาพูดคุยเจรจากัน หากจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ลงตัวทุกพรรคพร้อมเป็นรัฐบาล ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน เพราะการเมืองถือเป็นการลงทุนประเภทหนึ่งที่มีความเสี่ยงไม่แพ้ตลาดหุ้น ถ้ามีโอกาสทำกำไร ต้องคว้าไว้ก่อน ดีกว่าปล่อยขาดทุนภายหลัง
ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ในวันนี้ต้องบอกว่าชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นชื่อที่ขายได้ยากแล้วในทางการเมือง และมีปัญหาหลายอย่างทั้งในแง่ความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์เองด้วย หรือในแง่ของปัญหาเศรษฐกิจจากการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากนี้ เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การรัฐประหาร 2557 ซึ่งพรรคเพื่อไทย (พท.) เองก็มีจุดยืนในเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดกรณีนายกฯ 8 ปี เราจะเห็นความชัดเจนด้วย เพราะฉะนั้น ไม่น่าเป็นที่แปลกใจว่าทำไมทาง พท. หรือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้า พท. จึงประกาศชัดว่าหากไม่มีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ก็จะสามารถพูดคุยหรือร่วมงานกันได้ และสิ่งที่สำคัญคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะสามารถพูดคุยกับฝ่ายการเมืองได้ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในแง่ของมิตรภาพ ความสัมพันธ์อันดี หรือแม้กระทั่งการแสดงท่าทีทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่ พล.อ.ประวิตรดำรงตำแหน่งรักษาการนายกฯ ได้ 38 วัน เราจะเห็นภาพที่ชัดเจนว่าคนจำนวนไม่น้อยพูดถึง พล.อ.ประวิตรในเชิงบวกมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่าทั้งสองคนจะอยู่ในเครือข่าย 3 ป. แต่ในแง่ของภาพที่ออกมานั้น พล.อ.ประวิตรน่าจะเป็นที่ยอมรับมากกว่า ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าหากแคนดิเดตนายกฯของพรรค พปชร. ไม่มีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว การพูดคุยกับฝ่ายการเมือง หรือแม้กระทั่งจะพูดคุยกับทางพรรคเพื่อไทย จะง่ายขึ้น
การแลนด์สไลด์นั้น ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ง่าย และเป็นโจทย์ที่ยากอยู่พอสมควรสำหรับการที่จะขับเคลื่อนให้ได้คะแนนเสียงเกิน 250 เสียง เพราะวันนี้ ด้วยกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปจากเดิมทั้งในแง่ของบัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นแบบเบอร์เดียวทั่วประเทศ จะทำให้เจตจำนงของประชาชนที่ถูกสะท้อนผ่านการลงคะแนนเสียงถูกแยกออกเป็น 2 ส่วนเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือแม้กระทั่งสูตรคำนวณ ส.ส.แบบหาร 100 หรือ 500 แม้วันนี้ข้อสรุปจะออกมาเป็นหาร 100 แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ากฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญจะต้องทำการเสนอใหม่ และถ้าหากมีการเสนอหาร 500 อีก อาจจะไม่ได้เอื้อกับพรรคใหญ่ หรือแม้กระทั่งภูมิทัศน์ทางการเมือง ผู้คนที่เปลี่ยนไปก็อาจจะทำให้พฤติกรรมในการลงคะแนนเสียงไม่เหมือนเดิม
เพราะฉะนั้น ปัจจัยเหล่านี้อาจจะทำให้เรื่องแลนด์สไลด์ไม่ง่ายสำหรับพรรคเพื่อไทย โดยในบางพื้นที่ พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถเปิดได้ เช่น ภาคใต้ซึ่งในวันนี้เป็นพื้นที่ใหม่ทางการเมือง และหลายพรรคการเมืองก็มีเป้าหมายที่จะลงสู่ภาคใต้กันมาก ตรงนี้ต้องบอกว่าไม่ง่ายสำหรับการที่จะแลนด์สไลด์ ดังนั้น การที่จะต้อง แสวงหามิตรภาพทางการเมือง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะเรื่องของการเมืองคือการแสวงหามิตร แต่ถ้า ส.ส.ไม่สามารถจะมีเครือข่ายหรือมีความร่วมมือกันได้ ท้ายที่สุด อย่าลืมว่ากลไกในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า ส.ว. 250 เสียงก็ยังคงมีบทบาทอยู่ และกลไกอื่นๆ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ก็ยังคงมีบทบาทอยู่ ดังนั้น การที่จะต้องมีความสัมพันธ์อันดีในระหว่างนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วยกัน ผมคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยคิดถูก และควรจะต้องเดินมาในทางนี้ด้วยนอกจากจะมุ่งเป้าไปสู่การแลนด์สไลด์อย่างเดียว
