วันอาทิตย์ ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
พายุ‘เซินกา’ฟาดหาง12จว.
‘อีสาน’วิกฤต
อุตุฯย้ำฝนตกหนัก-ท่วมยาว
อุบลฯอ่วมจมพื้นที่เศรษฐกิจ
คมนาคมเผยถนนพัง206สาย
น้ำเจ้าพระยาทะลักท่วมอ่างทอง
กรุงเก่าท่วม67โบราณสถาน
พายุโซนร้อน เซินกา (SONCA)อ่อนกำลัง แต่ฝนยังตกหนัก คาดอีสานยังตกอยู่ในภาวะน้ำท่วมยาว อุบลราชธานี จมพื้นที่เศรษฐกิจยับเยินขณะที่ภาคกลางยังไม่พ้นภัยน้ำเจ้าพระยาทะลักอ่างทอง ส่วนกรุงเก่าโบราณสถาน 67 แห่ง ได้รับผลกระทบคมนาคมเผยถนนพัง 206 สาย
เมื่อเวลา 05.00 น.วันที่ 15 ตุลาคม 2565 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ “พายุ เซินกา (SONCA)” ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2565 ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (15ตุลาคม2565) พายุโซนร้อน เซินกา (SONCA) ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองกว๋างหงาย ประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 109 กิโลเมตร ทางตะวันออกของแขวงเซกอง ประเทศลาว หรือที่ละติจูด 15.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.6 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยพายุนี้มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ
ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ระวังอันตรายจากลมแรง-ฝนหนัก
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมแรง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
สำหรับอ่าวไทยตอนล่าง ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เตือนฉบับที่8และที่ 9
ต่อมา กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่อง “พายุ เซินกา” ฉบับที่8และ 9 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เนื้อหาสอดคล้องกันคือ พายุดีเปรสชัน “เซินกา” ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณแขวงเซกอง ประเทศลาวแล้ว แต่ยังคงส่งผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก มีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง กับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่9เป็นฉบับสุดท้ายของเหตุการณ์นี้
นายกฯกำชับช่วยผู้ประสบอุทกภัย
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำชับส่วนราชการเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงเคลื่อนย้ายคน สิ่งของและสัตว์เลี้ยงไปในที่ปลอดภัย เน้นย้ำให้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น สำหรับการดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดการช่วยเหลือแก่เกษตรอย่างเต็มที่ ผ่านการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์
สัตว์ได้รับผลกระทบกว่า4.4ล้านตัว
ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์ผลกระทบและความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้านปศุสัตว์ ที่ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-14 ต.ค. มีดังนี้ ได้รับผลกระทบสะสมรวม 19 จังหวัด 139 อำเภอ 651 ตำบล 2,466 หมู่บ้าน (อยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก สุโขทัย กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์) เกษตรกร 67,762 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,469,563 ตัว (โค 193,358 ตัว กระบือ 42,078 ตัว สุกร 35,949 ตัว แพะ/แกะ 14,357 ตัว สัตว์ปีก 4,183,821 ตัว) แปลงหญ้าได้รับผลกระทบ 2,002.75 ไร่
