หวั่น “โนรู” ขึ้นฝั่งถล่มพัทยา นายกพัทยาถกด่วนร่วมภาคีหาวิธีรับมือ 4 วันอันตรายทั้งทางบก ทางทะเล สั่งตรึงกำลัง 7 จุดน้ำท่วมซ้ำซาก เจ้าท่าจี้เมืองอย่าปล่อยปัญหาน้ำหลากทำเสริมทรายมีปัญหา
จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานลักษณะอากาศทั่วไป ได้พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ว่าประเทศไทยจะมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้ ซึ่งมีผลมาจากพายุใต้ฝุ่น “โนรู” ที่กำลังเคลื่อนผ่านบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 1 ตุลาคมนี้ โดยในส่วนของภาคตะวันออกนั้น คาดว่าจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่กับมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง ไล่ตั้งแต่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ล่าสุดวันที่ 27 ก.ย.65 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ประชุมร่วมกับตัวแทนภาคหลายเครือข่าย อาทิ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคพัทยา ฝ่ายปกครอง สถานีตำรวจในท้องที่ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน มูลนิธิสว่างบริบูรณ์พัทยา สมาคมภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อร่วมหารือเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์จาก “พายุโนรู” ในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรีหลังกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือนว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายพื้นที่ระว่างวันที่ 28 ธันวาคมถึง 1 ตุลาคมศกนี้
นายปรเมศวร์ กล่าวว่ากรณีปัญหาของ “พายุโนรู” ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่เมืองพัทยาต้องบูรณาการทุกภาคส่วนในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ เนื่องจากคาดว่าพายุที่พัดผ่านมาจากประเทศเวียดนาม และลาว ก่อนจะมาถึงอ่าวไทยจะมีกำลังทั้งลมแรงซึ่งแจ้งไว้กว่า 120 กม./ชม. และคลื่นในทะเลที่สูงกว่า 1-2 เมตร ขณะ ที่เมืองพัทยายังดำเนินการในส่วนของการวางระบบท่อระบายน้ำยังไม่แล้วเสร็จ ขณะที่แผนใหญ่จากกรม โยธาธิการซึ่งจัดทำแผนแม่บทไว้ในงบประมาณกว่า 26,000 ล้านบาทก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก
ดังนั้นหากปริมาณฝนในช่วง 4 วันนี้มีปริมาณสูงกว่าปีที่ผ่านมาคือ 194 ม.ม.ก็จะทำให้มวลน้ำจากย่านชุมชนที่อยู่อาศัยทางทิศตะวันออกจะไหลบ่าเข้าสู่เมืองพัทยาเป็นจำนวนมาก จนเกิดปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากในพื้นที่เดิม 7 จุด ได้แยก แยกมุมอร่อยถนนพัทยาสาย 3 ถนนสุขุมวิทพัทยาใต้ ถนนเลียบทางรถไฟเขาตาโล ซอยหนองใหญ่ ถนนสายชายหาดพัทยา หรือซอยสุขุมวิท 45 เป็นต้น ซึ่งแต่ละจุดจะมีน้ำท่วมขังสูงตั้งแต่ 30 ซม.-1 เมตร จนรถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ซึ่งนอกจากสร้างความเสียต่อทรัพย์สิน และความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นความเสียหายต่อภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของเมืองพัทยาอีกด้วย
ขณะที่นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าพัทยา กล่าวว่านอกจากมาตรการทางบกแล้ว มาตรการทางทะเลก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องเข้มงวดและดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากลมใต้ฝุ่น “โนรู” นี้อาจมีความเร็วลมกว่า 120 ชม./ชม หรือยกของที่มีน้ำหนักได้กว่า 1 ตัน ขณะทะเลก็มีคลื่นสูง ดังนั้นจึงจะออกประกาศเตือนห้ามเรือเล็กขนาดเครื่องยนต์เดียวออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด ขณะที่เรือท่องเที่ยวที่จอดทอดสมอริมฝั่งก็ให้ยกขนย้ายกลับไปยังอู่จอดที่เหมาะสม ส่วนเรือโดยสารขนาดใหญ่ข้ามฟากระหว่างเมืองพัทยาและเกาะล้านก็ต้องมีการตรวจมาตรฐานในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด ทั้งเสื้อชูชีพ อุปกรณ์ดับเพลิง เป็นต้น อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่น่าวิตกคือปัญหาน้ำหลากลงสู่ชายหาดที่กรมเจ้าท่าใช้งบเสริมทรายไปจำนวนนับร้อยล้านบาทจะถูกน้ำกัดเซาะเป็นจำนวนมาก .ซึ่งที่ผ่านมาเมืองพัทยาก็เร่งเข้ามาแก้ไขในทันทีด้วยทำการใช้รถแบ็คโฮโกยทรายขึ้นมาเกลี่ยด้วยดี แต่กับพายุลูกนี้ยังไม่ทราบได้ว่าจะมีมวลน้ำมากขนาดไหน และความเสียหายมากเท่าใด จึงขอให้ทำการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดความเสียต่อโครงการและการท่องเที่ยว แต่หากทะเลมีคลื่นลมแรงก็คงต้องสั่งระงับเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาทางทะเลก็สามารถแจ้งชุดเผชิญเหตุของ กรมเจ้าท่าฯได้ตลอด 24 ชม.ที่เบอร์ 1199
ส่วน นายวุฒิศักดิ์ เริ่มกิจการ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่าหากพายุดังกล่าวพัดผ่านมาและฝนตกหนักจริงตลอด 4 วัน เมืองพัทยาต้องประสบกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและนักท่องเที่ยวแน่นอน เนื่องจากเป็นพายุขนาดใหญ่ที่กลายสภาพเป็นลมใต้ฝุ่น ดังนั้นนอกเหนือจากที่เมืองพัทยาได้เร่งดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ การวางระบบระบายน้ำขนาดใหญ่ การขุดลอกท่อระบาย การจัดเตรียมเครื่องสูบขนาดใหญ่แล้ว แต่ว่าหากปริมาณมวลน้ำฝนมาเกินระบบที่เตรียมไว้ และมีน้ำทะเลหนุน ก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเจ้าหน้าที่ของเมืองพัทยาต้องบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการจัดกำลังชุดเฝ้าระวังเผชิญเหตุ ไปเฝ้าสังเกตการณ์หรืออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะใน 7 จุดที่น้ำท่วมซ้ำซากเพื่อลดความเสียหายแก่ประชาชนและทรัพย์สิน พร้อมจัดเตรียมกระสอบทราย ป้ายประชาสัม พันธ์เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทาง