วันเสาร์ ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.
มท.1ลงพื้นที่ลุยช่วยแก้น้ำท่วม
กู้วิกฤตปทุมธานี
กรมชลฯติดเครื่องสูบ-ดันน้ำ
‘ชัชชาติ’เร่งระบายน้ำในคลอง
ปภ.สรุป8จังหวัดน้ำยังท่วมขัง
กรมอุตุฯ เตือน ฝนตกหนักถึงหนักมาก 40 จังหวัดทั่วไทยระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก แจงพายุ “หมุ่ยฟ้า”ยังไม่กระทบไทย “บิ๊กป๊อก” มท. 1 นำทีมลงพื้นที่ช่วยกู้น้ำท่วมชาวรังสิต ด้าน “ชัชชาติ” ผู้ว่าฯ กทม. สั่งเร่งระบายน้ำคลองเปรมฯช่วย ปชช.ริมคลองฯ ส่วน ผบ.ทร.จัดเรือช่วยผลักดันน้ำ 80 ลำ ชาวบ้านผวา นำรถจอดบนสะพาน-ทางขึ้นโทลเวย์ หนีน้ำ
เมื่อวันที่ 9กันยายน 2565 น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ระบุว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคกลาง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง รวมทั้งกทม.และปริมณฑล และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
อุตุฯเตือน40จังหวัดยังมีฝนหนัก
สำหรับจังหวัดที่คาดว่ามีฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และนครราชสีมา ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี รวมทั้งกทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ขณะที่ กทม.และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง
แจงพายุ‘หมุ่ยฟ้า’ไม่กระทบไทย
น.ส.ชมภารี กล่าวถึงการติดตามการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนลูกใหม่ ‘หมุ่ยฟ้า’ ซึ่งขณะนี้อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ใกล้หมู่เกาะลูซอนประเทศฟิลิปปินส์เคลื่อนตัวทางทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีทิศทางเดียวกับพายุไต้ฝุ่น ‘หินหนามหน่อ’ยืนยันว่าจะไม่มีอิทธิพลต่อประเทศไทย
อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 10-18 กันยายน 2565 ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกซึ่งอาจเลื่อนขึ้น-ลง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยยังมีกำลังค่อนข้างแรง รวมทั้งยังคงมีกระแสลมไหลเวียนเข้าหากันปกคลุมบริเวณภาคกลางจึงจะยังมีฝนตกอยู่ แต่ฝนช่วงเช้าจะลดลง แล้วตกในช่วงเย็น-ค่ำ
กรมชลฯติดเครื่องสูบ-ผลักดันน้ำ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องพื้นที่ จ.ปทุมธานี ช่วง 2 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังชุมชนและผิวจราจรในที่ลุ่ม จึงเร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริม9 เครื่อง เร่งระบายน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองดังกล่าวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ได้สั่งการให้นำเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟล2 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง ไปติดตั้งเพิ่มเติมทางฝั่งขวาของสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตฯ เพื่อเสริมศักยภาพการระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนใน จ.ปทุมธานีจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน
มท.1นำทีมลงพื้นที่ช่วยชาวรังสิต
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่เทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ โดยมี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี ให้การต้อนรับ ซึ่งทาง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้กำชับทุกหน่วยงานระดมกันเข้ามาช่วยพื้นที่รังสิต โดยจะเร่งสูบน้ำระบายน้ำลงคลองสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้น คณะของ พล.อ.อนุพงษ์ ได้ติดตามถานการณ์น้ำที่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ซึ่งทาง อบจ.ปทุมธานี ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ระบายน้ำในคลองรังสิตฯ เพิ่มเติมจากที่กรมชลประทาน ติดตั้งไว้ 9 เครื่อง นอกจากนี้ยังเตรียมรถแบ็กโฮ ไว้รับมือ หากน้ำเหนือไหลเข้าพื้นที่เพิ่มอีก
‘ชัชชาติ’เร่งระบายน้ำคลองเปรมฯ
ขณะเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนย่านดอนเมือง ซึ่งมีน้ำท่วมขัง โดยชาวบ้านได้ร้องขอสุขาเคลื่อนที่ จึงมีการสั่งการให้สำนักงานเขตหลักสี่ ดำเนินการโดยเร่งด่วน นอกจากนี้ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำคลองเปรมประชากร โดยผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่าจุดน้ำท่วมหนักใน กทม.มี 3 จุด คือเขตดอนเมือง เขตบางเขน และเขตลาดกระบัง ขณะนี้น้ำในคลองเปรมฯ มีปริมาณมากจากฝนที่ตกแล้วระบายไม่ทัน โดยจะเร่งระบายลงคลองบางซื่อ และคลองรังสิตฯ
ทั้งนี้ คลองเปรมฯ มีข้อจำกัด ส่วนใหญ่ยังไม่มีเขื่อน ทำให้ไม่สามารถขุดลอกได้ ระดับความลึกของคลองอยู่ที่ประมาณ2 เมตร ทำให้รับน้ำได้ไม่มาก และยังมีบ้านรุกล้ำริมคลองประมาณ 2,000 ครัวเรือน ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คงเป็นเรื่องที่ต้องดูแลในระยะยาวต่อไป
สั่งดำเนินการใน2ส่วนเร่งด่วน
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวอีกว่า ในเบื้องต้นมี 2 ส่วนที่ต้องดูแล คือ 1.เร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุดทั้งสองฝั่งและ 2.ต้องเข้าสู่หมวดการช่วยเหลือและการบรรเทาสาธารณภัย คือสำนักงานเขตและส่วนกลางต้องเข้ามาช่วยเหลือและดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเรื่องอาหาร น้ำดื่ม เครื่องใช้จำเป็น ห้องน้ำ รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง สำหรับสถานการณ์หากไม่มีฝนตกเพิ่มลงมา คงจะค่อยๆ บรรเทาได้ แต่น้ำยังลงค่อนข้างช้า เนื่องจากมีน้ำภายนอกไหลเข้ามา ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการทยอยดันน้ำออก
พบมีปัญหาระยะยาวที่ต้องแก้ไข
“ปัญหาคลองเปรมฯ คลองลาดพร้าว เป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องการทำเขื่อน ขุดลอกคลอง และเพิ่มกำลังสูบปลายทาง เพื่อให้มีประสิทธิภาพการระบายน้ำมากขึ้น โดยเรื่องเร่งด่วนคือเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด และเข้าสู่โหมดการบรรเทาภัยเพราะผู้ที่อยู่ริมคลองออกมาซื้ออาหารไม่ได้ จึงสั่งการให้ ผอ.เขตดูแลเรื่องบรรเทาภัย เอาข้าวและอาหารไปแจก ดูแลคนป่วยและชุมชนริมคลอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รุกล้ำเขตริมคลอง ก็ต้องดูแลเพราะเป็นชาว กทม.เหมือนกัน”นายชัชชาติ กล่าว
ผบ.ทร.ระดมเรือผลักดันน้ำ80ลำ
ขณะที่ พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์สนับสนุนข้อมูลการแจ้งเตือนภัย ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ และหน่วยงานต่างๆรายงานสถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นล้นเขื่อนและแนวป้องกันส่งผลกระทบกับพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทาง พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร.จึงสั่งการให้หน่วยงานของกองทัพเรือ เตรียมความพร้อมปฏิบัติการเชิงรุกโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ กองทัพเรือได้เตรียมเรือผลักดันน้ำไว้ 80 ลำ เพื่อใช้ในภารกิจระบายน้ำจากปากแม่น้ำลงสู่ทะเล หากมีการร้องขอให้ช่วยเหลือ
หวั่นน้ำท่วมนำรถจอดบนสะพาน
วันเดียวกัน ที่บริเวณสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ถนนเดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กทม.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังรอการระบาย ส่วนถนนบางจุดยังประสบปัญหาเคลื่อนตัวได้ช้า ขณะที่ประชาชนบางส่วนได้นำรถยนต์มาจอดบนสะพานคลองเปรมประชากร หลายสิบคัน เนื่องจากถนนด้านหลังสโมสรทหารอากาศ ทุ่งสีกัน ถึง บก.น.2 มีน้ำท่วมขังประมาณ 15 เซนติเมตร ทำให้เจ้าของรถที่นำมาจอด หวั่นเกรงว่ารถยนต์จะได้รับความเสียหาย เหมือนเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