หากจะจัดตั้งรัฐบาลโดยร่วมกับพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเท่านั้น คิดว่าเสียงจะไม่เพียงพอ เพราะเมื่อโหวตเลือกนายกฯในการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังคงต้องใช้กลไกมาตรา 272 กล่าวคือ ต้องมีการนับเสียงของ ส.ว. 250 เสียงเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้น คนที่จะได้รับการโหวตเป็นนายกฯ ต้องมี 376 เสียงขึ้นไป จาก 750 เสียง ไม่ใช่จาก 500 เสียง ซึ่งหมายถึง ถ้าพรรคเพื่อไทยไปถึงเป้าหมายตามที่วางไว้ 250 เสียง ยังต้องใช้เสียงอีกถึง 126 เสียง ไม่รวม ส.ว. หมายความว่าจะต้องมีการร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นโดยเฉพาะบางพรรคที่สามารถพูดคุยกันได้ หรือมีขั้วอุดมการณ์ที่ไม่ได้แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนัก ซึ่งก็มีความจำเป็น ถ้าเรายังต้องฝ่าด่านการจัดตั้งรัฐบาลผ่านกลไกที่ถูกวางไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560
แต่เป้าหมายใหญ่ ณ วันนี้ คือต้องทำอย่างไรในการที่จะเอาอำนาจ คสช.ออกจากการเมืองก่อน ซึ่งอำนาจที่ว่านั้นโดยหลักคือกลไกตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งแน่นอนว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญในระยะสั้นคงเป็นเรื่องยาก และเราก็จะเห็นได้ว่าการเสนอแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 5-6 ครั้งโดยภาคประชาชน ก็ยังไม่ผ่าน ผ่านครั้งเดียวคือเรื่องของระบบการเลือกตั้ง จึงต้องยอมรับความเป็นจริงทางการเมืองว่า ถ้าในเมื่อกติกายังจำกัดอยู่อย่างนี้ เราก็อาจจะเลือก 2 เงื่อนไขที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ในเวลานี้ ซึ่งก็คือการไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่ในฐานะของอดีตหัวหน้า คสช. เป็นผู้ทำรัฐประหารและเข้ามาสู่การเมืองโดยไม่ผ่านกระบวนการของการเลือกตั้ง แม้ว่าในปี 2562 จะมีการเลือกตั้งก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้ลงสู่สนามเลือกตั้ง เป็นเพียงแค่แคนดิเดตของพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ในขณะที่ พล.อ.ประวิตรถึงแม้ว่าการเลือกตั้งในปี 2562 จะไม่ได้ลงสู่สนามเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันก็อยู่ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง อย่างน้อยก็ยังได้สัมผัสการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ และโดยท่าทีการแสดงออกของ พล.อ.ประวิตร มีลักษณะของการที่จะประนีประนอมกับฝ่ายการเมืองที่มากกว่า เพราะฉะนั้นจริงอยู่ที่บอกว่า พล.อ.ประวิตรก็เป็นหนึ่งใน คสช. แต่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ในข้อจำกัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ในส่วนของแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย วันนี้ทุกอย่างยังอยู่ในขั้นของการประเมินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชื่อของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หรือนายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดต้องมีการประเมินกันก่อน เพราะฉะนั้นสถานการณ์ทางการเมือง ข้อจำกัด หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการส่งชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ นั้นก็เป็นสิ่งที่ยังต้องมีการพูดคุยกันต่อ การวางยุทธศาสตร์การเมืองแบบนี้จึงเป็นลักษณะที่ยังคงมีการแบ่งรับแบ่งสู้ในทางการเมือง เพื่อที่จะประเมินทั้งตัวแคนดิเดตของพรรคด้วย และประเมินสถานการณ์การเมืองของพรรคว่าควรจะต้องกำหนดทิศทางอย่างไร ถ้าพรรคต้องการไปสู่เป้าหมายของการจัดตั้งรัฐบาล หรือการได้รับเลือกเป็นนายกฯ
คิดว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทยคุยกันไม่ยาก เพราะภูมิใจไทยคือพรรคที่แตกหน่อจากพรรคเพื่อไทยเดิม แกนนำพรรคหลายคนก็เข้าสู่การเมืองในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็เข้าสู่การเมืองในสมัยนั้น และอดีตเคยอยู่ในพรรคไทยรักไทยมาก่อนที่จะมาอยู่ในพรรคพลังประชาชน ก่อนที่จะแตกตัวไปเป็นพรรคภูมิใจไทย การพูดคุยกันกับบรรดาแกนนำของพรรคภูมิใจไทยก็คงไม่ใช่เรื่องยาก แม้ว่าอาจจะไม่เคยเห็นภาพของการร่วมมือกันในรัฐบาลมาก่อน นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทยเองก็มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่ได้สุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น การพูดคุยกันก็คงจะไม่ยาก
ตรงนี้มองว่า เป็นการวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ดีของพรรคเพื่อไทยและของ นพ.ชลน่าน เพราะวันนี้การเมืองคือเรื่องของการต้องแสวงหามิตรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญปี 2560
อย่างไรก็ตาม กลไกในการเลือกนายกฯ การที่ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง หรือ ส.ส.แตกกันนั้น โอกาสที่จะฝ่าด่านในการจัดตั้งรัฐบาลและทำให้เกิดการลดบทบาทของ ส.ว.ในการควบคุมกำกับการเมืองจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น วันนี้ภารกิจสำคัญคือต้องทลายกำแพง ส.ว. 250 เสียงให้สำเร็จเสียก่อน ในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนหลังจากนั้นจะไปแก้รัฐธรรมนูญหรือจะไปดำเนินการทางการเมืองอะไรต่างๆ ก็ว่ากันต่อไป