Chonburi Sponsored

‘พิพัฒน์’ กางแผนบูสต์ท่องเที่ยวไทย ปั้นรายได้ 2.4 ล้าน ล. ฟื้นประเทศ

Chonburi Sponsored
Chonburi Sponsored

หมายเหตุนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ท่องเที่ยวไทยท้าชน PERFECT STORM” ในสัมมนาหัวข้อ “ท้าชน PERFECT STORM ทางรอดเศรษฐกิจไทย” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่โรงแรม เรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์

การระบาดเชื้อโควิด-19 กว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อภาคธุรกิจในภาพรวมอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ไม่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจอื่นๆเศรษฐกิจไทยขณะนี้เปรียบเหมือนเจอพายุเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่โควิด-19 แม้คลายตัวแล้ว แต่มาเจอพายุลูกที่ 2 เป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เกิดวิกฤตพลังงาน จากความผันผวนของราคาน้ำมัน ตามด้วยพายุลูกที่ 3 เป็นภาวะเงินเฟ้อ หลายประเทศกำลังชุลมุนอยู่กับการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลต่อภาระของประชาชนเพิ่มขึ้น ทุกอย่างโถมเข้ามาในเวลาเดียวกัน เปรียบเหมือนเรากำลังผจญกับพายุกลางทะเล ในหมวดของภาคการท่องเที่ยว น่าจะเปรียบเป็นกัปตันเรือลำดังกล่าว มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้ชี้แนวทาง มีหลายสถานะ อาทิ เป็นช่างเครื่องยนต์ด้วย บุกตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศคู่กัน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและ ททท.ทำงานด้วยกัน ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน เพื่อฝ่าคลื่นพายุรุนแรงนี้ไปให้ได้

วันนี้เราสามารถผ่านวิกฤตของพายุแล้ว ฟ้าเริ่มสว่างทะเลเริ่มเรียบไร้คลื่น กระทรวงการท่องเที่ยวฯและ ททท. ไม่มีทางนำพาเรือลำนี้เข้าสู่ฝั่งอย่างยิ่งใหญ่และรวดเร็วได้ อยากเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้ง 13 สาขา ช่วยกันฟันฝ่าไปด้วยกันสู่วันที่เราสามารถประกาศชัยชนะได้ว่าประเทศไทยไม่ใช่เสือตัวที่ 10 ในการฟื้นภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ แต่ประเทศไทยคือเสือตัวที่ 1 ประสบความสำเร็จในการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดระบาดด้วยภาคการท่องเที่ยวเรียบร้อยแล้ว

การระบาดโควิด-19 ถือเป็นพายุที่มีคลื่นรุนแรงมาก เชื่อว่าโอกาสจะเจอพายุแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้ง มีเพียง 100 ปีเกิดขึ้น 1 ครั้งเท่านั้น คาดหวังว่าเราจะไม่ต้องเจอพายุลูกแบบนี้อีกแล้วในช่วงชีวิตที่มีอยู่ การแก้ไขปัญหาและแก้วิกฤตด้านการท่องเที่ยว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการแก้ปัญหาของโควิดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่อู่ฮั่น ประเทศจีน มีการรับมือผ่านการนำเข้าวัคซีน และมีการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วีซ่าท่องเที่ยวพิเศษ (STV) การกักตัวหรือควอรันทีนต่างๆ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จนถึงปัจจุบันที่มีการปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ จนกลับมาเป็นปกติแล้ว ขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขที่จัดวัคซีนเข้ามาฉีดให้ประชาชนในประเทศ ขณะนี้มีสัดส่วนการฉัดวัคซีนประมาณ 70% แล้ว

สำหรับเป้าหมายการท่องเที่ยวไทยในปี 2565 เชื่อมั่นว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคนแน่นอน และอาจทะลุเป้าหมายได้เล็กน้อยด้วย เนื่องจากขณะนี้มีเข้ามาสะสมเกือบ 6 ล้านคนแล้ว ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศ ตั้งเป้าหมายการเดินทางของตลาดไทยเที่ยวไทยไว้ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง ขณะนี้มีการเดินทางสะสมเกิน 130 ล้านคน-ครั้งแล้ว จึงมั่นใจว่าทำได้ตามเป้าหมายแน่นอน แต่ความกังวลตอนนี้อยู่ที่เป้าหมายในแง่รายได้ที่ตั้งไว้ 1.28 ล้านล้านบาท เราต้องมีอะไรมาเป็นตัวเสริม เพื่อให้วิ่งไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ได้ รวมถึงเป้าหมายของนายกฯ ตั้งไว้ให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาทด้วย ต้องยอมรับว่าเป้าหมายได้ที่ 1.28 ล้านล้านบาท ถือเป็นเป้าหมายยากอยู่แล้ว ทำให้เป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าใหม่ไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นเป้าหมายที่ยากมากเข้าไปอีก จึงกำลังปวดหัวอยู่ในตอนนี้

สำหรับปี 2566 ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 20 ล้านคน การเดินทางของคนไทยเที่ยวไทยเป็นเป้าหมายเดิมที่ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้รวมอยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท นับเป็นการฟื้นตัวกลับมาในสัดส่วน 80% ของปี 2562 ก่อนเกิดโควิดระบาด ถือเป็นความท้าทายของทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯและ ททท. ไม่มีทางทำได้หากพี่น้องคนไทยไม่ช่วยกัน รวมพลังในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไรก็ไปไม่ถึง แต่มั่นใจว่าจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยนับตั้งแต่ปี 2552 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนประมาณ 9.5 ล้านคน จนสูงสุดในปี 2562 ประมาณ 39.8 ล้านคน

หลังจากโควิดคลายตัวแล้ว เราจะฟันฝ่าเศรษฐกิจต่อไปได้อย่างไร หลังจากเราเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของการปลดล็อกทุกอย่างกลับเข้าสู่ช่วงก่อนโควิดระบาด หรือภาพปี 2562 อีกครั้ง หากประเมินจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย สะสมจากต้นปีถึงปัจจุบัน มีประมาณ 5.4 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท ถือเป็นการยืนยันได้ชัดเจนถึงการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนของนโยบายฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว หากพูดถึงการฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว หลายคนก็จะคำนึงถึงเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว แต่หากเรามองแต่รายได้จะกลายเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ยั่งยืน และไม่เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจบีซีจี ทำให้เมื่อพูดถึงการฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว เราจะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการฟื้นทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแค่เศรษฐกิจที่คำนึงถึงแต่รายได้และเม็ดเงินเท่านั้น

การฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก เป็นเครื่องยืนยันว่าการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนสำคัญของการท่องเที่ยวการท่องเที่ยวนำมาซึ่งรายได้จากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ การสร้างสรรค์อาชีพและการจ้างงานแก่ชุมชนท้องถิ่น ส่งผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวช่วยสร้างจิตสำนึกในการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อมจากคนในชุมชน แผนการขับเคลื่อนในกลุ่มการท่องเที่ยวชุมชน ถือเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมเข้าไปในตัว และตอบโจทย์นโยบายของนายกฯเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วย แต่ละชุมชนมีของดีของตัวเอง ทั้งวัตถุดิบ เจ้าของพื้นที่ ทุกอย่างมีครบแล้วจึงไม่ต้องนำอย่างอื่นเข้ามา เมื่อสามารถพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนได้ สิ่งที่จะตามมาคือชุมชนจะสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมให้เขียวชอุ่มต่อไปได้ เพราะนักท่องเที่ยวในปัจจุบันต้องการเสพธรรมชาติ ตามเทรนด์ท่องเที่ยวโลกในปัจจุบัน

ด้านสังคม การท่องเที่ยวช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนในท้องถิ่นและสร้างความสามัคคีกระจายรายได้ให้แก่เจ้าของท้องถิ่นอย่างทั่วถึง พัฒนาและยกระดับความเจริญของคนในท้องถิ่นให้สูงขึ้น เพราะปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวคือเมืองมีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย หากสถานที่ใดมีปัญหาความเสื่อมโทรมสกปรกความไม่ปลอดภัย ก็จะไม่เป็นที่ต้องการของนักท่องเที่ยวการพัฒนาระบบสาธารณสุขสาธารณูปโภค เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ย่อมอำนวยความสะดวกแก่คนในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน อันเป็นผลกระทบเชิงบวกจากการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยวจะช่วยเผยแพร่เอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้น เป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่วัฒนธรรมที่ช่วยให้ประชาชน ชุมชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐมองเห็นประโยชน์ของวัฒนธรรม และตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรม คุณค่าทางเศรษฐกิจด้านวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวจะกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีของประเทศและของชุมชนให้สืบทอดส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ทำแผนปฏิบัติการ 180 วัน ฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว เพื่อบูสต์การท่องเที่ยวช่วงปลายปีให้ไปสู่เป้าหมาย ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ และปรับโครงสร้างภาคการผลิตเพื่อให้เติบโตอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน แนวคิดในการฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว มีทั้งโครงการในระดับพื้นที่ที่เลือกดำเนินการให้เหมาะสมตามภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และอัตลักษณ์พื้นที่ และที่เป็นนโยบายภาพใหญ่

โดยการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวต่อจากนี้ ผ่านการพัฒนาการท่องเที่ยว 2 ฝั่งทะเลไทย ต้องขอบคุณกระทรวงคมนาคมพัฒนาถนนหนทางจนเราสามารถท่องเที่ยวชายฝังทะเลได้อย่างดี พร้อมกับการท่องเที่ยวอนุรักษ์ประมงพื้นบ้าน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.อีอีซี การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) เปรียบเสมือนหญิงสาวยุคใหม่ ปราดเปรียวล้ำสมัย ชอบแสวงหาและพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ

2.ไทยแลนด์ริเวียร่า ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เปรียบเสมือนหญิงสาวให้ความสำคัญกับครอบครัว ชื่นชอบการเดินทางไปพักผ่อน รักธรรมชาติ รักทะเลและขุนเขา การท่องเที่ยวทางรถไฟและรถยนต์ เป็นการท่องเที่ยวทำให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ สร้างการกระจายรายได้สู่พื้นที่อย่างแท้จริง ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรถยนต์แบบคาร์บอนต่ำมุ่งพัฒนาจุดพักรถให้บริการชาร์จไฟรถยนต์แบบด่วน และจุดจำหน่ายอาหาร สินค้า และบริการของชุมชน ชูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทั้ง ป่า เขา ทะเล และแหล่งน้ำพุร้อน เป็นที่พักผ่อนเพื่อสุขภาพชั้นนำของโลก

3.ดินแดนแห่งศรัทธา วัฒนธรรม และความหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา เปรียบเสมือน หญิงสาวรักความสงบสุขให้ความสำคัญกับเรื่องทางจิตวิญญาณ มีความเป็นปัจเจกบุคคล มองหาความหมายของชีวิต โดยจะเชื่อมต่อเรล แอนด์ โรด ทริป (Rail & Road Trip) จากไทยแลนด์ริเวียร่า เพื่อเป็น เอ็นทรี่ แอนด์ เอ็กซิต พอยต์ (Entry and Exit Point) พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทะเลสาบสงขลา การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม (Muslim Friendly Destination)

4.อันดามัน โก กรีน ประกอบด้วย พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เปรียบเสมือนหญิงสาวผู้ชื่นชอบการเข้าสังคม มีชีวิตหรูหรา ดูดี มีระดับหลงใหลในสายลม แสงแดด และหาดทราย เรากำลังพัฒนาการท่องเที่ยวโลว์คาร์บอน ในพื้นที่เขาหลัก เกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่ ในพังงา ส่วนภูเก็ต อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สู่เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ในปี 2028 การจัดตั้งศูนย์สุขภาพเอเชียใต้ในปี 2528 การทำสปอร์ตคอมเพล็กซ์ พื้นที่ 238 ไร่ รวมถึงศูนย์ซ่อมเรือยอชต์ พื้นที่ 1,900 ไร่ มีขนาดใหญ่สุดในอาเซียน

โดยระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน ใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ดึงดูดในกลุ่มรักษาพยาบาลเวลเนส ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการศึกษาวิจัย อาทิ คลองท่อมเมืองสปา น้ำพุร้อนเค็ม กระบี่ เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีน้ำพุร้อนเค็ม เราจึงใช้ความโดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศของจังหวัดกระบี่นี้ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น สปาชายทะเล (บ่อโคลน บ่อผุด) เมืองออนเซ็น พร้อมเชื่อมโยงเส้นทางน้ำพุร้อนอันดามัน คือ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล เพื่อเป็นเส้นทางเสริมการท่องเที่ยวอันดามัน สร้างจุดดึงดูดใหม่ จากเดิมที่มีแค่ทะเล

ส่วนความคืบหน้าการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึง 04.00 น. จากเวลา 02.00 น. เบื้องต้นได้คุยกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ของกระทรวงมหาดไทย การแก้ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ที่ว่าจะยอมแก้ให้หรือไม่มากกว่า ขณะเดียวกันกำลังรวบรวมข้อมูลวิจัยของปี 2562 จาก 3 สถาบัน ส่งมอบให้กับทางกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เห็นถึงถึงผลดีและผลเสียว่าในพื้นที่ที่จะเปิดนำร่องไม่มีเสียงค้านจากประชาชน โดยจะยื่นเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 (ศบศ.)

