วันเสาร์ ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
คราบน้ำมันขยายวง
ขนาดใหญ่กว่าเกาะเสม็ด9เท่า
เร่งสกัดก่อนลามหาดแม่รำพึง
คราบน้ำมันรั่วที่มาบตาพุดกระจาย เป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม 47 ตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นขนาด 9 เท่าเกาะเสม็ด เร่งวางบูมสกัดก่อนทะลักชายหาดแม่รำพึง ทช.ระบุตรวจสอบระบบนิเวศหญ้าทะเลและปะการังและชายฝั่งระยอง ตั้งแต่หาดแสงจันทร์ถึงหาดแม่รำพึง ยังไม่พบคราบน้ำมันดิบที่รั่วไหล โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด สั่งทุกหน่วยเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน
ความคืบหน้าจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งท่อน้ำมันใต้ทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยเกิดเหตุเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมานั้น
เมื่อวันที่ 28 มกราคมนายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กล่าวว่า จากการตรวจสอบ ข้อมูลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)หรือ GISTDA ใช้ภาพจากดาวเทียม TerraSAR-X ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 27มกราคม 2565เวลา18.23น.เพื่อติดตามคราบน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบคราบน้ำมันลอยแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม คิดเป็นพื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร (29,506 ไร่) หรือกว่า 9 เท่าของเกาะเสม็ด และมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (จากจุดเดิม) ซึ่งคราบน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยอง ประมาณ 6.5 กิโลเมตร และห่างจากเกาะเสม็ด ประมาณ 12 กิโลเมตร และคาดว่า อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง จึงได้รายงานให้กับ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทราบเรื่อง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป
ขณะที่ นายบุญยืน เลาหวิทยะรัตน์เลขาธิการหอการค้าจังหวัดระยอง มีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากเพราะไม่อยากจะให้เกิดเหมือนปี56 ซึ่งเป็นบทเรียนที่สูงมากอยู่แล้ว เมื่อมาเกิดซ้ำยังคาดว่าจะหนักกว่าครั้งก่อนจึงห่วงเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้อยากให้ทุกฝ่ายออกมาพูดความจริงและเร่งแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที
ต่อมา เวลา 10.00 น. ที่บริเวณ ริมชายหาดแม่รำพึง ตรงบริเวณลานหินขาว หมู่ 1 ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ได้มีพนักงานบริษัทสตาร์ปิโตรเลียม ไฟน์นิ่ง จำกัด ได้นำพนักงานและผู้รับเหมา ประมาณ 200 คน มาทำความสะอาดเก็บขยะริมชายหาดทะเล พร้อมตั้งเต็นท์วอลรูมบัญชาการ และวาดแผนที่จำลองเหตุการณ์ที่คาดว่าน้ำมันจะไหลเข้ามาบริเวณชายหาด การกักเก็บคราบน้ำมัน โดยเตรียมนำบูมมากักเก็บคราบน้ำมันยาวหลายกิโล เพื่อป้องกันคราบน้ำมันจะไหลเข้าสู่ชายหาดแม่รำพึง
จากนั้น นางพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่2 (ชลบุรี) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง บางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และนายธวัช เจนการ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ปลัดเทศบาลตำบลเพ เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่1(ระยอง)ร่วมสังเกตการณ์พร้อมสนับสนุนใช้เรือลากจูงบูมไปกลางทะเล
