จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ อันเป็นผลมาจากปัจจัยความต้องการยางพาราของตลาดโลก และปัญหาต้นทุนการผลิต ส่งผลกระทบกับเกษตรกร ทำให้มีรายได้ไม่พอต่อการเลี้ยงชีพ มีภาระหนี้สิน…แต่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด ต.เขาซก อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี กลับได้รับผลกระทบน้อยมาก สร้างรายได้เข้ากลุ่มปีละ 72 ล้านบาท เขาทำได้อย่างไร
“เดิมเกษตรกรที่นี่ ส่วนใหญ่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวส่วนใหญ่นำส่งขายให้กับโรงงานในเขตพื้นที่อำเภอใกล้เคียงในลักษณะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านราคา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายจากปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และค่าจ้างแรงงานมีราคาสูง ประกอบกับได้รับผลกระทบในเรื่องราคาอ้อย และมันสำปะหลังตกต่ำ หลายคนจึงมีแนวคิดปรับเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาทดแทน จึงได้มีการนำยางพาราเข้ามาทดลองปลูก”
นายธวัชชัย สุระประเสริฐ รองประธานกรรมการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด เล่าถึงที่มาของการเปลี่ยนไร่อ้อยไร่มันเป็นสวนยาง…กระทั่งในปี 2534 มีการรวมตัวกันของเกษตรกร หันมาทำยางแผ่นแทนการขายน้ำยางสด ที่ได้ราคาดีกว่า และรวมกันขายเป็นกลุ่ม จากการร่วมมือช่วยเหลือกันของสมาชิกภายในกลุ่ม จึงได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ ในการสร้างโรงอบยาง เพื่อปรับปรุงคุณภาพยาง และเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2537 จึงได้ร่วมกันก่อตั้งสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเขาซก จำกัด
ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 902 ราย ควบคุมการรวบรวมผลผลิตทุกอำเภอใน จ.ชลบุรี รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง โดยมีการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นสหกรณ์ดำเนินธุรกิจครบวงจรมุ่งพัฒนาบุคลากร ตอบสนองมวลสมาชิก ผลิตยางแท่งสู่มาตรฐานสากล” ทำหน้าที่จัดหาสินค้าทางการเกษตรมาจำหน่าย อาทิ ปุ๋ย, เคมีการเกษตร, วัสดุอุปกรณ์ รวบรวมผลผลิตยางพารา ได้แก่ ยางแผ่น, ยางก้อนถ้วย
นอกจากนี้ยังแปรรูปผลผลิตยางเป็นยางแท่ง STR 20 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้แก่ โครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตร (ASPL) ได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน เพื่อนำมาจัดซื้อเครื่องชั่งรถบรรทุกพร้อมหลังคาคลุมขนาด 80 ตัน ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการรวบรวมยางขายให้สหกรณ์ สหกรณ์แห่งนี้จึงสามารถเดินหน้าการดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงปัจจุบัน
จากการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ดำเนินธุรกิจไปอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการดำเนินงานในรูปแบบการตลาดนำการผลิต สามารถรับซื้อยางพาราในราคา 52.09 บาท ผลผลิตที่ได้วันละ 54 ตัน หรือปีละ 1,400 ตัน รวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ
ปีที่แล้วปีเดียวได้กำไรถึง 72 ล้านบาท ทำให้พี่น้องเกษตรกรปลดหนี้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยแผนการพัฒนาของสหกรณ์ในอนาคตจะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราในแบรนด์สหกรณ์อย่างครบวงจร ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้ที่มั่นคง มีอาชีพทางการเกษตรที่ยั่งยืน ที่สำคัญไม่เป็นหนี้สินทางด้านการเกษตร.
กรวัฒน์ วีนิล