จากรายงานผลสำรวจและวิจัย เรื่องเวลาที่เหมาะสมในการปิดสถานบริการเวลา 04.00 น. ในบริเวณถนนคนเดินบางลา ต.ป่าตอง จ.ภูเก็ต พบว่า ช่วงเวลา 03.00-04.00 น. ร้านค้าและสถานบันเทิงยามค่ำคืนสร้างรายได้เฉลี่ยต่อคืนสูงสุดจำนวน 78,450,111 ล้านบาท สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้แก่ 1.พฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่เลือกออกจากโรงแรมเวลา 23.00 น. เพื่อมาถนนบางลา ได้ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง (รวมระยะเวลาเดินทางอีก 30-40 นาที) 2.ไม่สามารถใช้จ่ายในสถานบริการได้หลายที่และนานขึ้นสูญเสียโอกาสด้านรายได้เข้าประเทศมหาศาล เฉลี่ยประมาณ 70 ล้านบาท/วัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้จ่ายในช่วงเวลา 01.00-04.00 น.

ส่วนปัญหาการปิดสถานบริการช่วงเวลา 01.00 น.จะทำให้สูญเสียโอกาสทางรายได้เข้าประเทศกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี จากเวลาจำกัดและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป, มีการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจต่อเนื่องน้อยลง เกิดการแย่งกันทำมาหากินที่ผลมาจากประชากรแฝง, เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง มีโอกาสในการเกิดอาชญากรรมจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับไปพักและเดินไปเตร็ดเตร่ตามชายหาดก่อนกลับที่พัก รวมถึงส่งผลกระทบด้านลบไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะในเวลาค่ำคืนจากนักท่องเที่ยว ข้อดีของการขยายเวลาเปิดสถานบริการถึง 04.00 น. คือรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น มีการกระจายรายได้ การจ้างงานเพิ่มขึ้นการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ดีขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายทางภาครัฐ เช่น การจัดการขยะ การดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยว เป็นการดำเนินภารกิจตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2551 ผลการศึกษานำไปสู่การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวที่ 300 บาทต่อคนต่อครั้ง เป็นอัตราเหมาะสม เนื่องจากสามารถแข่งขันได้ อยู่ในระดับเดียวกับประเทศอื่นๆ และไม่เป็นการแทรกแซงตลาดการท่องเที่ยวของประเทศด้วย เงินที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวนั้น จะนำมาใช้เป็นเงินอุดหนุนหรือเงินให้กู้ยืมแก่หน่วยงานของรัฐ เพื่อนำไปใช้ดำเนินงานตามนโยบายหรือแผน ททช. เป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการท่องเที่ยวและเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการประกันภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน เชื่อว่าจะมีประโยชน์ในแง่การช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดินในการรักษาพยาบาลและช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ พัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศในทุกมิติผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย อุดหนุนและสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวให้สามารถแข่งขัน รวมถึงสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืน

ดังกล่าวนี้ เป็นแผนงานจะต้องเดินหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำนวนและรายได้ และขับเคลื่อนให้ภาคท่องเที่ยวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

Chonburi Sponsored
อำเภอ เกาะจันทร์

พ.ศ. 2371 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชานุญาตให้กลุ่มชาวลาวอาสาปากน้ำ บุกเบิกสร้างเมืองพนัสนิคม เป็นเมืองชั้นจัตวา สังกัดกรมท่า โดยบริเวณท่าบุญมี เป็นท่าน้ำและท่าเกวียน ขนส่งสินค้าป่าสู่เมืองพนัสนิคม ตั้งอยู่อยู่ในอาณาเขตเมืองพนัสนิคม พ.ศ. 2441 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีการปฏิรูปการปกครองประเทศและจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้เมืองพนัสนิคมเป็นอำเภอพนัสนิคม ยกฐานะเป็นตำบลท่าบุญมี ในอดีตมีสภาพเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ปรากฏหลักฐานบันทึกชื่อดงในตำบลท่าบุญมี เช่น ดงดอกไม้ ดงรากไม้ เป็นต้น โดยอาจมีต้นจันทน์มาก จึงเรียกว่า "เกาะจันทร์"