เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ปี่กลองเชิด! สนามเลือกตั้ง “กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา” ที่เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือนเศษให้ห้ำหั่นกัน
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ (กกต.) กาปฏิทินวันเข้าคูหากาบัตร ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.65 ทั้ง 2 สนาม ซึ่งที่ผ่านมาผู้สมัครตัวหลัก และกลุ่มการเมืองต่างๆก็ทยอยเปิดตัวกันไปล่วงหน้า
โดยที่ “เมืองพัทยา” ตัวยืนยังคงเป็น “บ้านใหญ่คุณปลื้ม” ที่พลิกโผเล็กน้อยเมื่อ “เสี่ยแป๊ะ” สนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ที่มาจากการแต่งตั้งคนปัจจุบัน ตัดสินใจหลบให้ “เสี่ยเบียร์” ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ อดีต ส.ส.ชลบุรี ที่เพิ่งลาออกจากกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีวัฒนธรรม (“เสี่ยติ๊ก” อิทธิพล คุณปลื้ม) ลงสมัครนายกเมืองพัทยาในนามกลุ่ม “เรารักษ์พัทยา”
เหตุที่ “พี่ใหญ่แป๊ะ” ไม่ลงสมัครเอง คาดเดาว่า เพื่อลดกระแสความขัดแย้งที่มี “กลุ่มพลังใหม่” ที่มี “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำ หลังจากที่มีวิวาทะตอบโต้ไปมาอย่างรุนแรง จน “ผู้ใหญ่” ต้องเรียกไปพูดคุยสงบศึกกันแล้ว
ขณะเดียวกันก็เป็นการหลบกระแส “โค่นบ้านใหญ่” ที่รู้ดีว่า คู่แข่งสำคัญอย่าง คณะก้าวหน้าของ “เสี่ยเอก”ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ส่ง “เสี่ยบ๊อบ” กิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย ช่างภาพอิสระ ลงชิงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา จะใช้เป็นแคมเปญในการหาเสียงเลือกตั้ง
และเหตุผลสำคัญ เมื่อ “เสี่ยแป๊ะ” ต้องละมือจากการเมืองท้องถิ่น เพื่อแต่งตัวรอหวนกลับการเมืองสนามใหญ่ในการเลือกตั้งหนหน้า ที่ จงชลบุรี มีที่นั่ง ส.ส.ให้ชิงชัยถึง 10 ที่นั่ง หลังจากที่เลือกตั้ง 2562 ตระกูลคุณปลื้มต้องเสียหน้า เมื่อผู้สมัครในทีมสอบตกหมดทุกเขต ไม่เว้น “เสี่ยติ๊ก-อิทธิพล” รวมถึง “เสี่ยเบียร์-ปรเมศวร์” ที่ต่างก็พ่ายให้กับคู่แข่งโนดนมจากพรรคอนาคตใหม่ ในตอนนั้น
ขณะที่ว่าที่ผู้สมัครรายอื่นที่น่าสนใจ ก็มีทีม “พัทยาร่วมใจ” ของ นิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกเมืองพัทยา และคนในบ้านใหญ่สมัย “กำนันเป๊าะ” สมชาย คุณปลื้ม พ่อของสนธยา-อิทธิพล ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเคยประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว กลับมานำทีมลงสมัครอีกครั้ง รวมถึงว่าที่ผู้สมัครอิสระรายเดียวอย่าง ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ อดีตนายอำเภอบางละมุง และรองอธิบดีกรมการปกครอง ที่จะลงสมัครด้วย
โดยมีข่าวว่า “นิรันดร์” พยายามดีลกับ “เสี่ยเฮ้ง” ในฐานะคนคุ้นเคยให้มาช่วยสนับสนุนเพื่อโค่นบ้านใหญ่คุณปลื้ม หากแต่พื้นที่พัทยาไม่ใช่เขตอิทธิพลของ “เสี่ยเฮ้ง” อีกทั้งยังรับปากผู้ใหญ่ในการยุติความขัดแย้งกับ “สนธยา” ไว้ชั่วคราว
คะเนด้วยสายตา สนามชิงนายกเมืองพัทยา คู่เอกคงหนีไม่พ้น กลุ่มเรารักพัทยาของ “ตระกูลคุณปลื้ม” กับคณะก้าวหน้าพัทยาที่นำโดย “ธนาธร”
แต่จากสถิติที่ผ่านมาในทุกสนามท้องถิ่น ที่คณะก้าวหน้า พยายามตีปิ๊บแคมเปญ “โค่นบ้านใหญ่” ก็ดูไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาด กระทั่งสนามเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชลบุรี ที่ได้ขาใหญ่ในพื้นที่อย่าง “เฮียเป้า” จิรวุฒิ สิงห์โตทอง มาช่วย ก็ยังไปไม่รอด พ่ายให้กับทีมงานคุณปลื้ม แบบหลุดลุ่ย
แนวโน้มจึงคาดว่า “ทีมบ้านใหญ่” ยังคงความขลัง และน่าจะยึดเมืองพัทยาไว้ได้อีกคำรบ
ตัดกลับมาที่ “สนามเมืองหลวง” ที่คาดว่า บรรยากาศจะดุเดือดกว่า ด้วยในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง สามารถหยั่ง “กระแส” สะท้อนไปถึงเลือกตั้งสนามใหญ่ในที่คาดว่าจะมีขึ้นอีกราว 1 ปีข้างหน้าได้เป็นอย่างดี
แน่นอนสปอตไลท์ย่อมส่องไปที่เก้าอี้ “พ่อเมืองหลวง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ที่บรรดาว่าที่ผู้สมัครตัวหลักทยอยเปิดตัวกันมาก่อนหน้านี้แล้ว
ตั้งแต่ “เจ๊รส” รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ที่ประกาศลงในนามอิสระ ด้วยสโลแกน “อิสระตัวจริง” อดีตเคยสร้างปรากฎการณ์ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.กทม.ปี 2551 ด้วยคะแนนมากกว่า 7 แสนคะแนน สูงที่สุดในประเทศไทยมาแล้ว
“จารย์ทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่แม้จะประกาศตัวลงในนามอิสระ แต่สลัดไม่หลุดภาพความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ที่เลือกจะไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.
“พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตัวแทนจาก “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ หวังกู้ศรัทธาคนกรุง จากความพ่ายแพ้อย่างราบคามในสนาม ส.ส.เมื่อปี 2562
“เฮียโรจน์” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ฝีปากกล้า จากพรรคก้าวไกล ที่ลงทุนทิ้งตำแหน่งผู้ทรงเกียรติมาบู๊สนาม กทม. ด้วยสโลแกนดุดัน “ผู้ว่าฯพร้อมชน หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม”
“เสี่ยจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล ที่เพิ่งไขก๊อกลาออกจากเก้าอี้รองผู้ว่าฯกทม.มาขอสู้ศึกในนามผู้สมัครอิสระ เตรียมเปิดตัว ประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มี.ค.นี้
เหลือก็แต่ “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน ที่มีเดดไลน์ต้องลาออกจากตำแหน่งไม่เกินวันที่ 27 มี.ค. หรือให้หลัง 3 วันนับตั้งแต่วันที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง หากคิดจะลงสมัครรักษาเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. แต่ก็ได้ใช้ทีมงาน “รักษ์กรุงเทพ” กรุยทางทำพื้นที่ไปล่วงหน้ามานานแล้ว
อย่างไรก็ดีมีการทำโพลมาเป็นระยะๆ ทุกสำนักต่างชี้ตรงกันว่า “ชัชชาติ” มีคะแนนทิ้งคู่แข่งรายอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น จากที่เคยหวังว่า ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลจะมาตัดคะแนนลดความร้อนแรงลงบ้าง แต่ด้วยความที่หลังจากเปิดตัว “วิโรจน์” เกิด “ไม่ว้าว” อย่างที่คิด
คู่ต่อสู้ที่น่ากลัวสำหรับ “ชัชชาติ” คงเป็นกลุ่ม “ยังไม่ตัดสินใจ” ที่ดูจะมีเปอร์เซ็นต์สูสีกัน อย่างไรก็ดีเชื่อว่า หากไม่มีอุบัติเหตุ หรือไปพลาดพลั้งเดินตกท่อเอง “ชัชชาติ” คงจะลอยลำเข้าป้ายผู้ว่าฯกทม.ม้วนเดียวจบ แบบที่บ่อนไม่กล้าออกราคา
ทำเอาศึกชิง “พ่อเมืองหลวง” งวดนี้อาจจะลุ้นไม่สนุก ฉากความดุเดือดคงไปตกที่การชิงเก้าอี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่มีทั้งหมด 50 ที่นั่งจาก 50 เขตให้ช่วงชิง และแทบทุกพรรคการเมืองที่ต่างส่งผู้สมัคร ส.ก.ลงแข่งขัน แม้บางพรรคจะไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ก็ตาม
โดยตัวเต็งอย่าง “ชัชชาติ” แน่นอนแล้วว่า ไม่มีทีมผู้สมัคร ส.ก. แต่รู้กันว่า ส.ก.จากพรรคเพื่อไทย ให้การสนับสนุน คล้ายกับ “สกลธี” ที่ไม่ส่งทีมผู้สมัคร ส.ก. แต่ว่ากันว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้สมัคร ส.ก.พรรคกล้า ที่อาจจะส่งไม่ครบทุกเขต รวมกับบางส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ให้การสนับสนุน
ความสำคัญของสนาม ส.ก. 50 เขต ถือเป็น “ฉากทัศน์” สะท้อนความนิยมต่อแต่ละพรรคการเมืองได้เป็นอย่างดี ในฐานะที่ ส.ก.ก็ถือเป็น “หัวคะแนน” ของสนาม ส.ส.ทั้งสิ้น
อย่างการเลือกตั้ง ส.ก.หนล่าสุด ที่ต้องย้อนกลับไปราว 12 ปี เมื่อปี 2553 ครั้งนั้นต้องยอมรับว่ากระแสความไม่ยอมรับ “ระบอบทักษิณ” ในพื้นที่ กทม.ยังค่อนข้างเข้มข้น 61 ที่นั่ง ส.ก. จึงตกไปเป็นของ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ถึง 45 ที่นั่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยไปกวาดได้ที่โซนตะวันออกมา 15 ที่นั่ง และมีผู้สมัครอิสระหลุดเข้ามา 1 ที่นั่ง
เมื่อรวมกับสถิติที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในสนามผู้ว่าฯกทม. ชี้ชัดได้ว่า พื้นที่ กทม.ในสนามท้องถิ่นเป็น “ของแสลง” ของ “ขั้วทักษิณ” อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “ชัชชาติ” เลือกโดดออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อประกาศตัวลงสมัครในนามอิสระตั้งแต่ไก่โห่ เพราะประเมินแล้วว่า เป็นผลบวกต่อคะแนนนิยม มากกว่าลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย
ต้องยอมรับว่า สนาม ส.ก.งวดนี้ผู้สมัคร ส.ก.เพื่อไทย หรือแม้แต่ของพรรคก้าวไกล ค่อนข้างมีโอกาส เพราะ “เจ้าถิ่น” อย่างพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงขาลงอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่ ส.ส.สูญพันธ์ในสนาม กทม.
