จากดาวจุฬาฯ สู่ผู้นำน.ศ. – อบจ.ฉาย ‘ดาวคะนอง’ ย้อนสายธารการเคลื่อนไหว ไม่ใช่ปวศ.ที่มีชีวิต แค่ ‘ผู้รอดชีวิต’ อยากได้ ปชต. สำเร็จไหมไม่สำคัญ’
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) จัดงาน “ตุลารำลึกฯ” ในวาระครบรอบ 49 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประจำปี 2565 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่นิสิต นักศึกษาและประชาชน ได้ออกมาต่อสู้เพื่อขับไล่ระบอบเผด็จการทหารและเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนเกิดการปราบปราบอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก
- อบจ.จะสืบทอดให้ ฝากอนุชนจดจำ ‘สมเด็จ วิรุฬหผล’ นิสิตปี 1 จุฬาฯ สละชีพพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
- อบจ.ตั้งจอรอฉาย ‘ดาวคะนอง’ ชำแหละสังคมไทย ผลพวงสังหารหมู่ น.ศ. สู่ยุค 14 ตุลาฯ
โดยเวลา 16.00 น. ที่ลานจักรพงษ์ ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อบจ. จัดกิจกรรม ‘ฉายภาพยนตร์กลางแปลง เรื่อง ‘’ดาวคะนอง’’ (By The Time It Gets Dark) เพื่อสะท้อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงเดือนตุลาคม โดยมีการติดตั้งจอหนังกลางแปลงขนาดใหญ่กลางลานจักรพงษ์
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง ‘ดาวคะนอง’ ปี 2559 กำกับโดย อโนชา สุวิชากรพงศ์ ผู้กำกับหญิง นำแสดงโดย วิศรา วิจิตรวาทการ, อารักษ์ อมรศุภศิริ, อภิญญา สกุลเจริญสุข, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อัจฉรา สุวรรณ์
คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการเมืองเดือนตุลาคม บอกเล่าเรื่องภาวะที่เกี่ยวข้องกันอย่างหลวมๆ ระหว่างตัวละครหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้กำกับภาพยนตร์หญิงและผู้เป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งเคยเป็นอดีตนักศึกษา และนักกิจกรรมในยุคเดือนตุลา ทศวรรษ 2510, บริกรสาวผู้เปลี่ยนงานอยู่เป็นประจำ และนักแสดงชาย หญิงคู่หนึ่ง ฯลฯ โดยไม่ได้เล่าถึงเหตุนองเลือดทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แต่ใช้วิธีติดตามการใช้ชีวิตประจำวันของตัวละครโดยไม่อธิบายสายสัมพันธ์ที่แต่ละคนมีระหว่างกัน แต่ปล่อยให้ภาพชีวิตของสามัญชนเหล่านั้นถูกเชื่อมร้อยผ่านกระแสเชี่ยวกรากแห่งสายธารประวัติศาสตร์ ด้วยการตัดภาพเล่าสลับไปมา
บรรยากาศ เวลา 17.13 น. เริ่มฉายภาพยนตร์ดาวคะนอง โดยเปิดฉากด้วยภาพจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษา นอนกองเรียงกันบนพื้นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร คอยสั่งการให้นอนแน่นิ่งอยู่กับพื้น ห้ามหลับ
ก่อนตัดฉาก ย้อนเล่าภาพความสัมพันธ์ของนักศึกษาชาย-หญิงคู่หนึ่ง โดยใช้วิธีเล่าผ่าน “แอน” ตัวละครหญิง ที่พา “แต้ว” นักแสดงตัวแทน จิระนันท์ พิตรปรีชา หรือสหายใบไม้ หนึ่งในแกนนํานิสิตนักศึกษายุค 14 ตุลา 2516 ไปสัมภาษณ์ที่บ้านพักในต่างจังหวัด เพื่อเขียนบทหนังชีวิต
เริ่มจากถามว่า หลายคนทราบว่า เปลี่ยนจากดาวมหาลัย (จุฬา) มาเป็นผู้นำขบวนการนักศึกษา ขอให้เล่าชีวิตช่วงเด็ก ซึ่งทราบว่า เกิดที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พ่อเป็นทหารเรือ อายุ 30 ถูกสั่งการไปประจำ อ.สัตหีบ จึงต้องไปด้วย ตนเป็นลูกคนเดียว ถูกเลี้ยงดูดีเกินไป จนทำอะไรไม่ค่อยเป็น เห็นเพื่อนทำอะไรด้วยตัวเอง เลยอยากเป็นบ้าง
ถือเป็นปฐมบทของ ‘ดาวคะนอง’
ตัดภาพมายังกลุ่มนักศึกษา ที่วิพากษ์รัฐบาลทหาร อยากขับไล่ แต่หากขับไล่คนที่มาแทน เป็นทหาร จะยิ่งไปกันใหญ่ ในตอนหนึ่งภาพยนตร์สะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า ‘คนไม่โกงกิน คือคนดี’ และโอกาสรับตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่หน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัย
ซึ่ง แต้ว ตัวละครจำลองจิระนันท์ ยอมไม่ได้ในเรื่องนี้ จึงบอกกลุ่มเพื่อนนักศึกษาว่า จะไปยืนถือป้ายหน้าตึกองค์กรนิสิต ต้องทำป้ายและใบปลิวในคืนนั้น
ตัดกลับมาที่แต้ว ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเดือนตุลาฯ ว่า ทำด้วยสิ่งที่เชื่อ ไม่ได้มีเงินซื้อเหมือนสมัยนี้ ทำเพราะอยากได้ประชาธิปไตย สมัยนั้นกระแสคนร่วมกันเคลื่อนไหว พ่อของตนไม่เห็นด้วย ส่วนแม่ไม่เห็นด้วยแต่ไม่ขัดขวาง ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ไม่สำคัญ
เราทำเต็มที่ เพราะเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำ… คิดว่าสิ่งที่ทำเป็นการเสียสละ ไม่มีความกลัว พอเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้น กลายเป็นความรู้สึกเคียดแค้น ที่พวกเราถูกกระทำ” แต้ว ตัวละคร จิระนันท์ เผย
ถามว่า อยากบอกอะไรตัวเองตอนเป็นนักศึกษา “ไม่มี” ก่อนเล่าถึงความรักกับนักศึกษาด้วยกัน ซึ่ง แอน ตัวละครผู้สัมภาษณ์ในเรื่อง มองตัวละคร จิระนันท์ ว่าคือประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ชีวิตมีความหมาย ใช้คุ้มค่า
แต่ตัวละครจิระนันท์ตอบกลับไปว่า เข้าใจผิด
“พี่ไม่ใช่ประวัติที่มีชีวิตหรอก พี่เป็นแค่ ผู้รอดชีวิต” แต้วกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางเรื่อง “แอน” ตัวละครที่กำลังเขียนบทหนัง กล่าวถึงความเชื่อเรื่องการโยกย้ายสิ่งของด้วยพลังจิต ซึ่งเคยทำสำเร็จ 1 ครั้ง จึงพยายามลองโยกไปซ้าย-ขวา ด้วยการเพ่งมองแก้ว ทั้งสร้างความตื่นเต้น เหนื่อย และกลัว จนนอนไม่ก็หลับเพราะทำไม่สำเร็จ เมื่อลองเลื่อนของชิ้นเล็กๆ อย่างปากกกา ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน จึง ‘ไม่พูดถึงมันอีก’
ในช่วงท้าย “แต้ว” เล่าถึงภาพจำในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาถูกสังหาร จับนอนเรียง กลางสนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อหน้า ซึ่งตนตกใจไม่คิดว่าจะโหดร้ายขนาดนี้ ตนหมดแรง ทรุดตัว ไม่เชื่อสายตา และคิดว่าอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
ภาพตัดมาที่ ใจกลางกรุงเทพมหานคร เหตุการณ์ดังกล่าว ถูกกลบด้วยแสงสี งานรื่นเริง และการใช้ชีวิตปกติของคนในเมืองหลวง ก่อนตัดกลับมาที่ภาพในป่า ซึ่งมีสีที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ และจบการฉาย ภาพยนตร์ ในเวลา 18.50 น.
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง เริ่มฉายรอบปฐมทัศน์โลก ที่โลการ์โน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ.2559 หลังจากนั้นเดินทางไปฉายที่ประเทศเกาหลีใต้, อังกฤษ, แคนาดา และฮ่องกง ฯลฯ
ส่วนในประเทศไทย อโนชา ผู้กำกับฯ เลือกจัดฉายรอบพิเศษสำหรับแขกรับเชิญเฉพาะกลุ่มในคืนวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2559 เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และฉายรอบปกติ 8 ธันวาคม พ.ศ.2559 ก่อนนำมาฉายใหม่อีกครั้งในช่วงไล่เลี่ย เหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อปี 2560 ที่ Doc Club Theater Warehouse 30 ซ.เจริญกรุง 30 ก่อนจะถูกระงับฉาย ซึ่ง อโนชา ผู้กำกับฯ ได้เผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ถูกฝ่ายเจ้าหน้าที่งดฉาย ให้เหตุผลว่า มีความสุ่มเสี่ยงไม่เหมาะสมต่อช่วงเวลา
ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง ยังได้รับรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 26 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ลำดับภาพยอดเยี่ยม อีกทั้งยังเป็นตัวแทนประเทศไทยเพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมครั้งที่ 90 ได้รับทุนสนับสนุน Prince Claus Film Fund Award และ Hubert Bals Plus Europe จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ทุนไทยเข้มแข็ง จาก กระทรวงวัฒนธรรม และทุน Doha Film Fund จากประเทศกาตาร์ อีกด้วย
สำหรับ อโนชา สุวิชากรพงศ์ เกิดปี พ.ศ. 2519 ที่จังหวัดชลบุรี เป็นผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ นักเขียนบทภาพยนตร์ ชาวไทย สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี (ออกแบบเครื่องประดับ) และปริญญาโท (ศิลปวัฒนธรรมศึกษา) ที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นศึกษาด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนการศึกษาจากสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฮอลลีวู้ด (Hollywood Foreign Press Association) มีหนังวิทยานิพนธ์เรื่อง Graceland ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 2549 ต่อมาในปี 2550 อโนชาก่อตั้งบริษัทอิเล็คทริคอีลฟิล์มเพื่อผลิตภาพยนตร์อิสระและสื่อเคลื่อนไหวต่าง
อโนชา เคยเปิดเผยด้วยว่า ไม่เคยเรียนรู้เรื่อง 6 ตุลาฯ จากห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาของไทย แต่ศึกษาเรื่องนี้จากการอ่านหนังสือด้วยตัวเอง ตั้งแต่อายุ 12-13 ปี โดยในปี 2552 ทได้อ่านบทความชิ้นสำคัญ “6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549” ซึ่งเขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล แกนนำนักศึกษาในช่วงปี 2519 และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี อโนชาเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากๆ ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549
ในช่วงท้าย “แต้ว” ตัวละครที่เป็นภาพแทน จิระนันท์ พิตรปรีชา เล่าถึงภาพจำในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาถูกสังหาร จับนอนเรียง กลางสนามฟุตบอล ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ต่อหน้า ซึ่งตนตกใจไม่คิดว่าจะโหดร้ายขนาดนี้ ตนหมดแรง ทรุดตัว ไม่เชื่อสายตา และคิดว่าอยู่ที่นี่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว นำมาสู่การหนีเข้าป่า ของขบวนการนิสิต นักศึกษา