อพยพสัตว์พื้นที่น้ำท่วมแล้ว 2 แสนกว่าตัว แจกอาหาร 8.7 แสนกิโลกรัมได้ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าสะสมรวม ดังนี้ อพยพสัตว์ 210,920 ตัว รักษาสัตว์ 1,582 ตัว แจกจ่ายถุงยังชีพ 1,570 ถุง แจกจ่ายพืชอาหารสัตว์ 873,710 กิโลกรัม แจกจ่ายเวชภัณฑ์เสริมสร้างสุขภาพสัตว์ 23,606 ชุด(แร่ธาตุ วิตามินผง ยาปฏิชีวนะชนิดผง)
กรมปศุสัตว์ตั้งวอร์รูมช่วยเกษตรกร
นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า กรมปศุสัตว์ได้ตั้งวอร์รูมทั้งส่วนกลางและทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์ พร้อมเข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม มีการจัดส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ป่วยทั่วประเทศ นายเฉลิมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กำชับให้มีการจัดหน่วยงานบริการเคลื่อนที่เร็วสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความช่วยเหลือเร็วที่สุด ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำรวจความเสียหายของเกษตรกรเพื่อขอรับการชดเชย
สำหรับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ที่ต้องการรับการช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร 0 2653 4444 ต่อ 3315 หรือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ : disaster@dld.go.th หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ที่สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์มือถือได้ทุกระบบ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที
“เฉลิมชัย”สั่งเร่งส่งเสบียงสัตว์-เวชภัณฑ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้สั่งการกรมปศุสัตว์ช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งการอพยพสัตว์ ส่งเสบียงอาหารสัตว์ รวมถึงมอบเวชภัณฑ์ในการสร้างเสริมสุขภาพสัตว์ ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง หลังจากที่ได้ปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานเพื่อสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ไปช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ป่วยทั่วประเทศแล้ว ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย จึงกำชับให้หน่วยงานบริการเคลื่อนที่เร็วพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยทันทีที่วอร์รูมซึ่งจัดตั้งทั้งในส่วนกลางและทุกจังหวัดได้รับทราบถึงภัยที่เกิดขึ้น ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุด
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ได้ย้ำให้ขนส่งเสบียงอาหารสัตว์ไปถึงมือเกษตรกรอย่างทั่วถึง ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา นำส่งโดยรถบรรทุกหญ้าอาหารสัตว์ไปยังอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษซึ่งรถบรรทุกต้องลุยน้ำท่วมสูง จากนั้นนำลงเรือท้องแบนอีกทอดเพื่อไปให้ถึงชุมชน จนกระทั่งปศุสัตว์ที่เกษตรกรเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่สูงได้กินหญ้าที่นำไปให้ พร้อมกันนี้ยังมีเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าไปดูแลสุขภาพสัตว์ให้ด้วย
ระทึก!คันกั้นน้ำ อ.เมืองอ่างทอง พัง
กลางดึกที่ผ่านมา มีเหตุระทึก คันกั้นน้ำเจ้าพระยาบริเวณหมู่ 6 ตำบลบ้านแห อำเภอเมืองอ่างทอง เกิดพังเป็นทางยาว ทำให้น้ำไหลบ่าท่วมบ้านติดแนวคันกั้นน้ำ กู้ภัยต้องนำเรือฝ่ากระแสน้ำเข้าไปช่วยผู้ที่ติดอยู่ในบ้าน แต่การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะน้ำแรง และเป็นช่วงกลางคืนแสงสว่างไม่เพียงพอ สุดท้ายสามารถช่วยชายพิการ ผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็กออกมาจากบ้านได้อย่างปลอดภัย ผู้ที่อยู่ในบ้านเล่านาทีระทึกว่า ได้ยินเสียงน้ำซัดแรงมาก เมื่อเปิดประตูบ้านไปดูพบน้ำทะลักเข้าบ้าน ต้องรีบขนของขึ้นข้างบน แต่ความที่น้ำมาแรงและเร็ว ทำให้ออกจากบ้านไม่ได้ และไม่ได้หยิบทรัพย์สินติดตัวมา นอกจากอุ้มสุนัขออกมาด้วยกัน ส่วนน้ำที่เพิ่มสูงรวดเร็วได้ไหลบ่าข้ามถนนอ่างทอง-ป่าโมกลงคลองชลประทาน เจ้าหน้าที่ต้องเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์
อ่างทอง น้ำท่วมวัดบ้านไหลข้ามถนน
น้ำไหลเข้าท่วมวัดบ้านเรือนประชาชน
เมื่อเวลา 07.00น. ที่บริเวณหน้าวัดไชยสงคราม หมู่ 6 ตำบลบ้านแห อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลอดทะลุรอดใตเขื่อนบริเวณหมู่ 5 ตำบลบ้านแห เมื่อคืนที่ผ่านมา และได้เอ่อล้นขยายวงกว้างไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหมู่ 5หมู่ 6ตำบลบ้านแห และวัดไชยสงคราม และขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง เข้าท่วมภายในวัดสูงร่วม2เมตร และยังเอ่อล้นไหลข้ามถนนอ่างทอง-ป่าโมกสายในเป็นระยะทางยาวกว่า1กิโลเมตร กัดเซาะถนนเริ่มพังหลายจุดรวมทั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างหักโค่นลงภายในคลองชลประทาน และน้ำยังคงไหลข้ามถนนขยายวงกว้าง โดยมีเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองอ่างทอง นำแบร์ริเอ่อร์ มาช่วยกันวางริมถนนกั้นน้ำที่กำลังเอล้นข้ามถนนช่วยให้กับทาง อบต.บ้านแห ที่วางคันดินเพื่อเชื่อมต่อกัน ไม่ไห้น้ำขยายวงกว้าง อย่างเร่งด่วน
น้ำท่วมโบราณสถานกรุงเก่า
นายภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กรมศิลปากรสั่งติดตามสถานการณ์น้ำที่อาจกระทบต่อโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งบริเวณใกล้เคียง ตรวจสอบพบว่าพื้นที่นอกเกาะเมือง พื้นที่โบราณสถานได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำด้านทิศเหนือและริมน้ำมีโบราณสถานได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 67 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณะเสริมความมั่นคงไว้แล้ว ถูกน้ำแช่ขังได้โดยไม่กระทบโครงสร้างความมั่นคงของโบราณสถาน มีความเสียหายบ้างเล็กน้อยในเรื่องการชำรุดของวัสดุ เช่น อิฐผุกร่อน ซึ่งสกัดเปลี่ยนได้ ภายหลังน้ำลดกรมศิลปากรจะเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อบูรณะเสริมความมั่นคงต่อไป
เขตเศรษฐกิจเมืองอุบลฯระดับน้ำสูง
ประชาชนบริเวณถนนแยกบูรพาใน บอกว่าช่วงต้นเดือนตุลาคม ฝนตกหนัก จากนั้นน้ำเริ่มท่วมขึ้นตลอดจนถึงวันนี้ ทำให้การสัญจรยากลำบากมาก และต้องเฝ้าระดับน้ำอยู่ตลอด
นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี เปิดเผยว่าขณะนี้ระดับน้ำแม่น้ำมูลนิ่งเข้าสู่วันที่ 3 เริ่มเป็นสัญญาณที่ดี และทางเทศบาลนครอุบลราชธานีได้เข้าให้การช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำดื่ม และที่พักอาศัย รวมถึงกระสอบทราย ขณะนี้ลงพื้นที่นำกระสอบมาวางเป็นทางเดินให้ประชาชนได้สัญจร
สำหรับเส้นทางจราจรในตัวเมือง ตั้งแต่ถนนบูรพาใน ไปจนถึงสี่แยกถนนสรรพสิท มีน้ำท่วมขังตลอดเส้นทาง โดยย่านนี้ถือเป็นเขตเศรษฐกิจของ จ.อุบลราชธานี เนื่องจากใกล้โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ บางร้านที่น้ำไม่ท่วมยังคงเปิดทำการปกติ บางร้านวางกระสอบทรายขึ้นสูง
ขอนแก่น เร่งดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยคณะ ขึ้นเรือนำถุงยังชีพ น้ำดื่ม มอบผู้ประสบอุทกภัยที่บ้านโนนสวรรค์ อ.อุบลรัตน์ พื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ โดยได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่เพิ่มขึ้นเกินระดับกักเก็บ ในหมู่บ้านราว ๆ 20 ครัวเรือนกลางหมู่บ้านเป็นจุดน้ำท่วมไม่ถึง ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ทีมแพทย์ตรวจสุขภาพดูแลรักษาต่อเนื่อง คาดน้ำท่วมพื้นที่ขอนแก่นจะยาวนานไม่น้อยกว่า 2 เดือน
จิตอาสา“ชาวศรีราชา”ช่วยผู้ประสบภัย
เมื่อเวลา 03.00น. ที่บริเวณปั๊มน้ำมัน ปตท.เขาชี ปิ่นทอง3 ริมถนนสายมาบเอียง-แหลมฉบัง ตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จุดรวมพลจิตอาสา ”ชาวศรีราชา” คนไทยไม่ทิ้งกัน นำโดย นายปพนพัชญ์ ณัฐดุลย์พานิช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลหนองขาม พร้อมด้วย ทีมงานช.ปราการชล ทีมงานอินโดจีน ทีมงานอาสาสมัครหน่วยกู้ภัยเพียวเยี้ยงไท้ศรีราชา ทีมงานพระครูญาณประยุต เจ้าอาวาสวัดเขาตะแบก รวมทีมงานจิตอาสา”ชาวศรีราชา”กว่า 50 คน นำรถยนต์จำนวน 15 คัน ขนอุปกรณ์การทำอาหาร พร้อมอาหารสด อาหารแห้ง น้ำดื่ม 400 แพ๊ค ถุงยังชีพ 300ถุง เดินทางไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่”หมู่บ้านบางพระนอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี” โดยไปจัดตั้งโรงทานทำอาหารกล่องแจก แจกถุงยังชีพ แจกน้ำดื่ม แก่ผู้ประสบภัยที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมในครั้งนี้กว่า 500 ครอบครัว
ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุน จาก ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือฉวีวรรณกรุ๊ป นายกฤตพัฒน์ปุณยวิทิตโรจน์ ผู้ทำการแทนนายกพุทธสมาคมเพียวเยี้ยงไท้ ศรีราชาพร้อมครอบครัว นายปพนพัชญ์ณัฐดุลย์พานิช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลหนองขาม ท่านพระครูญาณประยุต เจ้าอาวาสวัดเขาตะแบก กลุ่มชาวจีนในจังหวัดชลบุรี-ระยอง
น้ำท่วมตลาดเก่า100ปี คุ้งสำเภา
ส่วนสถานการณ์น้ำ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ยังคงวิกฤติ เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสะแกกรัง ที่ไหลไปรวมกันยังคงมีปริมาณมากกว่า 3,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำที่ท่วม ตลาดเก่า 100 ปี คุ้งสำเภา แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนชื่อดังของ อ.มโนรมย์ ระดับน้ำยังคงสูง 30-80 เซนติเมตร โดยเฉพาะบ้านเรือนและร้านค้าที่เป็นเรือนไม้เก่าติดแม่น้ำเจ้าพระยา กว่า 40 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องอาศัยอยู่บนชั้น 2 หลายหลังประสบปัญหาไม่มีห้องน้ำใช้ ต้องออกไปใช้ห้องน้ำตามสถานที่ต่างๆ นอกบ้าน แต่ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกไปใช้ห้องน้ำนอกบ้านได้ ต้องหาซื้อส้วมเคลื่อนที่มาไว้ใช้แทน
ส่วนบริเวณใต้สะพานมโนรมย์ สะพานเชื่อมระหว่าง จ.ชัยนาท กับ จ.อุทัยธานี มีน้ำท่วมสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร เทศบาลตำบลคุ้งสำเภาได้นำกระสอบทรายกั้นน้ำไว้ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำออกตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมถนนทางหลวงชนบท 3265 อีกทั้งยังได้เสริมกระสอบทรายเพิ่มขึ้นเป็น 5 ชั้น 3 แถว ตั้งแต่บริเวณใต้สะพานมโนรมย์ ไปจนถึงหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลคุ้งสำเภา ระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อเตรียมรับฝนจากพายุเซินกาที่อาจทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอีก และเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน สถานที่ราชการของ อ.มโนรมย์ .
สรุปอุทกภัยในเส้นทางคมนาคม
กระทรวงคมนาคม สรุปรายงานอุทกภัยในเส้นทางคมนาคม ข้อมูล ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2565 เวลา 15.00 น. รายละเอียดดังนี้
1.มีโครงข่ายคมนาคมที่ได้รับผลกระทบ รวม 206 สายทาง 296 แห่ง ผ่านได้ 132 แห่ง ผ่านไม่ได้ 164 แห่ง โดยสรุปแยกตามประเภทโครงข่าย ดังนี้
– ถนนทางหลวง ได้รับผลกระทบ 48 สายทาง 71 แห่ง ผ่านได้ 40 แห่ง ผ่านไม่ได้ 31 แห่ง
– ถนนทางหลวงชนบท ได้รับผลกระทบ 158 สายทาง 225 แห่ง ผ่านได้ 92 แห่ง ผ่านไม่ได้ 133 แห่ง
2.จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน 29 จังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ 1) จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบ 55 แห่ง 2) จ.ศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบ 29 แห่ง 3) จ.ขอนแก่น ได้รับผลกระทบ 23 แห่ง
3. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สามารถเดินรถได้ตามปกติ
4. ท่าอากาศยาน ไม่มีการรายงานการได้รับผลกระทบ
5. ท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินเรือโดยสารของเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry มีการปรับตารางเวลาการให้บริการตามสถานการณ์ของระดับน้ำ
6.กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ติดตั้งป้ายเตือน อุปกรณ์ความปลอดภัย และอุปกรณ์นำทาง ในบริเวณสายทางที่ถูกน้ำท่วม และวางกระสอบทรายเป็นแนวกั้นน้ำบริเวณสายทางที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์จนกว่าจะคลี่คลาย เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่ประชาชนในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ
7. กรมเจ้าท่า (จท.) ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย 9 จุด พร้อมเจ้าหน้าที่ 79 คน เรือ 18 ลำ และรถยนต์/รถบรรทุก 21 คัน ให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำ/ปริมาณน้ำไหลผ่านของแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบ
ช่วยเหลือจนสถานการณ์คลี่คลาย
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะติดตามสถานการณ์อุทกภัยทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งสามารถสอบถามเส้นทาง ข้อมูลเพิ่มเติมหรือแจ้งเหตุอุทกภัย ได้ที่- ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม โทร.1356 – สายด่วนกรมทางหลวง โทร.1586 – สายด่วนกรมทางหลวงชนบท โทร.1146 – สายด่วนบริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 เรียก บขส. – สายด่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690 – สายด่วนกรมเจ้าท่า โทร.1199
เตือนอากาศหนาวกำลังมา
เย็นวันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสภาพอากาศโดยทั่วไปพบว่าหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้เริ่มอยู่ในช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อุณหภูมิลดลงและมีอากาศหนาว ขณะเดียวกันก็ยังมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างจากอิทธิพลของพายุเซินกาที่ขณะนี้ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งที่เมืองกว๋างหงาย ประเทศเวียดนามแล้ว โดยศูนย์กลางอยู่ห่างจากทางตะวันออกของแขวงเซกอง สปป.ลาว ประมาณ 109 กม.
ทั้งนี้ สภาพอากาศที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาวนี้ จะทำให้ประชาชนมีโอกาสป่วยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคที่เกิดจากสิ่งปนเปื้อนอยู่ในอากาศ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังและดูแลสุขภาพตนเองและบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับการดูแลสุขภาพในช่วงปลายฝนต้นหนาวนั้น ขอให้เน้นการรักษาความอบอุ่นของร่างกาย สวมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มกันหนาว และอยู่ในที่อาศัยที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ในสถานที่มีคนจำนวนมากและแออัด
นอกจากนี้ อากาศที่เย็นลงจะส่งผลทำให้สภาพผิวแห้ง ขอให้เพิ่มความระมัดระวังสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มที่มีปัญหาโรคผิวหนังและโรคเบาหวาน ต้องระวังไม่ให้ผิวแตกแห้งจนเกิดเป็นแผล อาจเกิดการอักเสบและภาวะแทรกซ้อนตามมาได้