และแม้จะเดิมพันสูงในการกู้ชื่อ “เจ้าพ่อ กทม.” กลับมา แต่ก็ไปสะดุดหลังการเปิดตัว “พี่เอ้ ไอสไตน์” เมื่อกลับเจอกระแสตีกลับในหลายประเด็น จนถือว่าเข้ารกเข้าพงไปพอสมควร จากคะแนนนิยมผ่านโพลที่ไม่กระเตื้องหลังการเปิดตัว
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีโอกาสการตัดคะแนนกันเองสูง เพราะมีคู่แข่งทั้งพรรคกล้า พรรคพลังประชารัฐ รวมไปถึงกลุ่มรักษ์กรุงเทพของ “อัศวิน” ที่เดิมก็เติบโตมาจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น และก็หวังโกยคะแนนจากฐานเสียง “กลุ่มไม่เอาทักษิณ” เหมือนๆกัน
สถานการณ์ต่อสู้ในสนาม ส.ก. จึงน่าจะคล้ายกับการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร ที่กลายเป็น “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ที่ต้องเชือดเฉือนกันเอง แต่ต้องจับตาดูว่า จะมีผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคไทยสร้างไทย ของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าของสมญา “เจ้าแม่นครบาล” ลงมาแชร์แต้มในซีกนี้ด้วยหรือไม่
เชื่อว่ากลยุทธ์สนาม ส.ก.ของพรรคเพื่อไทยคือ ทำทุกวิถีทางเพื่อเกาะกระแส “ชัชชาติ” จนสังเกตได้ว่า ก่อนหน้านี้ทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. หลายเขตของพรรคเพื่อไทย เลือกที่สวมเสื้อ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ที่เป็นธีมของ “ชัชชาติ” ลงพื้นที่เพื่อประกาศตัวว่าเป็นพวกเดียวกัน รวมทั้งวางนโยบายหาเสียงสอดประสานเป็นคีย์เดียวกัน
ว่ากันว่า วางเป้าหมายช่วงชอง “เสียงข้างมาก” ในสภา กทม. โดยมีแนวรับที่ 20 ที่นั่ง และแนวต้านที่ 30 ที่นั่ง
ประเมินสถานการณ์ยามนี้ถือว่า พรรคเพื่อไทย ดูจะมความพร้อมเหนือกว่าพรรคอื่น อีกทั้งเมื่อการเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ปี 2562 พรรคเพื่อไทยถือว่าประคองตัว แม่ส่งผู้สมัครเพียง 22 จาก 30 เขต แต่ได้เข้ามา 9 ที่นั่ง ด้วยคะแนนรวม 6 แสนเสียงเศษ จำนวน ส.ส.เท่ากับพรรคอนาคตใหม่ ที่ส่งครบทั้ง 30 เขต แต่แพ้ที่คะแนนป็อปปูล่าร์ ที่ “ค่ายสีส้ม” มาเป็นอันดับ 1 ที่ 8 แสนคะแนนเศษ
และพรรคเพื่อไทยก็เพิ่งชนะการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ได้เพิ่มมาอีก 1 ที่นั่ง
หลายปัจจัยหนุนโอกาสเปิดกว้างของพรรคเพื่อไทยในสนาม ส.ก. ถือเป็นการวัดฝีมือ “เจ๊แจ๋น” พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ที่อดีตเคยไปมีบทบาทในการก่อร่างสร้างพรรคไทยรักษาชาติ แต่เกิดอุบัติเหตุก่อนการเลือกตั้ง มี.ค.62 ก่อนจะกลับเข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทย หลัง “คุณหญิงสุดารัตน์” ลาไปตั้งพรรคใหม่
งวดนี้ “เจ๊แจ๋น” ที่พะยี่ห้อสายตรงดูไบ-จันทร์ส่องหล้า ได้รับมอบหมายให้เป็น “แม่ทัพใหญ่” ผู้อำนวยการเลือกตั้ง ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย
เป็นบททดสอบแรกของ “มาดามแจ๋น” จะสร้างชื่อขึ้นชั้น “เจ้าแม่นครบาล” แทนเจ้าของตำแหน่งเดิมได้หรือไม่.