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง บางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบการไหลของคราบน้ำมันจากดาวเทียม TerraSAR-X จากโดรน และเฮลิคอปเตอร์จากหน่วยงานต่างๆ ข้อมูลล่าสุดที่เราทราบคือน้ำมันเข้ามาใกล้ฝั่งมาก แบ่งเป็น 2 หย่อม หย่อมแรกเป็นหย่อมเล็กจะไปทางใกล้บริษัทไออาร์พีซีมากกว่า บริเวณท่าเรือ ขณะที่หย่อมใหญ่กำลังทยอยไหลตามเข้ามา และขึ้นอยู่กับสภาพของท้องทะเล ซึ่งทะเล ณ ตอนนี้ลมค่อนข้างนิ่ง น้ำยังเรียบอยู่ แต่ในช่วงบ่ายน้ำและลมจะเริ่มแรงขึ้น ซึ่งครั้งนี้เชื่อได้ว่าน้ำมันก้อนใหญ่ที่จะไหลเข้ามาและพื้นที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือบริเวณหัวโค้งเลยบริษัทไออาร์พีซี ยาวไปถึงก้นอ่าวไปทางบ้านเพ ความยาวประมาณ10กิโลเมตร อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่สีส้ม จะอยู่ในพื้นที่ของเกาะเสม็ด บ้านเพ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้แล้วแต่สภาพอากาศ
ลักษณะจะแตกต่างจากปี 2556 อย่างเห็นได้ชัด ช่วงที่เกิดเหตุตอนนั้นเป็นช่วงที่ลมแรงกว่านี้เยอะ การกั้นในทะเลซึ่งทำได้ยาก ทำให้คราบน้ำมันนั้นเข้ามาอย่างรวดเร็ว ซึ่งไหลเข้ามารวมกันอยู่ในพื้นที่อ่าวพร้าวเกาะเสม็ดเท่านั้น ซึ่งอ่าวพร้าวนั้นยาวประมาณ 400 เมตร ซึ่งทำให้คราบน้ำมันนั้นรวมตัวกันอยู่ในอ่าว ซึ่งจะทำให้มองเห็นทะเลเป็นพื้นที่สีดำมืด เป็นทะเลน้ำมัน ซึ่งเกิดในช่วงตุลาคม แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดในช่วงมกราคม ซึ่งมันแตกต่างกันอย่างชัดเจน ลมในครั้งนี้จะเบากว่า เรามีเวลากักเก็บน้ำมันในทะเล 2-3 วัน เพราะฉะนั้นหย่อมน้ำมันจะกระจายตัวมากกว่า จะกระจายเป็นจุดๆ จะไม่เข้ามาเป็นลักษณะดำมืด หรือ เป็นทะเลดำ ที่เดียวเหมือนกับที่อ่าวพร้าวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
พื้นที่เฝ้าระวังค่อนข้างกว้าง การทำงานในทะเลและข้อมูลจากดาวเทียม GISTDA พื้นที่ของแพน้ำมันประมาณ 47 กิโลเมตร เป็นฟิล์มบางๆ ในพื้นที่ด้านนอกยังสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้ด้วยวิธีการที่กำจัดมาแล้ว2วัน คือการฉีดน้ำยา ทั้งการใช้บูม และ น้ำยา การที่ใช้สารเคมีนั้นต้องใช้ในพื้นที่ที่มีน้ำลึกด้านนอก ซึ่งไม่ใช้ในพื้นที่ที่ใกล้ฝั่ง อีกส่วนหนึ่งต้องรอรับในส่วนด้านในซึ่งเราต้องใช้บูมในการกั้นชายหาด ซึ่งต้องกั้นในส่วนที่พิจารณาแล้ว คาดว่าคราบน้ำมันจะมาบริเวณชายหาด ถ้าตรงไหนเข้าเยอะต้องใช้วิธีในการซับน้ำมัน และกระจายคนในการเข้าไปจำกัดป้องกันชายหาด
ในส่วนคณะประมงเราได้เก็บตัวอย่างพื้นดิน พื้นทรายในทะเลก่อนเกิดเหตุที่จะมีคราบน้ำมันมาถึง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บมา2วันแล้ว ซึ่งเรามีข้อมูลต่างๆแล้ว และชายหาดเราก็ดำเนินการเก็บตัวอย่างเหมือนกัน ซึ่งบริเวณหาดแม่รำพึงนี้มีหอยเสียบเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะประมงได้เก็บตัวอย่างหลายจุดแล้ว และจะไปประมวลผลว่ามีผลกระทบอย่างไรหลังจากมีคราบน้ำมันเข้ามา ซึ่งสารเคมีจะสะสมไปในพื้นทรายหรือปะการัง 2-3ปี ต้องศึกษาเป็นระยะยาวต่อไป
ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าริมชายหาดต่างก็ตื่นตระหนก จนแทบไม่กล้าสั่งสินค้ามาลงขาย เพราะส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเลสด เพราะต่างก็วิตกว่าน้ำมันจะเข้ามาวันนี้ พร้อมฝากทุกภาคส่วนเร่งสกัดคราบน้ำมัน ไม่เช่นนั้นจะพังพินาศกันหมด
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออกร่วมกับ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ตรวจสอบระบบนิเวศหญ้าทะเลและปะการัง ตลอดจนชายฝั่งจังหวัดระยองเพื่อติดตามผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว จากผลการตรวจสอบพื้นที่แนวปะการัง 5 สถานี โดยวิธี Line intercept transect บริเวณอ่าวพร้าว และวิธี Spot check บริเวณเขาแหลมหญ้า อ่าวปลาต้ม อ่าวกิ่วใน และอ่าวลุงดำ เบื้องต้นพบว่าแนวปะการังมีสภาพปกติ ยังไม่พบคราบน้ำมันและตะกอนน้ำมันบนผิวโคโลนีปะการังและในมวลน้ำทะเล นอกจากนั้นตรวจสอบแหล่งหญ้าทะเล 2 สถานีได้แก่ เขาแหลมหญ้าและอ่าวบ้านเพ เบื้องต้นพบว่า แหล่งหญ้าทะเลเป็นปกติ ยังไม่พบคราบน้ำมันผิวน้ำทะเลและบนผิวใบหญ้าทะเล
ตลอดจนตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศปะการัง 3 สถานีได้แก่ อ่าวพร้าว อ่าวกิ่วใน และอ่าวลุงดำ รวมถึงตรวจสอบชายหาดตั้งแต่หาดแสงจันทร์ถึงหาดแม่รำพึงรวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตรพบว่า น้ำทะเลมีสภาพเป็นปกติ ไม่มีกลิ่น ไม่พบคราบฟิล์มน้ำมันบนผิวน้ำและชายหาด และไม่พบสัตว์น้ำตาย โดยคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในเกณฑ์ปกติตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 2 และ 4 เพื่อการอนุรักษ์ปะการังและการนันทนาการ แต่ยังคงตรวจสอบต่อเนื่องต่อเนื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาว
นายธนกร วังบุญคงชนะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามกรณีเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดโดยได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม กองทัพเรือ กระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานในพื้นที่ เร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน ซึ่งขณะนี้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ได้บูรณาการความร่วมมือแก้ไขสถานการณ์น้ำมันรั่ว โดยมีการทำแผนรับมืออย่างเป็นขั้นตอนตามระดับความรุนแรง เพื่อให้การปฏิบัติงานในการแก้ไขสถานการณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้รายงานแผนการขจัดคราบน้ำมันให้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมเจ้าท่าประเมินว่ามีการรั่วไหลของน้ำมันไม่เกิน 50,000 ลิตร จากเดิมที่คำนวณไว้ 400,000 ลิตร ที่เป็นการคำนวณในความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุด และดำเนินการในเวลากลางคืน ซึ่งต่อมามีการประมาณการใหม่ว่ามีจำนวน 160,000 ลิตร โดยจากการควบคุมสถานการณ์โปรยน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน ที่ทำให้น้ำมันย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียธรรมชาติ ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงขณะนี้ ควบคู่กับการทำแนวป้องกันเพื่อไม่ให้น้ำมันไหลไปยังชายฝั่งได้ โดยใช้กลยุทธ์ ล้อม กัก เก็บ ทำลาย ทำให้สามารถควบคุมการกระจายตัวของน้ำมันได้ค่อนข้างดี คาดว่ามีปริมาณน้ำมันเหลือในทะเลประมาณ 4,000 ลิตร
“ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีการร่วมประชุม วางแผนแก้ไขปัญหา เตรียมกำลังพลและอุปกรณ์สนับสนุนการควบคุมคราบน้ำมัน และเตรียมทำความสะอาดชายหาด คาดการณ์ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น จะน้อยกว่าสถานการณ์ในปี 2556 เนื่องจากลมสงบและคลื่นน้อย ทำให้การกระจายตัวของคราบน้ำมันช้าลง อย่างไรก็ดี ขอให้ประชาชนในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ และต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทร.แจ้งศูนย์ดำรงธรรม ที่หมายเลข 1567 หรือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่” นายธนกร กล่าว