ภู กระดาษ
พา‘เนรเทศ’จากอีสานสู่อังกฤษ
คว้า ENGLISH PEN AWARD
‘เนรเทศ’ (Exile) หนึ่งในนวนิยายที่ได้รับรางวัล ENGLISH PEN AWARD ผลงานจาก ถนัด ธรรมแก้ว
นักเขียนชาวอีสานวัย 47 ปี เจ้าของนามปากกา ‘ภู กระดาษ’
คือหนังสือที่เล่าเรื่องราวสังคมชาวอีสานที่ต้องกระจัดกระจายไปตามหลักแหล่งต่างๆ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ด้วยการสะท้อนให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้ชาวอีสาน เช่น ตัวละครหลักเป็นเช่นนั้น ก็เพราะความผันแปรของชนชั้นปกครองที่ไม่เคยเหลียวแลคนชั้นล่างเช่นพวกเขาอย่างจริงจัง แต่กลับห้ำหั่นกันด้วยเรื่องของอำนาจอย่างเมามัน
ทั้งนี้ English PEN เป็นหนึ่งในองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกชุมชนนักเขียน ผู้อ่าน และนักเคลื่อนไหว เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกเมื่อใดก็ตามที่ถูกโจมตีและเฉลิมฉลองงานเขียนนานาชาติร่วมสมัยด้วยรางวัล เงินช่วยเหลือ และกิจกรรมต่างๆ
หนึ่งในนั้นคือการมอบทุนแปลให้กับผลงานทั่วโลก โดยพิจารณาจากคุณภาพวรรณกรรมที่โดดเด่น ความแข็งแรงของโครงการจัดพิมพ์ และผลงานที่สร้างความหลากหลายทางบรรณานุกรมแก่สหราชอาณาจักร
การได้รับรางวัลดังกล่าว ทำให้ เนรเทศ เป็นผลงานจากต้นฉบับ Isaan Thai เล่มแรกที่กำลังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย ราม ประสานศักดิ์ ในนามสำนักพิมพ์ Tilted Axis Press
ที่ผ่านมาเคยได้รับการตีพิมพ์แล้ว 2 ครั้ง โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อ พ.ศ.2557 และ 2559 ตามลำดับ
ภู กระดาษ ที่ด้านหนึ่งยังคงใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปที่ยังต้อง ‘สแกนนิ้ว’ เวลาเข้าออก-งาน ในขณะที่อีกด้าน คือผู้สร้างวรรณกรรมชิ้นเอก เสียดสีสังคมถึงแก่นกลางของปัญหาด้วยความวาดหวังถึงอนาคตว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
⦁รู้สึกอย่างไรบ้างกับการที่‘เนรเทศ’ได้รับ English Pen award
ไม่รู้สึกอะไร คือเป็นรางวัลที่ทำทุนหนังสือแปล ก็เป็นโอกาสดีที่มีทุนมาสนับสนุนผม หนังสือจะแปลเสร็จและออกน่าจะในปลายปีหน้า สำนักพิมพ์ Tilted Axis Press ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปเขาเป็นคนดำเนินการเรื่องนี้ ผมก็ไม่รู้เรื่องเลย เพิ่งมารู้เรื่องหลังจากประกาศมาเกือบเดือนแล้ว
⦁เริ่มเขียนตั้งแต่เมื่อไหร่ ใช้เวลาค้นคว้านานไหม?
เขียนไว้นานแล้ว เป็นข้อเสียของผมที่ไม่ค่อยจำว่าเริ่มเขียนตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ใช้เวลาเขียนไม่นานเพราะคิดมานาน และมาค้นคว้าประมาณ 2-3 ปี เป็นเรื่องแรกๆ ที่ผมเริ่มเขียนหนังสือ น่าจะเริ่มเขียนตั้งแต่ประมาณปี 2554-2555 ผมเขียนอยู่ประมาณ 1-2 เดือนไม่เกินนี้ แต่กระบวนการพิมพ์อีก 1-2 ปี กว่าจะเป็นเล่มออกมา กระบวนการเริ่มต้นการเขียนไม่นาน แต่กระบวนการแก้ไขนาน
⦁เนรเทศเป็นวรรณกรรมใช้การผสมเสียงกับภาษาลาวที่เป็นเอกลักษณ์มาก ได้รับแรงบันดาลใจจากอะไร?
ผมตั้งใจไว้อยู่แล้ว ไม่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากไหน ด้วยเราโดยส่วนตัวเราพูดหลายภาษา ภาษาไทยบ้าง ภาษาลาวบ้าง และภาษาอื่นๆ บ้าง ผมคิดว่ามันอยู่ร่วมกันได้ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีแต่ภาษาไทย และตัวเรื่องพูดง่ายๆ การเป็นเอกเทศซึ่งกันและกัน โดยหยิบยืมอักขระภาษาไทยมาใช้ แต่คำและความหมายจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ไวยากรณ์ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง มีตั้งแต่ระดับคำ ระดับไวยากรณ์ ที่ต่างกันกับของที่คนไทยปัจจุบันใช้ แต่ก่อนเดิมทีใช้คล้ายๆ กัน ของไทยของลาวเหมือนกัน
ถ้าพูดว่าภาษาไทยครอบทั้งประเทศอยู่แล้ว อะไรที่จะทำให้ภาษาไทยมันถูกตั้งคำถามบ้าง ถูกบ่อนเซาะบ้าง เหมือนกับภาษาอังกฤษที่ครองโลก แล้วเราจะใช้ภาษาอะไรในการบ่อนไม่ให้มันครองโลก ไม่ครองประเทศ ภาษาเหมือนคำสั่งการที่ทำให้คนปฏิบัติการ ยังมองไปถึงประเทศไทย คนใช้ภาษาลาว พูดไปแล้วอาจใช้มากกว่าใช้ภาษาไทยด้วยซ้ำ เพราะภาษาลาวก็มีตัวเขียน อย่างภาคเหนือก็มีตัวเขียน ก็นับเป็นลาวเหมือนกัน ภาคเหนือ ภาคอีสานของไทย แต่ด้วยลักษณะการสร้างชาติที่ทำให้พวกนี้หายไปหมด ซึ่งควรเปิดโอกาสให้อยู่ร่วมด้วยกันได้ ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่มันก็ไม่ได้
⦁ทำไมเลือกนำเสนอเรื่องการพลัดถิ่นของคนอีสานผูกโยงกับชนชั้นปกครอง
ผมมองว่าประเทศเรามันไม่ไปไหน เพราะว่ามันมีบัคตลอดเวลาที่แก้ไม่หายสักทีมาขัดกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทุกคนสัมพันธ์กันกับคนที่มีอำนาจบริหารจัดการ ถ้าคุณทำงานบริษัท MD หรือ Managing Director (กรรมการผู้จัดการ) จะมีผลต่อพวกคุณที่เป็นพนักงานปฏิบัติการ ประเทศก็เหมือนกันนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ จะมีผลต่อชีวิตคนธรรมดาทั่วไปทั้งนั้น เพราะเขาเป็นคนออกคำสั่ง เป็นคนใช้ทรัพยากร เป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์ เรื่องเนรเทศก็พูดเรื่องพวกนี้ว่าทำไมการเดินทางกลับบ้านแค่นี้ ระยะทางแค่นี้ ต้องใช้เวลาเป็นวันเพราะอะไร
⦁เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มาจากประสบการณ์ของตัวเองไหม?
ผมคิดว่าคนเขียนหนังสือทุกคนจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ตรง แต่โดยหลักคือเป็นประสบการณ์โดยอ้อม และเป็นจินตนาการ เรื่องเนรเทศมีประสบการณ์โดยตรง คือต้องเข้าใจในสิ่งที่เราเขียนและสิ่งที่ไม่เข้าใจเราต้องหาประสบการณ์โดยอ้อมและทำความเข้าใจกับมัน และเข้าใจมันให้ได้ ถึงแม้เราไม่มีความรู้ก็ตาม เราต้องทำให้มีความรู้ให้ได้ถึงแม้จะไม่เคยสัมผัส หรือมีประสบการณ์ตรงก็ตาม บวกกับจินตนาการ
เมื่อก่อนผมใช้บริการขนส่งสาธารณะ เรื่องนี้พูดถึงรถวิ่งระหว่างอำเภอในต่างจังหวัด รถวิ่งเข้าเมืองในต่างจังหวัดและเรื่องระหว่างกรุงเทพฯกับต่างจังหวัดมีความทับซ้อนกันแบบนี้ รถเมล์ในกรุงเทพฯมีปริมาณพอเพียงเพราะว่ามันกระจุกตัว มีเวลาพอเพียง มีเที่ยววิ่งที่แน่นอน เพราะคนไปอยู่ในกรุงเทพฯและเขาพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่คือทุกจังหวัด จังหวัดรอบนอกไม่ได้รับการพัฒนา
อย่างในเรื่องเนรเทศ ที่รอรถเมล์เพื่อที่จะเข้าเมืองไปต่อรถ ระยะทาง 30 กิโลเมตร รอเป็น 2-3 ชั่วโมง กว่ารถจะมา คือกรุงเทพฯก็มีปัญหาของกรุงเทพฯ แต่กรุงเทพฯใช้ทรัพยากรไปจำนวนมากกว่าคนอื่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ แต่ข้างนอกการจะหาแท็กซี่ เมื่อก่อนตามต่างจังหวัดไม่มีเลย ส่วนรถไฟก็วิ่งสายยาวเข้ากรุงเทพฯก็ไม่มี และรถเมล์ประจำทางขึ้นอยู่กับว่าเขากำหนดเที่ยววิ่งอย่างไร วิ่งเช้าส่งนักเรียน จากนั้นก็มาวิ่งสาย 10-11 โมงเช้าอะไรอย่างนี้ วันหนึ่ง 1-2 เที่ยว เรื่องนี้เป็นฉากจากข้างนอกเพื่อจะให้เห็นว่ามันไม่อะไร
ขนส่งมวลชนเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐท้องถิ่นหรือรัฐกลาง ต้องสนับสนุนอยู่แล้ว เป็นสวัสดิการ เพราะเป็นต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นการหารายได้ การทำงาน การขนส่งสินค้าอะไรต่างๆ มันถูกลง เศรษฐกิจก็จะเดิน พูดง่ายๆ คือคนไม่จำเป็นต้องเสียค่าโดยสารที่แพงไปแลกกับค่าแรงถูกๆ ประเทศไทยทั้งค่าแรงถูก ค่าครองชีพสูง แต่จริงๆ แล้วระบบขนส่งสาธารณะควรมีทั้งประเทศและมีราคาที่ถูก หรือไม่แม้กระทั่งรัฐต้องอุดหนุนอยู่แล้ว
เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องพื้นฐานในประเทศมากที่เขาเจริญแล้ว เจริญในที่นี้คือมองอนาคตออกว่าจะทำอย่างไร จะพัฒนาประเทศอย่างไร แต่ของกรุงเทพฯมันสะสม เพราะคนไปอยู่เยอะ ประชากรแฝงเป็นหลายล้านคน คนกรุงเทพฯมีเพียงไม่กี่ล้าน
⦁ปกติเดินทางอย่างไร?
ผมขับรถยนต์ไปขึ้นเครื่องบินเป็นหลัก ผมเดินทางแบบนี้น่าจะเป็น 10 ปีแล้ว ยกเว้นว่าไปตรงที่ไม่มีสนามบิน ผมก็จะขับรถยนต์ไปเป็นส่วนใหญ่ เรื่องการใช้ขนส่งสาธารณะผมใช้แต่เด็กแล้ว จนอายุ 20-30 กว่าปี ทุกข์ทรมานมาก ผมว่าไม่ไหว
ไม่แปลกว่าเขามองว่าคนใช้รถส่วนตัวกันเยอะ ทำให้เอื้อโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่เป็นเจ้าใหญ่ๆ ในประเทศได้ ถ้าพูดอีกแง่หนึ่งคนไทยมีรถส่วนตัวกันทั้งหมดแทบทุกคน เพราะไม่มีขนส่งสาธารณะที่ดีพอและกระจายมากพอ ผมอยู่ที่ชลบุรีเป็นหลัก พอกลับบ้านภาคอีสานก็จะนั่งเครื่องบินไป ขี่รถไปจอดสนามบินและก็นั่งเครื่องไปเพราะขับไปลำบาก ไกล และเรื่องถนนหนทางด้วย (หัวเราะ)
⦁เนรเทศจัดพิมพ์ถึง 2 ครั้ง และจะมีการตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษด้วย คิดว่าอะไรที่ทำให้คนชื่นชอบและแนะนำปากต่อปากให้อ่านเล่มนี้
ไม่รู้ แล้วอ่านยากด้วย คนซื้อไปเขาคงอ่านยาก เลยไปบอกให้คนอื่นไปซื้อมาอ่าน มันยากกับภาษา แล้วไม่ค่อยสนุกด้วยในมุมผม แต่มันเป็นความตั้งใจของผมที่จะเขียนแบบนั้นในสมัยนั้น ผมคิดว่ามันยังเข้ากับยุคสมัยของมันเรื่อยๆ อย่างเช่น ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ขายได้ตลอดเวลาเพราะว่าสังคมไทยไม่ไปไหน เพียงแต่ว่าเนรเทศไม่ได้ถึงขั้นนั้น อาจแตกต่างในหนังสือรุ่นเดียวกัน เรื่องนั้นพูดอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนี้กลับไปพูดอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องการเดินทาง เรื่องการเมืองการปกครองในประเทศไทยไม่ไปไหนมาไหน เวลาหมุนเป็นวงกลม มันก็จะซ้ำที่เดิม สังคมไทยจะหมุนมาซ้ำที่เดิม เป็นรัฐบาลพลเรือน ก็รัฐประหาร วนอยู่แบบนี้ซ้ำที่เดิม คนเลยอ่านเรื่องนี้
⦁จากคำบอกเล่าว่าเนรเทศเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ควรอ่าน รู้สึกอย่างไรบ้าง?
เป็นความโชคดีของนักเขียนที่มีคนสนับสนุน ที่มีคนอ่าน ผมดีใจกับสิ่งนี้มากกว่า ผมดีใจกับสิ่งที่คนบอกต่อว่าควรอ่านรางวัลเล่มนี้ มากกว่าที่ได้รางวัล คือได้รางวัลแล้วไม่มีคนอ่านก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ถ้าได้รางวัลผมก็ได้ประโยชน์จริงอยู่ แต่หนังสือมันควรถูกอ่าน ถูกแนะนำโดยคนอ่านต่อกัน อันนี้ผมดีใจมากๆ และขอบคุณมาก ผมชอบแบบนี้มากกว่า ยังเป็นประโยชน์สมบูรณ์ของมัน ต่อให้ไม่ได้รางวัลอะไรเลย ตราบใดที่มีคนอ่านและคนแนะนำ ผมว่าสุดยอดแล้ว
⦁จะมีผลงานออกมาใหม่ในเร็วๆ นี้ไหม?
จากนี้จะมีรวมเรื่องสั้น 33 เรื่อง แปลเป็นภาษาอังกฤษประมาณ 7-8 เรื่อง และมีภาษาไทย กำลังทำปกอยู่ ชื่อ “ปกรณัมความปวกเปียก (Particles of Perpetual Paralysis)” เล่มนี้สำนักพิมพ์ซอยเป็นผู้นำไปจัดพิมพ์ เป็นเรื่องที่เขียนไว้นานแล้วตั้งแต่ช่วง 2010-2011 จนถึง 2014-2015 มีหลายเรื่องสัก 50-60 เรื่อง แล้วเขาคัดไปประมาณ 30 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้เผยแพร่ ซึ่งน่าจะออกปลายปีนี้ มันจะฮาๆ เล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้นก๊อกๆ แก๊กๆ บ้าๆ บอๆ
ล่าสุดผมเขียนเรื่องใหญ่จบก็มาเขียนเรื่องสั้นบ้าง เป็นเรื่องสั้นแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น เขารวมนักเขียนไทยประมาณ 12 คน สำนักพิมพ์ที่ญี่ปุ่นก็เพิ่งเขียนให้เขาเสร็จไป ส่วนนิยายผมกำลังเขียนอยู่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องนี้มีหลายส่วนมาก และคงส่งสำนักพิมพ์มติชนเหมือนเดิม
⦁ขอย้อนถามชีวิตวัยเด็ก บ้านเกิดอยู่ที่ไหน?
ศรีสะเกษ ชีวิตวัยเด็กคือเป็นเด็กบ้านนอกของแท้เลย เป็นเด็กบ้านนอกที่เมื่อ 40 ปีที่แล้วประเทศไทยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ประมาณ 30 ปี คือผมอายุสัก 7-8 ขวบ แล้วที่บ้านมีไฟฟ้าเข้ามาถึง คือมันลำบาก เราไม่เคยรู้เลยว่าตัวอำเภอคือสุดยอดในชีวิตแล้ว การเข้าไปในจังหวัด เป็นคนไม่กี่คนในหมู่บ้าน ถ้าเป็นความรู้สึกในตอนเด็กนั้นการเข้ากรุงเทพฯเป็นอะไรที่ใหญ่มาก เหมือนคนไทยไปต่างประเทศแบบนั้น (หัวเราะ) คือวันเสาร์ อาทิตย์ทำนาก็ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย จันทร์ถึงศุกร์ก็ไปเรียนหนังสือ
⦁เป็นคนเรียนเก่งไหม?
ผมเรียนไม่เก่งเท่าไหร่ แต่อาศัยความขยันขันแข็ง ความมีระเบียบวินัยของตัวเอง เพราะคนสมัยก่อนเราต้องตระหนักให้ได้ว่าเรามีระเบียบมีวินัย ซึ่งเป็นคนละความหมายของระเบียบวินัยแบบทหาร แบบตำรวจ ระเบียบวินัยแบบโรงเรียน แบบนั้นมันไร้สาระ มันเป็นการแสดงอำนาจมากกว่า ระเบียบวินัยคือคุณจัดสรรเวลาเป็น หน้าที่คุณคืออะไรคุณรับผิดชอบ ผมก็จะมีตารางของผมว่าจะไปเตะฟุตบอลตอนไหน เลิกเรียนแล้วจะทำอะไรบ้าง มีหน้าที่อะไรบ้างที่ต้องทำ ไปโรงเรียนผมจะต้องทำอะไรบ้าง ก็คือใช้เวลาตามหน้าที่ของตัวเอง แต่ก็มีช่วงที่ไปกับเพื่อนฝูงบ้าง หลงนู่นนี่ เป็นธรรมดาปกติ
⦁แล้วจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนคืออะไร?
จุดเริ่มต้นของการเป็นนักเขียนคือการอ่านหนังสือ ตอนแรกก็เหมือนเด็กทั่วไปที่สนใจอะไรบางอย่างที่นอกเหนือจากการเรียนหนังสือ การทำนาแล้ว บางคนสนใจเรื่องการแต่งเพลง ชอบเพลง บางคนชอบอ่านหนังสือ คือผมชอบอ่านหนังสือ มันไม่มีความบันเทิงอย่างอื่น ทั้งหมู่บ้านมีทีวีอยู่ 1-2 เครื่อง ต้องเอา 25 สตางค์ไปขอเขาดู จึงไม่มีสิ่งรื่นรมย์เริงรมย์ต่างๆ นานา แต่ผมชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว อ่านๆ ไปคิดว่าแบบนี้ก็เขียนได้
ด้วยความเป็นเด็กไม่รู้ว่าสร้างอะไรอย่างไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เขียน แต่ว่าผมไม่ได้เริ่มเขียนตั้งแต่ตอนนั้น จนอายุ 20 กว่าปี ก็เริ่มเขียนบ้างแต่ก็รู้ว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถน้อย ก็ไม่เขียน ก็ไปหาความรู้ความสามารถต่อไปด้วยการอ่านหนังสือ จนวันหนึ่งเรามีความรู้เล็กน้อยแค่นี้ สุดปัญญาเราและเรามีปัญญาแค่นี้ เราก็จะเขียนตามสติปัญญาที่เรามีเล็กๆ น้อยๆ ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น จึงเริ่มเขียน หลังจากรัฐประหารปี 2549 ก็เริ่มเขียนเลย
⦁เป็นคนชอบอ่านหนังสือแนวไหน?
อ่านทุกอย่าง ผมอ่านการ์ตูน อ่านหนังสือมวย อ่านหนังสือโป๊ อ่านนิยายโรแมนติกเล่มละ 5-10 บาท ที่เป็นนิยายโรแมนติกที่ขายแยก ในยุคนั้นไม่มีหนังสือเยอะ ในห้องสมุดโรงเรียนจะมีพวกหนังสือเรื่องแต่ง เช่น ลาว คำหอม หรือคำสิงห์ ศรีนอก ที่เขียนเรื่อง “ฟ้าบ่กั้น”, คำพูน บุญทวี ที่เขียนเรื่อง “ลูกอีสาน”, ยงค์ ยโสธร ที่เขียนเรื่อง “คำอ้าย” และอีกหลายคนมีในห้องสมุดให้อ่าน คนที่ยืมแทบจะมีคนเดียวที่ไปอ่าน คือผมเติบโตมาจากการอ่านหนังสือโป๊ นิตยสารมวยจะมีนิยายเป็นตอน ซึ่งจะเป็นนิยายวาบหวาม นิยายโป๊ นอกจากนี้ก็อ่านหนังสือการ์ตูนเล่มละบาทบ้าง อ่านขายหัวเราะบ้าง และอ่านนิยายโรแมนติก ผมก็เติบโตมากับเรื่องพวกนี้เป็นหลัก
⦁ชอบนักเขียนคนไหนเป็นพิเศษไหม?
ผมชอบนักเขียนทุกคนเท่ากัน ทุกคนมีความสามารถตามยุคตามสมัย ตามสติปัญญาของแต่ละคน ไม่มีนักเขียนในดวงใจ หรือเป็นแรงบันดาลใจ แต่คนนี้เก่ง น่าศึกษา หาความเก่งจากเขา แต่ละคนมีข้อดีข้อเสียต่างกัน นักเขียนที่ผมชอบในยุคแรกๆ เลยมี คำพูน บุญทวี, คำสิงห์ ศรีนอก และยงค์ ยโสธร พูดเฉพาะในการเขียนหนังสือ หรือ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เรื่องการใช้ภาษาตามสมัยแต่ก่อน อ่านสนุก ตอนวัยรุ่นก็ชอบ
ส่วนนักเขียนรุ่นใหม่ชอบแดนอรัญ แสงทอง และจิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร ที่ชื่นชอบอยู่แล้วต้องวิ่งตามเขาให้ทัน ซึ่งแดนอรัญ แสงทอง และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เล่าเรื่องเก่ง ในที่นี้คือรูปแบบการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่ง ส่วนตัวผมชอบการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่ง แต่อีกแบบหนึ่งที่เขาเล่ากันเก่งๆ คือผมไม่ได้ชอบการเล่าเรื่องแบบนั้นเลย แต่เก่งจริงที่เล่าด้วยสไตล์แบบนี้
⦁มองนักเขียนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
ผมไม่ได้อยู่ในแวดวงเท่าไหร่ มีพรรคพวกนักเขียนแต่ไม่ได้ไปคลุกคลีในแวดวงวรรณกรรม ผมสนใจอ่านอะไรผมก็จะซื้ออ่าน ด้วยนิสัยของผมคืออยากอ่านของใครผมก็ซื้อ ผมสนับสนุนทุกคน แล้วผมไม่รู้เลยว่าทิศทางของนักเขียนรุ่นใหม่จะไปอย่างไร แต่ถ้าอยากทำ มีเวลาทำ ชอบที่จะทำ ผมว่าถ้าสนุก ทำไปเถอะ คือผมเขียนหนังสือด้วยสิ่งที่ผมว่ามันสนุก ถ้าคนรุ่นใหม่ทำแล้วสนุก มีความอยากทำ อยากสนุกกับมัน ทำไปเถอะ ไม่ต้องกังวลว่ามันจะผิดจะถูก มันจะออกไปทางไหน ลำพังคุณถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ถูกจำกัดทั้งการเมืองเศรษฐกิจในประเทศนี้ก็บ้าบอคอแตกอยู่แล้ว คุณจะไปให้เขาไปจำกัดสิทธิในจินตนาการ ความฝันในการเขียนหนังสือคุณทำไม คุณไม่ต้องไปกังวลเลย
⦁นักเขียนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าต่างกันอย่างไร?
ความต่างคือความที่จะกล้ามากกว่า ผมมองว่าโลกหมุนไปข้างหน้า ผมคิดเสมอว่าผมได้เปรียบคนรุ่นก่อนมากเพราะผมมีสิ่งอำนวยความสะดวกเรื่องข้อมูล การได้ทดลอง การได้แสดงความกล้ามากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ได้ เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นใหม่หมด ผมว่าคนรุ่นใหม่ก็มีทิศทางของเขาที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า อย่าลืมว่าการเขียนแบบสมัยใหม่เพิ่งเข้ามาประเทศไทยไม่นาน ในสมัยก่อนก็จะมึนๆ งงๆ แต่ความคิดบางอย่างก็ยังใหม่อยู่ในสังคมไทย
เพราะสังคมไทยเป็นสังคมล้าหลัง สังคมที่ไม่เคยพัฒนา แม้จะคิดตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว มันก็ยังใหม่ เพราะสังคมไทยมันไม่ไปไหน
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย-เรื่อง
อัมพร แสงแก้ว-ภาพ