แห่จอดรถทางขึ้นโทลเวย์หนีน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสถานการณ์น้ำริมเขื่อนภายในคลองหนึ่ง ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ว่าระดับน้ำยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ประกอบกับน้ำในคลองรังสิตฯ เพิ่มระดับสูงขึ้นต่อเนื่อง จนเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนย่านชุมชนสะพานแดง ซึ่งมียานพาหนะเกรงว่ารถยนต์จะถูกน้ำท่วม จึงนำไปจอดบริเวณทางขึ้นโทลล์เวย์ เป็นจำนวนมาก
ด้าน ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีเมืองรังสิต สั่งการให้เจ้าหน้าเร่งทำคันกั้นน้ำบริเวณริมเขื่อนสะพานแดงเพื่อเร่งสูบน้ำออกจากท่อระบายตามซอยต่างๆในชุมชนดังกล่าว ลงสู่คลองรังสิตฯ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในขณะนี้ ทั้งนี้ทหารจากกองทัพบก ได้ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือประชาชนกรอกทรายใส่ถุงไว้ใช้ในการป้องกันน้ำท่วม
คลองหลวงระทมน้ำทะลักท่วม
ส่วนพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ภายหลังฝนตกนานหลายชั่วโมง ทำให้น้ำในคลองสอง เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชนริมคลองดังกล่าว ชาวบ้านในพื้นที่ต้องขนสิ่งของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะที่ถนนเลียบคลองฯ
นางสมศรี ป้องวิรา อายุ 50 ปี ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 9 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง เปิดเผยว่า ฝนที่ตกลงมาตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้น้ำในคลองล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านพักจนต้องเอาเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออกและขนของขึ้นที่สูง เพื่อป้องกันความเสียหาย โดยมีบ้านเรือนประชาชนอีกหลายหลังคาเรือน ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
ระยองยังอ่วมน้ำลดลงเล็กน้อย
ที่ จ.ระยอง ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม ว่าน้ำยังคงท่วมเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะใน อ.แกลง 15 ตำบล ซึ่งตำบลที่ถูกน้ำท่วมหนักที่สุดคือ ต.บ้านนา ต.กระแสบน ต.ทางเกวียน ต.ทุ่งควายกิน และ ต.วังหว้า ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องเร่งให้การช่วยเหลือและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง และจากการตรวจสอบพบว่าปริมาณน้ำลดลงเพียงเล็กน้อย ประมาณ 10 เซนติเมตร
ขณะที่ บริเวณแยกโพธิ์ทอง ต.ทางเกวียน อ.แกลง ที่ตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมยังเป็นจุดรับส่งและอพยพประชาชนซึ่งเมื่อคืนพบมีฝนทิ้งช่วงจนถึงเช้า ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพิ่มสูง แต่บ้านเรือนที่อยู่ริมคลอง ยังต้องเฝ้าระวังเนื่องจากน้ำในคลองยังไหลเชี่ยวและปริมาณน้ำเพิ่มระดับเป็นมวลน้ำที่ไหลจากชุมชนก่อนลงสู่ทะเล ส่วนที่ อ.เมือง จ.ระยอง ถูกน้ำป่าหลากเข้าท่วมเมื่อช่วง2วันกลับสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือเพียง ต.ทับมา ปริมาณน้ำท่วมชุมชนและถนนเริ่มลดลง ต้องใช้เครื่องสูบน้ำเร่งระบายออก หากฝนไม่ตกซ้ำ คาดว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
ระยองถูกน้ำท่วม17ตำบล
ทั้งนี้ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระยอง สรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ระยอง ว่ามีพื้นที่ถูกน้ำท่วม รวม 17 ตำบล 83 หมู่บ้าน 38 ชุมชนซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สำรวจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
ปภ.สรุป8จังหวัดน้ำยังท่วมขัง
ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รายงานสถานการณ์ยังมีน้ำท่วม 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ชัยภูมิ จ.ปทุมธานี จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว จ.อุบลราชธานี จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.อ่างทอง รวม 28 อำเภอ 160 ตำบล 823 หมู่บ้าน ภาพรวมระดับน้ำลดลง ปภ.ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง